พระพิฆเนศ หรือ พระคณปติ หรือ พระคเณศ (สันสกฤต: गणेश ทมิฬ: பிள்ளையார் อังกฤษ: Ganesha) เป็นเทพในศาสนาฮินดูของอินเดีย เป็นโอรสของพระศิวะ เป็นที่เคารพนับถือมากที่สุดองค์หนึ่ง จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบรูปเคารพเป็นจำนวนมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีคติความเชื่อที่เป็นเทพแห่งอุปสรรค ผู้สามารถบันดาลให้เกิดหรือขจัดอุปสรรคเพื่อให้เกิดผลสำเร็จก็ได้ ชาวฮินดูสมัยก่อนจะนิยมการประกอบพิธีบูชาพระพิฆเนศก่อนการเริ่มเรียนศาสตร์แห่งศิลปวิทยา โดยรูปเคารพพบได้ทั่วไปในอินเดีย และแพร่หลายในเอเชีย เช่น เนปาล จีน เตอรกีสถาน ชวา บาหลี บอร์เนียว ทิเบต เมียนมา ไทย ญี่ปุ่น และคาบสมุทรอินโดจีน
ทั้งนี้คติความเชื่อข้างต้นได้แพร่หลายไปพร้อมกับชาวฮินดูที่อพยพไปยังถิ่นฐานอื่น โดยรูปแบบที่สำคัญของพระพิฆเนศ ตามคัมภีร์อการาทิ-กษการรานุต มหาสรสวตี ได้กล่าวว่า พระพิฆเนศ มีทั้งสิ้น 51 ปาง แต่ที่พบเห็นทั่วไปมีเพียง 14 ปางเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพระพิฆเนศในศาสนาอื่น ๆ ได้แก่ 1) ศาสนาเชน ที่จัดให้พระพิฆเนศเป็นเทพองค์หนึ่งที่มี 2, 4, 6, 8,18 หรือ 108 กร ที่ถือของต่างกัน และมีพาหนะเป็นหนู และ 2) ศาสนาพุทธ มีการนับถือพระพิฆเนศในทางที่เป็นสิทธิธาตา หรือผู้ประธานความสำเร็จ ปรากฏในบทสวดที่เรียกว่า คณปติ-หฤทยะ บรรยายว่าชาวพุทธนับถือทั้งในด้านการทำลายและในลักษณะที่ให้คุณประโยชน์ ตามหลักฐานที่ปรากกฏในอินเดียที่เรียกพระพิฆเนศว่าวินายกะ
คติการนับถือพระพิฆเนศได้แพร่กระจายมาสู่ดินแดนประเทศไทยเป็นเวลาช้านาน จากหลักฐานประติมากรรมรูปเคารพของพระพิฆเนศในระยะแรกบนแผ่นดินไทย ปรากฏขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 สำหรับบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทยมีการพบพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ ปัจจุบันคือจังหวัดสงขลา แม้ว่าพระพิฆเนศจะไม่ได้รับการนับถือเป็นเทพเจ้าสูงสุดในดินแดนประเทศไทย ซึ่งมีการรับนับถือพุทธศาสนามาเป็นเวลาช้านาน แต่การพบหลักฐานประติมากรรมรูปเคารพพระพิฆเนศที่มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในดินแดนประเทศไทยตลอดมา ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญในการประกอบพิธีกรรมตามหลักความเชื่อของศาสนาฮินดูสืบมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับคติความเชื่อในประเทศไทยนั้น มองในมุมของคติของเทพแห่งอุปสรรคไปสู่ความสำเร็จที่หลากหลาย โดยเฉพาะศาสตร์แห่งศิลป์ ที่เคารพนับถือให้เป็น “เทพแห่งศิลปวิทยา” เป็นเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค ผู้ได้รับการบูชาก่อนเทพเจ้าองค์อื่น ในกิจการอันเป็นมงคล หรือในการศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ และคติการสร้างรูปเคารพ ในปัจจุบัน (ยกเว้นการเคารพบูชาของผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) ในประเทศไทยที่สังเกตได้จากการเปลี่ยนไปตามลักษณะของศิลปะ ตามยุคสมัย
ส่วน Art toy หรือ Designer toy ที่ชาวตะวันตกเรียก คือของเล่นและของสะสมในรูปแบบศิลปะ ที่มีลักษณะคล้ายตัวการ์ตูน สัตว์ และตัวละครจากวัฒนธรรมสมัยนิยมต่าง ๆ โดยทั่วไปผลิตโดยศิลปิน นักออกแบบ และนักวาดภาพประกอบ ทำจากวัสดุต่าง ๆ เช่น พลาสติก ไวนิล ไม้ เรซิน โลหะ ฯลฯ โดยมักผลิตออกมาในจำนวนจำกัด ทำให้มีราคาสูง ตามความต้องการ เมื่อย้อนกลับไปในปี 2538 ศิลปินชาวฮ่องกง “เรย์มอนด์ ชอย” (Raymond Choy) ผู้ก่อตั้ง Toys2R ได้สร้างสรรค์ชุดผลงานอันมีชื่อเสียงอย่าง Qee ขึ้น โดยของเล่นสะสมดังกล่าวมีรูปร่างคล้ายมนุษย์ แต่มีศีรษะเป็นสัตว์ประเภทต่าง ๆ เช่น หมี แมว กระต่าย และลิง จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของ Art Toy
โดยความแตกต่างระหว่าง Art Toy และฟิกเกอร์ คือ Art Toy มักมีการผสมผสานค่านิยมของผู้คนเข้าไปด้วย จึงทำให้เข้าถึงได้ง่ายและมีความแตกต่างจากฟิกเกอร์และของเล่นทั่วไป เพราะ Art Toy ที่ผลิตขึ้นมานั้น จะถูกออกแบบมาจากแรงบันดาลใจต่าง ๆ ที่มาจากสิ่งรอบตัวไปจนถึงเรื่องราวในปัจจุบันที่กำลังเป็นกระแสหรือได้รับความสนใจ ในขณะที่ฟิกเกอร์หรือโมเดลทั่วไปจะถูกผลิตมาจากต้นแบบของตัวการ์ตูนในเกมหรือภาพยนตร์ต่าง ๆ นั่นเอง
สำหรับศิลปินและนักออกแบบ Art toy ของไทยหลายท่าน ได้มีผลงานสร้างชื่อเสียงระดับโลก อาทิ คุณนิศา ศรีคำดี หรือ Molly ศิลปินผู้ออกแบบ “CRYBABY เด็กหญิงเปื้อนน้ำตา” คุณพัชรพล แตงรื่น หรือ Alex Face ผู้สร้างสรรค์ “Mardi เด็กในชุดกระต่ายสามตา” และคุณศิรินญา ปึงสุวรรณ หรือ Poriin ศิลปินผู้สร้าง “Fenni จิ้งจอกหน้าตาน่ารัก” ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีต่อผลงาน Art Toy ซึ่งออกแบบโดยศิลปินชาวไทยที่สามารถขยายตลาดไปได้ทั่วโลก Art Toy มีรูปแบบที่แปลกใหม่และไร้ขีดจำกัด
นอกจากนี้ยังมีศิลปินผู้ออกแบบ Art Toy สไตล์คนไทยยังมีผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ผสมผสานของเล่นและของขลังอย่างสร้างสรรค์ในรูปแบบพระพิฆเนศ แสดงให้เห็นว่าเทพฮินดูองค์นี้ไม่ได้เป็นเพียงรูปเคารพเพื่อการกราบไหว้บูชาเท่านั้น แต่ยังมีเกร็ดความรู้และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อยู่เบื้องหลัง ผ่านการออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประติมานวิทยาของพระพิฆเนศวร์อันเป็นเอกลักษณ์ บูรณาการเข้ากับแนวความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินไทยรุ่นใหม่ และความเชื่อในพระพิฆเนศที่มีการปรับเปลี่ยนรูปเคารพมาเป็นแบบ Art Toy ศิลปินแต่ละคนจะมีเอกลักษณ์ลักษณะเฉพาะที่ปรากฏบนผลงานของตน ที่เกิดการผสมผสานศาสตร์ต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็นการร่วมมือระหว่างผู้ออกแบบกับบริษัทผลิตของเล่นสะสมมากขึ้น
อย่างไรก็ตามคนไทยได้รับเอาคติความเชื่อและรูปแบบของพระพิฆเนศจากอินเดียในอดีต จากยุคสมัยการนับถือผีสางเทวดา สิ่งเร้นลับเหนือธรรรมชาติ จนมาถึงศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพระพุทธศาสนาตามลำดับ และมีการปรับเปลี่ยนรูปเคารพของพระพิฆเนศให้เป็นศิลปะของไทยในยุคสมัยต่าง ๆ จนมาถึงปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกิดขึ้น หากมีการปรับรูปเคารพตามความนิยมในศิลปวิทยาการในแต่ละยุคสมัย อย่างปัจจุบันที่มีการปรับเปลี่ยนในรูปแบบ Art Toy ….แต่ท้ายที่สุดศรัทธาและความเชื่อในการบูชาพระพิฆเนศยังคงปรากฏอย่างถ่องแท้จากอดีตสู่ปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตของคนไทย
อ้างอิง :
https://www.finearts.go.th/performing/view/15513-พระคเณศ-ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ-มัชฌิมาวาส
http://164.115.27.97/digital/files/original/7327449c7d3c0d7fc17a898892de42b4.pdf
https://www.silpa-mag.com/history/article_75414
https://www.silpa-mag.com/news/article_63047#google_vignette
https://mgronline.com/business/detail/9670000035396