เกาะกูดชื่อสั้น ๆ กระชับ และไม่ค่อยได้ยินกันนักในการพูดคุย แต่จะขอบอกกันดัง ๆ ว่าเธอเป็นสาวแสนสวย และแสนสนุก แบบสงบ หรือชิล ๆ ตามที่วัย Gen Z ใช้กัน ทะเลเของกาะกูดยังใส เป็นสีเทอร์ควอยซ์ (turquoise) และต้นมะพร้าวที่ทอดยาวตามแนวหาดทรายขาว เป็นภาพจำที่ใครหลายคนมีต่อเกาะกูด ซึ่งเป็นเกาะสุดท้ายทางทิศตะวันออกในน่านน้ำทะเลตราด ทำไมเรามาคุยกันเรื่องนี้ ก็เพราะว่า สายนักท่องเที่ยวเล่าต่อ ๆ กันว่าเดือนพฤศจิกายน ที่ใคร ๆ มุ่งขึ้นภาคเหนือของไทย เป็นเดือนที่เริ่มเที่ยวเกาะกูดกันแล้วนะซิ…..
เกาะกูดที่อยากเชิญชวนให้ไปเที่ยวกันนี้ อยู่ในจังหวัดตราด เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศไทยเชียวนะ….. และถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติที่ต้องการสัมผัสกับธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ว่ากันว่า….หาดทรายของเกาะกูดขาวสะอาดจริง ๆ น้ำทะเลใสเป็นประกายตามที่เล่าไปข้างต้น ที่สำคัญสำหรับการทำงานในยุคโหยหา balance of life และหนีจากความวุ่นวายในเมือง บรรยากาศที่เงียบสงบที่เกาะกูดจึงใช่ และตอบโจทย์เลย
นอกจากชายหาดที่งดงาม น้ำตก…ใช่ น้ำตกที่มีหลายแห่ง ยังทำให้เกาะกูดมีเสน่ห์ที่เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น น้ำตกคลองเจ้า ที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และป่าชายเลนที่ยังอุดมสมบูรณ์ รวมถึงยังมีกิจกรรมบนเกาะมากมายให้เลือกทำ อาทิ การดำน้ำชมปะการัง พายเรือคายัค หรือแม้แต่เดินป่าชมธรรมชาติในเขตภูเขา หรือว่ากันตามจริง แค่นั่งเฉย ๆ ทิ้งร่างกายให้พักนิ่ง ๆ ก็ยังทำได้ที่เกาะกูดซึ่งยากจะหาได้จากที่อื่น
ชมหน้าตา รูปร่างของสาวแสนสวยอย่างเกาะกูดมามากมาย แต่ความสวยงามของเกาะยังแฝงไปด้วยประวัติศาสตร์อันซับซ้อนเกี่ยวกับการกล่าวอ้างความเป็นเจ้าของระหว่างไทยและกัมพูชามาตั้งแต่อดีต และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาะกูดไม่ใช่เพียงแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง แต่เป็นกระแสที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ชาวไทยทั้งในแอปพลิเคชัน “X” “TikTok” และ “Youtube” ต่างโพสต์ข้อความ รูปภาพ พร้อมกับ #saveเกาะกูด และการที่สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติรายงานเมื่อต้น ต.ค.67 ประเด็นรื้อฟื้นการเจรจาใช้ประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไหล่ทวีปในอ่าวไทย (Overlapping Claims Area-OCA) ระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อรับมือกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง โดยชาวเน็ตไทยกังวลว่าการเจรจาจะกระทบต่อดินแดนและอธิปไตยเหนือเกาะกูด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ดังนั้นก่อนจะ #saveเกาะกูด ก็ควรทำความเข้าใจหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการปักปันเขตแดนในพื้นที่ดังกล่าว เช่น สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไหล่ทวีปในอ่าวไทย (OCA) และการเจรจาเหนือพื้นที่ OCA ให้ถ่องแท้ หากทุกฝ่ายรับทราบข้อมูลหลักฐานร่วมกันแล้ว แฮชแท็ก #Saveเกาะกูด อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป และนักท่องเที่ยวทั่วโลก ไม่ว่าประเทศไหน ๆ ก็ยังไปเที่ยวเกาะกูดกันได้ เหมือนเช่นทุกวันนี้
หรือหากจะมี #saveเกาะกูด ชาวเน็ตอาจต้องเปลี่ยนจากความขัดแย้งไปเป็นเรื่องความร่วมมือร่วมใจในการช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อม ความสะอาด และความเป็นมิตรระหว่างกันขณะท่องเที่ยวเกาะกูด……เพราะสาวสวยที่ทรงเสน่ห์ของทะเลนี้ เสน่ห์แรงจริง ๆ นะ