จาก EP1 เล่าเรื่องเสน่ห์ของเกาะกูด สาวสวยแห่งท้องทะเลไทยแล้ว ก็อยากจะเล่าต่อใน EP 2 ว่า “ทำไมชาวเน็ตไทยต้อง #saveเกาะกูด ” โดยจะขอเล่าจากข้อเท็จจริงจากหลักฐานและมุมมองทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้คลายกังวล ซึ่งตามที่เล่าไปเมื่อ EP 1 แล้วว่า ชาวเน็ตไทยค่อนข้างกังวลว่าการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชาจะกระทบต่อดินแดนและอธิปไตยเหนือเกาะกูด
จากจุดพักเรือสู่จุดยุทธศาสตร์
หากย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคอาณาจักรสุโขทัย การเดินเรือในสมัยนั้น ต้องใช้เวลานาน มีการหยุดพัก บางครั้งเผชิญกับพายุหรือมีปัญหาในระหว่างทาง เกาะกูดเป็นหนึ่งในจุดพักเรือสำคัญของเรือที่เดินทางผ่าน พอถึงอาณาจักรอยุธยา เกาะกูดเป็นจุดที่เรือสินค้าจากจีน อินเดีย และตะวันตก ใช้เป็นแหล่งพักผ่อนและสะสมเสบียง เมื่อเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น สถานะของเกาะกูดชัดเจนขึ้น เนื่องจากกัมพูชาซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ในตอนนั้น เกาะกูดจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ไทยต้องรักษาไว้ ขณะที่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของกัมพูชา เริ่มมองหาโอกาสที่จะขยายอาณานิคมในพื้นที่ทะเลตราด เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และสามารถควบคุมเส้นทางเดินเรือได้
ความขัดแย้งหลังยุคอาณานิคม
หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส รัฐบาลกัมพูชาได้เริ่มอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทะเลตราดและเกาะกูดอีกครั้ง อ้างอิงจากแผนที่โบราณของอาณาจักรขะแมร์ที่แสดงให้เห็นว่าเกาะกูดเคยตกอยู่ในเขตอำนาจของอาณาจักรนี้ เมื่อกัมพูชาส่งเสียงเรียกร้องดังขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาก็เริ่มตึงเครียดในช่วงรัฐบาลของพระนโรดมสีหนุและต่อมาภายใต้เขมรแดงได้กล่าวหาว่าไทยพยายามแทรกแซงและครอบครองพื้นที่เกาะและชายฝั่งบางส่วนที่ควรจะเป็นของกัมพูชา ขณะที่ฝั่งไทยเองก็มองว่า กัมพูชาพยายามบ่อนทำลายเสถียรภาพทางทะเลและเศรษฐกิจของไทย
พื้นที่ทะเลดังกล่าวยังมีทรัพยากรน้ำมันดิบกว่า 300 ล้านบาเรล และก๊าซธรรมชาติ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 10 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นผลประโยชน์ด้านพลังงาน ความขัดแย้งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในระดับรัฐบาลเท่านั้น แต่ได้ลุกลามไปถึงประชาชนของทั้งสองประเทศ เพราะบางครั้งเกิดการปะทะกันจากข้อพิพาทเกี่ยวกับการทำประมงในพื้นที่น้ำทับซ้อน กรณีนี้กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นทั้งสองฝั่งมีความรู้สึกไม่ไว้วางใจกัน โดยเฉพาะเมื่อมีกรณีที่เรือประมงถูกยึดหรือเกิดการจับกุม อีกทั้งยังมีการโต้เถียงกันเรื่องการสูญเสียอธิปไตยอีกด้วย
ความพยายามในการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชา
หลังจากสิ้นสุดการปกครองของเขมรแดง รัฐบาลไทยและกัมพูชาได้กลับมาเจรจาเรื่องเขตแดนและความร่วมมือทางทะเลกันใหม่ โดยเมื่อปี 2544 รัฐบาลไทยกับกัมพูชาได้ลงนามรับรองบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป 26,400 ตารางกิโลเมตร (MOU 44) เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปักปันเขตแดน และเรื่องการพัฒนาร่วมทรัพยากรพลังงานในลักษณะพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area : JDA)
การเจรจาความร่วมมือดังกล่าวไม่มีความคืบหน้าที่สำคัญ ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ แต่เริ่มเห็นสัญญาณการรื้อฟื้นการเจรจารอบใหม่ในปลายรัฐบาล นรม.พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถึงสมัยรัฐบาล นรม.นายเศรษฐา ทวีสิน และกลายมาเป็นประเด็นไฮไลท์ที่ได้รับความสนใจจากสังคม หลังจากรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แถลงจะรื้อฟื้นการเจรจาปักปันพื้นที่ดังกล่าวตามบันทึกความเข้าใจไทย – กัมพูชา พ.ศ.2544 (MOU 44) อีกครั้ง เพื่อใช้โอกาสนี้จัดสรรแหล่งก๊าซธรรมชาติบริเวณดังกล่าวมาเสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงาน
การเจรจาดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางใด สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส และพิธีสารแนบท้าย ค.ศ.1907 ซึ่งไทยใช้เป็นหลักฐานในการปักปันเขตแดนกับกัมพูชา เกาะกูดก็เป็นส่วนหนึ่งของไทยตามข้อตกลง แต่ก็ไม่ได้ทำให้จบเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างสองประเทศไปได้เสียทีเดียว ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าวจบลงหรือไม่ ท่านผู้อ่านก็ต้องรอลุ้นและติดตามกันต่อไป แต่#saveเกาะกูด ต้องไม่ทำให้สองประเทศเพื่อนบ้านเกิดความขัดแย้งกัน เพราะไม่สามารถยกประเทศหนีกันได้