ไม่เพียงต้องแข่งขันกับโลกตะวันตก ….จีนยังต้องต่อสู้กับเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ที่มีพรมแดนติดกัน เช่น อินเดีย ที่มีกรณีพิพาทเขตแดนทางบก และต่างมุ่งขยายอิทธิพลทางทะเล เฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทรอินเดีย และยิ่งเข้มข้นขึ้นหลังจีนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Belt & Road Initiative (BRI) ในหลายประเทศและภูมิภาค ซึ่งไม่เพียงแต่สหรัฐฯ ที่หวั่นไหวกับการรุกออกนอกประเทศของจีน จนเร่งผลักดันความร่วมมือกับพันธมิตรและประเทศน้อยใหญ่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อินเดียก็หวั่นเกรงไม่น้อยกับความพยายามโอบล้อมอินเดียของจีนผ่านโครงการพัฒนาและปรับปรุงท่าเรือให้ประเทศริมชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย
แม้ที่ผ่านมาไม่มีการเรียกชื่อยุทธศาสตร์ทางทะเลของจีนในมหาสมุทรอินเดียอย่างเป็นทางการ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนคงคุ้นหูด้วยศัพท์บัญญัติของนักวิชาการและสื่อมวลชนตะวันตกว่า…. ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก หรือ String of Pearls เนื่องจากการสนับสนุนการสร้างและพัฒนาท่าเรือให้ประเทศริมชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียกลายเป็นหมุดหมายของจีนในการเคลื่อนไหวทางทะเล ซึ่งกระตุ้นให้อินเดียวิตกกังวลเพิ่มขึ้นทุกทีถึงการขยับเข้าใกล้ของจีน จนนำไปสู่การริเริ่ม……..ยุทธศาสตร์สร้อยเพชร หรือ Necklace of Diamonds ที่มีการเอ่ยอ้างขึ้นครั้งแรกโดยนาย Lalit Mansingh อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเมื่อสิงหาคม 2554
จีนปักหมุดเม็ดไข่มุกตามที่บรรดาชาติตะวันตกเรียก กินพื้นที่ประเทศที่อยู่ริมชายฝั่งตั้งแต่ต้นถึงปลายมหาสมุทรอินเดีย เช่น เมียนมา บังกลาเทศ มัลดีฟส์ ศรีลังกา ปากีสถาน เซเชลล์ และจิบูตี และช่องแคบทางยุทธศาสตร์ ทั้งฮอร์มุซ มะละกา และลอมบอก การรุกขยายความร่วมมือและช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ในการพัฒนาท่าเรือและฐานทัพ แม้ทั้งจีนและประเทศผู้รับยืนยันตรงกันว่าเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ แต่ไม่อาจลดความเคลือบแคลงให้ประเทศคู่แข่งขันหรือมีข้อพิพาทกับจีนทั้งทางตรงและทางอ้อมว่า…..จะไม่มีการเข้าใช้ประโยชน์ด้านการทหาร โดยเฉพาะอินเดียที่เดิมนิ่งนอนใจจนเหมือนจะเฉยชากับการกระชับความสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้านที่ล้วนเป็นประเทศริมชายฝั่งเนื่องจากมั่นใจว่าพื้นที่แถบนี้เป็นเขตอิทธิพลของตนเอง ต้องลุกขึ้นมาแสวงหาความร่วมมือกับประเทศรายรอบที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางทะเล
อินเดียเฝ้ามองการรุกคืบทางทะเลของจีนในทุกย่างก้าว ด้วยตระหนักว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยจากสร้อยไข่มุกเส้นยาวของจีน ไม่นับถึงการพัฒนากองทัพเรือและเสริมเขี้ยวเล็บด้วยยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ ทั้งเรือดำน้ำ เรือพิฆาต เรือรบ เรือฟริเกตที่ประจำการในจีน และการแวะเวียนเทียบท่าหรือซ้อมรบกับหลายประเทศในฟากฝั่งมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจของอินเดียก็ได้รับผลกระทบโดยอ้อมจากความเคลื่อนไหวทางทะเลของจีน เนื่องจากต้องจัดสรรงบประมาณไปเสริมสมรรถนะทางทหารและการป้องกันประเทศ นอกจากนั้น การออกสู่มหาสมุทรอินเดียของจีนผ่านความร่วมมือกับประเทศชายฝั่งยังมีผลทางจิตวิทยาต่ออินเดีย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อการเป็นเจ้าถิ่นในมหาสมุทรอินเดีย ที่ถูกท้าทายจากความพยายามผูกร้อยความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศชายฝั่ง จนเป็นเสมือนการโอบล้อมอินเดีย
ความหวาดระแวงที่เกิดขึ้นกลายเป็นแรงผลักดันให้อินเดียริเริ่มยุทธศาสตร์สร้อยเพชร และเพื่อให้สร้อยเพชรเปล่งประกาย เพื่อตอบโต้สร้อยไข่มุกของจีน อินเดียจึงใช้หลากหลายวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการสร้างและเข้าใช้ท่าเรือ ในหลายประเทศ ที่น่าสนใจอย่าง..1.ท่าเรือ Chabahar ในอิหร่าน เพื่อเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงกับประเทศในเอเชียกลาง อีกทั้งยังอยู่ใกล้ช่องแคบฮอร์มุซและท่าเรือ Gwadar ของปากีสถานซึ่งจีนมีส่วนช่วยพัฒนา …2.การสร้างท่าเรือน้ำลึก Sabang ในอินโดนีเซีย ที่อยู่ใกล้ช่องแคบมะละกา และหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ของอินเดีย …3.การให้เงินสนับสนุนแก่เมียนมาเพื่อสร้างท่าเรือขนส่งสินค้า Sittwe ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายคมนาคม Kaladan Multi-Modal Transit Transport Project (KMTT) เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างอินเดียกับเมียนมา ..4 การช่วยเหลือบังกลาเทศปรับปรุงท่าเรือ Mongla ให้ทันสมัย อีกทั้งยังสามารถเข้าใช้ท่าเรือ Chittagong ของบังกลาเทศด้วย ..5 การเข้าใช้ท่าเรือ Duqm ของโอมาน ที่อยู่ใกล้ช่องแคบฮอร์มุซ รวมถึง..6 การเข้าใช้ฐานทัพเรือ Changi ของสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ใกล้ช่องแคบมะละกา และ..7 ยังร่วมมือกับเซเชลล์ในการพัฒนาท่าเรือที่เกาะ Assumption
…………..ขณะเดียวกัน อินเดียยังมีความตกลงกับบังกลาเทศ มัลดีฟส์ ศรีลังกา มอริเชียส และเซเชลล์ ในการติดตั้งเรดาร์ชายฝั่ง (Coastal Surveillance Radar – CSR) เพื่อติดตามเรือรบและเรือดำน้ำของจีน นำเข้าเครื่องบินสอดแนมเพื่อติดตามเรือดำน้ำของจีน เข้าบริหารจัดการสนามบินประเทศเพื่อนบ้านเพื่อตามดูท่าเรือที่จีนเข้าไปก่อสร้าง เสริมสร้างความร่วมมือทางทหารกับหลายประเทศ ขยายความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียใต้ ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และซ้อมรบทางทะเลอย่างสม่ำเสมอกับพันธมิตรทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
นอกจากนี้ อินเดียยังช่วยเหลือในการพัฒนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่มีเขตแดนทางบกติดจีน เช่น มองโกเลีย ที่มีความตกลงในการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ ญี่ปุ่น มีความร่วมมือในการผลักดัน Asia-Africa Growth Corridor (AAGC) เวียดนาม ซึ่งอินเดียตกลงขายขีปนาวุธบรามอสและเรือตรวจการณ์ และประเทศในเอเชียกลาง ที่มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นสองเท่าภายในเวลา 4 ปี หลังจากที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ เป็นผู้นำอินเดียคนแรกที่เดินทางเยือน…. การรุกขยายความสัมพันธ์กับประเทศที่มีพรมแดนทางบกประชิดจีนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สร้อยเพชรของอินเดีย และเป็นอีกช่องทางในการตอบโต้จีนด้วยการโอบล้อมจีนไม่ต่างกับที่จีนทำกับอินเดีย
ส่วนมาตรการเชิงรุกอื่น ๆ ของอินเดียเพื่อตอบโต้อิทธิพลจีนในเอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดียนับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือ นโยบาย Act East ที่ไม่จำกัดเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงความร่วมมือทางยุทธศาสตร์และการทหาร กับเวียดนาม ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย โดยหวังจะให้เป็นส่วนหนึ่งในการคานอิทธิพลกับจีน พร้อม ๆ กับเป็นการขยายอิทธิพลของอินเดียในภูมิภาค ขณะเดียวกันก็ซ้อมรบทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียเป็นประจำกับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ในกรอบ QUAD
………….การรุกขยายความเคลื่อนไหวในมหาสมุทรอินเดียของทั้งจีนและอินเดีย แม้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและความปลอดภัยในการเดินเรือในน่านน้ำดังกล่าวทั้งการขนส่งสินค้า น้ำมัน รวมทั้งหวังใช้ประโยชน์ทางทหาร ซึ่งจะตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติของแต่ละประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะยิ่งสร้างความหวาดระแวงให้ทั้งสองประเทศที่มีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นมากนักอยู่แล้ว จากการเป็นคู่แข่งขันอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศ และคู่พิพาทเขตแดน โดยการขยายความร่วมมือหรือเข้าไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ อาจทำให้ประเทศนั้น ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แข่งขันระหว่างทั้งสองประเทศ อาทิกรณีเมียนมากล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่แข่งขันอย่างชัดเจน โดยอินเดียเข้าไปช่วยเหลือในการก่อสร้างท่าเรือ Sittwe ที่รัฐยะไข่ ส่วนจีนลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึก Kyaukphyu และเขตเศรษฐกิจพิเศษห่างจากเมือง Sittwe เพียง 120 กิโลเมตร
จีนและอินเดียจะมุ่งดำเนินยุทธศาสตร์ทางทะเลเชิงรุกต่อไป แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ การขยายความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางทะเลของอินเดียยังไม่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เหมือนเช่นจีนที่เผชิญข้อกล่าวหาว่าเงินทุนของจีนมาพร้อมกับดักเงินกู้ ที่กลายเป็นศัพท์การทูตใหม่ว่า ‘Debt Trap Diplomacy’ ภาพลักษณ์ดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าไม่ต่างจากญี่ปุ่นที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกขานในเชิงลบว่า ‘สัตว์เศรษฐกิจ’ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่มีใครจดจำภาพลบ ๆ นั้นอีกแล้ว ทั้งยังถูกแทนที่ด้วยภาพลักษณ์ใหม่ จนแทบไม่มีประเทศใดปฏิเสธการเข้ามาของทุนญี่ปุ่น….. แต่สำหรับจีนน่าคิดว่า เมื่อไหร่ภาพลบ ๆ ที่เกิดขึ้นจะหายไป ขณะที่จีนก็ยังมุ่งขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างไม่ลดละ ไม่เฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางทะเล…..