เมื่ออากาศที่ร้อนจัดระดับ 40 – 50 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นความร้อนที่กลายเป็นความท้าทายด้านสุขภาพครั้งใหญ่ของโลกรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตอาจจะกลายเป็นปกติของฤดูร้อนไปแล้ว แต่ก็ช่วยตอกย้ำว่าเรากำลังเดินหน้าไปสู่จุดที่อาจร้อนเกินกว่ามนุษย์จะอาศัยอยู่ได้…… และนั่นถือเป็นคำเตือนว่าเราคงจะหนีไม่พ้นถึงความรุนแรงของสภาพอากาศที่สุดขั้วมากยิ่งขึ้น หลายเมืองจึงเริ่มตั้งคำถามว่า “จะปกป้องผู้คนจากความร้อนที่คาดว่าจะเลวร้ายยิ่งกว่านี้ได้อย่างไร” กับ..มีเมืองหนึ่งที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมากในการต่อสู้กับความร้อน เมืองนั้นคือ “สิงค์โปร์” ประเทศที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรเพียง 137 กิโลเมตร เท่านั้น ทำให้เป็นเมืองที่ร้อนชื้นเกือบตลอดทั้งปี อีกทั้งยังต้องเจอกับความร้อนจากปรากฎการณ์เกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat Island) ทำให้อากาศที่ร้อนอยู่แล้วยิ่งร้อนขึ้นไปอีก…….
………. แต่เหตุใดสิงคโปร์จึงสามารถพลิกเมืองร้อนให้กลายเป็นเมืองที่เย็นได้ ซึ่งอาจจะเป็นโมเดลให้ประเทศอื่นเดินตาม!!
ความท้าทายที่สิงคโปร์เผชิญนี้ ก่อเกิดเป็นโครงการ “Cooling Singapore Project” ระยะแรกของโครงการทีมนักวิจัยได้ค้นพบถึง 86 วิธีในการลดอุณหภูมิ โดยวิธีที่สิงคโปร์ทำไปบ้างแล้วและเป็นวิธีที่เรียบง่ายคือการทาสีหลังคาด้วยสีขาว เพื่อสะท้อนความร้อนจากดวงอาทิตย์ วิธีนี้ลดอุณหภูมิโดยรอบอาคารได้ถึง 2 องศาเซลเซียส หรือวิธีการออกแบบอาคารใหม่ให้สอดคล้อง รับกับธรรมชาติโดยคำนึงถึงการถ่ายเทของลม เช่น อาคาร CapitaGreen ที่ออกแบบด้านบนอาคารให้เป็นกลีบดอกไม้ขนาดใหญ่ เพื่อดึงลมเย็นเข้าสู่พื้นที่สวนด้านบนและเข้าสู่ตัวอาคาร หรือย่าน Marina Bay ที่ความสูงของอาคารแตกต่างกันก็จะช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของลมได้ รวมทั้งยังมีการนำพื้นที่น้ำมาร่วมช่วยลดอุณหภูมิด้วยเช่นกัน
รัฐบาลสิงคโปร์ให้คำมั่นว่าจะปลูกต้นไม้ให้ได้ 1 ล้านต้นภายในปี 2593 ปัจจุบันปลูกไปแล้วกว่า 600,000 ต้น อีกทั้งยังสนับสนุนให้อาคารต่างๆ เพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น โดยมีการให้เงินอุดหนุนสูงถึง 50% ของต้นทุนทั้งหมดที่ใช้ เช่น หากเป็นสวนบนดาดฟ้าจะให้เงินอุดหนุน 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตารางเมตร แต่ถ้าเป็นสวนแนวตั้ง จะได้ 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตารางเมตร สิ่งจูงใจเหล่านี้ได้ผลดีเกินคาด และภายในปี 2593 สิงคโปร์มั่นใจว่าจะต้องมีพื้นที่สีเขียวในอาคารกว่า 80%
อย่างไรก็ตามการปลูกต้นไม้ไม่สามารถชดเชยความร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้ทั้งหมด ดังนั้นสิงคโปร์จึงได้นำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยคุมอุณหภูมิของเมืองอย่างจริงจังด้วย โดยเทคโนโลยีหนึ่งที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ ….ระบบ District Cooling System (DCS) เป็นระบบทำความเย็นแบบศูนย์กลางที่นำเอาความร้อนเหลือทิ้งมาใช้ในการทำน้ำเย็น จากนั้นจึงนำน้ำเย็นส่งไปให้อาคารต่างๆ ในละแวกนั้น เพื่อนำไปใช้กับเครื่องปรับอากาศต่อไป ซึ่งระบบ DCS จะอยู่ใต้พื้นดินขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่อยู่ลึกลงไปกว่า 25 เมตรในย่าน Marina Bay และกำลังจะเพิ่มความสามารถในการผลิตน้ำเย็นให้ได้ 70,000 ตันความเย็น สำหรับส่งไปยังอาคาร 28 แห่งในพื้นที่ การทำความเย็นวิธีนี้นอกจะช่วยประหยัดพลังงานได้มากถึง 40% แล้ว ยังลดการปล่อยคาร์บอนได้เกือบ 20,000 ตันต่อปี
ด้วยเหตุนี้ระบบ DCS จึงขยับขยายไปสู่ย่านอื่นๆ ของเมือง ไม่ว่าจะเป็น Tengah เมืองต้นแบบเมืองสีเขียวของสิงคโปร์ และล่าสุดย่าน Tampines กำลังเป็นย่านใจกลางเมืองแห่งแรกในสิงคโปร์ที่ใช้ระบบ DCS โดยคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 และในอนาคตรัฐบาลสิงคโปร์มีแนวคิดจะขยายระบบ DCS ให้ครอบคลุมทั่วเกาะมากขึ้นด้วย ส่วนขั้นต่อไปในโครงการ Cooling Singapore 2.0 คือพัฒนา “Digital Urban Climate Twin : DUCT” ที่รวบรวมโมเดลการคำนวณด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองเอาไว้ เช่น การใช้ที่ดิน อาคาร อุตสาหกรรม การคมนาคมและจราจร รวมถึงสภาพอากาศของเมืองด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในการประเมินสถานการณ์ต่างๆเกี่ยวกับเกาะความร้อนในเมือง และวางแผนการออกแบบนโยบายให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
แม้ความพยายามลดเกาะความร้อนในสิงคโปร์จะไม่ล้ำหน้าถึงขั้นสามารถวิ่งแซงอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวันได้ แต่พวกเขาก็คงเชื่อว่าการรักษาอุณหภูมิให้คงที่มากที่สุดจะเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ และคงหวังว่าจะเป็นประโยชน์ที่ประเทศเมืองร้อนอื่นๆ ทั่วโลกจะถอดบทเรียนจากพวกเขาได้ แต่แน่นอนว่าเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวยเหมือนอย่างสิงคโปร์ บางเทคโนโลยีที่สิงคโปร์ใช้ลดความร้อนนั้นมีราคาสูงมาก แม้กระทั่งการปลูกต้นไม้ทั่วเมืองก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการดูแล แต่การลงทุนในด้านนี้ก็ยังคงมีราคาที่ถูกกว่าอีกหลายวิธีอย่างแน่นอน…หากรักชีวิต ก็ต้องรักษ์สิ่งแวดล้อม