การประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกหรือ G7 เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 13-15 มิถุนายน 2567 ที่เมืองอาปูเลียของอิตาลี ผลการประชุมของกลุ่ม G7 ที่ผ่านมามักจะมีประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาของโลก เนื่องจากกลุ่มประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่เป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจทั้งจากภูมิภาคอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ซึ่งจะส่งผู้นำไปรวมตัวกันเพื่อพูดคุยประเด็นโอกาสและความท้าทายในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาในต่างประเทศ ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายของ G7 ต่อไป
จากจุดเริ่มต้นของ G7 ที่รวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการเมื่อช่วงที่โลกเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจและพลังงานในปี 2516 ปัจจุบัน G7 ยังคงเป็นการรวมตัวของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญแม้ว่าจะมีกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา หรือจะมีการขยายกรอบการพูดคุยไปเป็น G20 แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้อิทธิฤทธิ์ของ G7 น้อยลง เพราะแต่ละสมาชิกยังมีอำนาจทางเศรษฐกิจ และมี GDP รวมกันคิดเป็นร้อยละ 25.8 ของโลก โดยสมาชิกของ G7 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร อิตาลี ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (EU)
ในปี 2567 นี้ก็ไปรวมตัวกันแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งเรื่องสถานการณ์โลก การพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า การจัดการผู้อพยพและย้ายถิ่น รวมทั้งเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมและเตรียมความพร้อมปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ …โดยมีข้อสังเกตว่า ระยะหลัง ๆ 2 เรื่องท้ายจะกลายเป็นหัวข้อสำคัญที่นานาชาติต้องหยิบยกมาคุยกันมากขึ้น เพราะอาจจะเป็นเรื่องที่เริ่มรู้ตัวกันแล้วว่าไม่สามารถจัดการหรือรับมือกับความท้าทายนี้ได้ด้วยกำลังของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องระดับโลก หรือ Global Issues ที่สำคัญต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ
ประเด็นที่กลุ่ม G7 และแขกรับเชิญพิเศษไปคุยกันรอบนี้มีมากมาย แต่ถ้าจะให้สรุปง่าย ๆ ขอเล่าว่า การประชุม G7 ปีนี้เปิดกว้างมากขึ้นทั้งในแง่มุมหัวข้อต่าง ๆ ที่นำไปคุยกัน เพราะมีทั้งเรื่องความั่นคงระหว่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจและการค้า การจัดการกับผู้อพยพ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและเตรียมพร้อมรับมือกับเทคโนโลยี อีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ คือ ความร่วมมือของกลุ่มนี้ยังคงเหนียวแน่นเป็นหนึ่งเดียว เห็นได้จากการที่ G7 จะมีแถลงการณ์ร่วมที่สะท้อนความเป็นกลุ่มเป็นก้อนกลมเกลียวกันของ G7 ทั้งเรื่องความเห็นต่อสถานการณ์ในฉนวนกาซา สงครามรัสเซีย–ยูเครน นโยบายการค้าของจีน การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณสุข และการส่งเสริมประชาธิปไตย ที่ยังคงเป็นค่านิยมหลักของกลุ่มนี้มาตั้งแต่เริ่ม
สำหรับก้าวต่อไปของกลุ่ม G7 ในปีหน้า ประเทศที่จะรับหน้าที่ประธาน G7 ต่อจากอิตาลี คือแคนาดา ซึ่งน่าจะรับช่วงต่อได้ดี เพราะมีประสบการณ์เป็นประธาน G7 มาแล้วอย่างน้อย 6 ครั้ง แคนาดาจึงน่าจะนำพาความร่วมมือในกรอบ G7 ไปสู่อนาคตได้ดี ท่ามกลางความท้าทายที่จะทำให้ G7 ต้องพิสูจน์บทบาทให้โลกเห็นว่ายังคงเป็นผู้นำด้านการพัฒนาของโลก
…………ที่กล่าวว่า G7 จะเผชิญความท้าทายนั้น หมายถึง การที่สถานการณ์โลกรวมทั้ง “ขั้วอำนาจโลก” เริ่มไม่เหมือนเดิม กลุ่ม G7 กำลังต้องแข่งขันกับกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่กำลังเติบโต และว่ากันว่าจะกลายเป็นคู่แข่งอำนาจในการกำหนดทิศทางโลกกับ G7 โดยเฉพาะกลุ่ม BRICS+ หรือกรอบความร่วมมือที่มีจีน รัสเซีย และหลายประเทศที่เป็น “ผู้ทรงอิทธิพลด้านเศรษฐกิจ” ที่กำลังเติบโตของโลก รวมตัวกันและกำลังขยายสมาชิกอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันสมาชิก BRICS+ ประกอบด้วยจีน รัสเซีย บราซิล อินเดีย แอฟริกาใต้ และกำลังจะมีอียิปต์ อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเอธิโอเปีย เข้าร่วม กลายเป็น 10 ประเทศสมาชิกที่มีทั้งกำลังการค้าขาย และมีพลังงาน เป็น “อำนาจต่อรอง” รวมทั้งเป็น “แรงดึงดูด” สำคัญสำหรับกรอบความร่วมมือหรือประเทศอื่น ๆ ที่จะสนใจร่วมมือกับ BRICS+ ด้วย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของ BRICS+ ค่อนข้างชัดเจน คือ เน้นไปที่ประเทศซีกโลกใต้ หรือ Global South เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามองเห็นโอกาสจากการร่วมมือกับขั้วอำนาจโลกอีกกลุ่มหนึ่ง…โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโลกตะวันตกและพันธมิตรอีกต่อไป….ดังนั้น การเติบโตของ BRICS+ ทั้งการขยายสมาชิกและริเริ่มระเบียบการค้าและการลงทุนแบบใหม่ จึงเป็นความท้าทายสำคัญที่ G7 ต้องเตรียมแนวทางรับมือเอาไว้ โดยระวังไม่ให้เป็นฝ่ายสร้างบรรยากาศกดดัน ไม่เช่นนั้น G7 จะสูญเสียฐานนิยมจากประเทศซีกโลกใต้ไปได้…
อีกเรื่องที่ G7 จะต้องถูกตั้งคำถามไปอีกหลายปี คือ การที่ G7 เคยถูกวิจารณ์ว่าไม่มีพลังขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของโลกได้มากเท่าเมื่อ 10 ปีก่อนแล้ว เพราะการประชุม G7 ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศลดน้อยลง…แต่จะไปต่อว่า G7 แบบนั้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่ยุติธรรม เพราะต้องไม่ลืมกันว่า G7 ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การพัฒนา และพลังงาน ไม่ใช่เวทีแก้ไขความขัดแย้งด้านการทหาร หรือความมั่นคงแบบ traditional เช่น ความขัดแย้งด้วยอาวุธ หรือการรุกล้ำอธิปไตยและเขตแดน …ดังนั้นจะให้ G7 รับผิดชอบทุกเรื่องในโลกนี้ก็คงจะไม่ถูกต้อง
ประเด็นสุดท้ายที่อาจจะเป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าทายของกลุ่ม G7 คือความร่วมมือและความใกล้ชิดกับภูมิภาคอินโด–แปซิฟิกและแอฟริกา G7 มีบทบาทสำคัญต่อทั้ง 2 ภูมิภาค แต่จะรักษาบทบาทของตัวเองไว้ได้มากแค่ไหน ระดับการต้อนรับและยินดีที่จะร่วมมือกับ G7 จะเป็นอย่างไรต่อไป เชื่อว่าเป็นเรื่องที่มหาอำนาจต่าง ๆ ก็ต้องออกแบบยุทธศาสตร์และยุทธวิธีครองใจประเทศในทั้ง 2 ภูมิภาคนี้ที่ยังมีความหลากหลายทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และนโยบายต่างประเทศอยู่มาก …แต่ไม่ว่า G7 จะก้าวต่อไปอย่างไรและมีมุมมองยังไงต่อสถานการณ์โลก ไทยซึ่งมีโอกาสได้รับผลกระทบจากนโยบายของ G7 ก็ควรจะติดตามและคาดเดา “ก้าวต่อไป” ของกลุ่มนี้ รวมทั้งกลุ่มความร่วมมืออื่น ๆ ไว้เสมอ เพื่อให้ไทยก้าวทันและพร้อมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะมาจากขั้วอำนาจด้านไหนก็ตาม…