เวลาได้ยินข่าวความสำเร็จของขบวนรถพยาบาลที่วิ่งด้วยความเร็วเพื่อแข่งกับเวลา บางครั้งต้องมาจากต้นทางที่ห่างไกลจากปลายทาง และระหว่างทางก็ได้รับน้ำใจจากเพื่อนร่วมทางที่พร้อมใจกันเปิดทาง เพื่อให้การนำอวัยวะจากผู้บริจาคที่มีน้ำใจส่งถึงผู้รับทันเวลาต่อทีมแพทย์ และพยาบาลทำกำลังเตรียมพร้อมจะทำการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะให้ผู้ป่วยที่เฝ้ารออวัยวะที่จะสร้างชีวิตใหม่ให้เขาหรือเธอ เชื่อแน่ว่าทุกคนที่ได้ยินข่าวแบบนี้และร่วมลุ้นไปด้วยกัน จะรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจไปด้วยกับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งชื่นชมน้ำใจของผู้บริจาคที่อิ่มบุญด้วยการช่วยเหลือเพื่อนมุนษย์ และใจฟูไปกับผู้ได้รับบริจาคที่ได้ต่อชีวิตอีกครั้ง
ไม่แปลกที่การบริจาคอวัยวะที่มาจากผู้เสียชีวิตซึ่งเต็มใจจะเป็นผู้ให้ โดยมีเอกสารยินยอมเป็นผู้บริจาคอวัยวะและดำเนินการไปตามกระบวนการบริจาคอวัยวะอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีผลประโยชน์ทางการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี แต่หากเป็นการให้อวัยวะที่ผู้ให้จำเป็นต้องให้เพราะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มอาชญากรรม หรือต้องขายเพื่อแลกกับค่าตอบแทน ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าและเป็นการก่ออาชญากรรม รวมทั้งเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์
การค้าอวัยวะเป็นอาชญากรรมไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการเองของเจ้าของอวัยวะที่จำเป็นต้องขาย หรือการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ที่ล่อลวงเจ้าของอวัยวะด้วยการทำหน้าที่เป็นคนกลางในการซื้อขาย ซึ่งผู้ป่วยบางรายยินดีที่จะทำผิดกฎหมายและยอมจ่ายค่าปลูกถ่ายอวัยวะ แม้จะเป็นการแสวงประโยชน์หรือเบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจนหรือไม่มีทางเลือก
การค้าอวัยวะมีคำสำคัญที่เกี่ยวข้อง 2 คำ ได้แก่ “การค้าอวัยวะ” ซึ่งหมายรวมถึงการปลูกถ่ายอวัยวะที่ผิดกฎหมาย และ “การค้ามนุษย์เพื่อเอาอวัยวะ” ทั้งสองกรณีเป็นสิ่งผิดกฎหมายและเป็นอาชญากรรม แต่แตกต่างกันในแง่กฎหมาย กล่าวคือ “การค้าอวัยวะ” หมายถึงการจัดการกับอวัยวะอย่างผิดกฎหมาย ที่เห็นบ่อย ๆ คือ การขายอวัยวะเพื่อผลกำไรหรือการโฆษณาความเต็มใจที่จะซื้อหรือขายอวัยวะ เช่น บางคนออกมาประกาศขายไตหรือดวงตา ส่วน “การค้ามนุษย์เพื่อเอาอวัยวะ” เป็นการกระทำของกลุ่มผู้ค้ามนุษย์ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการหลอกลวงหรือบีบบังคับเหยื่อ ซึ่งมักเป็นคนเปราะบาง เช่น ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ ผู้ขอลี้ภัย และผู้ลักลอบเข้าเมือง เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่มีทางเลือกและไร้ที่พึ่งจึงจำยอมที่จะต้องขายอวัยวะเพื่อเอาตัวรอด
ในห้วงที่โลกตกอยู่ในภาวะสงครามหลายพื้นที่และล้วนเป็นสงครามที่ยาวนานเป็นปี ที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติ ซ้ำร้ายยังดูจะรุนแรงขึ้นทุกขณะด้วยความต้องการจะเป็นผู้ชนะของคู่สงคราม แน่นอนว่าจะส่งผลต่อเนื่องให้ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ ผู้ขอลี้ภัย และผู้ลักลอบเข้าเมืองจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงน่ากังวลว่า คนเหล่านี้จะตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์เพื่อเอาอวัยวะ หรืออาจจำใจต้องขายอวัยวะหรือไม่ เมื่อต้องอยู่ในภาวะสิ้นหวังเช่นนี้
การค้าอวัยวะและการค้ามนุษย์เพื่ออวัยวะเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาและเอเชีย ที่เป็นประเทศยากจน เช่น ไนจีเรีย อียิปต์ ลิเบีย เคนยา เนปาล บังกลาเทศ อินเดีย และปากีสถาน เฉพาะในแอฟริกามีมูลค่าปีละกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีการค้าอวัยวะเพิ่มขึ้นทั่วแอฟริกา โดยมีปัจจัยผลักดันจากการขาดกฎระเบียบ ความยากจน การขาดโอกาสทางการศึกษา และความต้องการอวัยวะที่เพิ่มขึ้น เฉพาะที่สหรัฐฯ มีรายงานว่า เมื่อปี 2566 มีคนที่ต่อคิวรอรับอวัยวะกว่า 100,000 คน ส่วนยุโรปมีมากกว่า 13,000 คน จึงไม่น่าแปลกใจที่การค้าอวัยวะในตลาดมืดจัดเป็นอีกธุรกิจที่เฟื่องฟูและสร้างรายได้ให้กลุ่มผู้ค้าไม่น้อยกว่าธุรกิจผิดกฎหมายอื่น โดยรายงานของ Global Financial Integrity (GFI) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองด้านการทุจริต การค้าผิดกฎหมาย และการฟอกเงินของสหรัฐฯ ประเมินว่า การค้ามนุษย์เพื่ออวัยวะมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 840-1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับเอเชียจัดเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญของการค้ามนุษย์เพื่ออวัยวะ พื้นที่ไฮไลท์ที่เป็นที่รู้จักมานานของนายหน้าจัดหาไตคือ เนปาล เฉพาะอย่างยิ่งที่ Kavre District ที่มีการเรียกขานกันว่า ธนาคารไตของเนปาล (kidney bank of Nepal) หรือหุบเขาไต (kidney valley) เวียดนามเป็นอีกประเทศที่เป็นแหล่งการค้ามนุษย์เพื่ออวัยวะ โดยเมื่อเมษายน 2566 มีการจับกุมกลุ่มผู้ค้าที่กรุงฮานอย ส่วนที่อินโดนีเซียก็จับกุมกลุ่มค้ามนุษย์เพื่ออวัยวะได้ด้วยเช่นกัน
การจับกุมขบวนการค้ามนุษย์เพื่ออวัยวะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเป็นขบวนการที่มีการจัดการเป็นระบบ ทั้งการเตรียมการในส่วนของผู้รับอวัยวะและเจ้าของอวัยวะ บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มอาชญากรรม ซึ่งอาจรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน อีกทั้งสถานที่ก่อเหตุส่วนใหญ่อยู่ในสถานพยาบาลจึงยากจะพิสูจน์ทราบและแกะรอยว่าเป็นการกระทำที่เป็นอาชญากรรม นอกจากนั้น การขาดกฎระเบียบและย่อหย่อนการบังคับใช้กฎหมายในบางพื้นที่กลายเป็นปัจจัยดึงดูดการเข้ามาของผู้ต้องการอวัยวะในรูปนักท่องเที่ยว (Transplant tourism) โดยมีกลุ่มอาชญากรรมรออำนวยความสะดวกในลักษณะเดียวกับบริษัททัวร์
สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime–UNODC) ประเมินว่า ระหว่างปี 2551-2565 มีผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่ออวัยวะประมาณ 700 คน และความต้องการอวัยวะจะเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งจะทำให้จำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่ออวัยวะสูงขึ้นตามไปด้วย สำหรับอวัยวะที่มีการซื้อขายอย่างกว้างขวางในตลาดอวัยวะคือ ไต ตับ และกระจกตา โดยมีเซลล์ไข่ ผิวหนัง ตัวอ่อน และพลาสมาเป็นสินค้าหน้าใหม่
การค้าอวัยวะและการค้ามนุษย์เพื่ออวัยวะไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เพียงแต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ หลายครั้ง เราก็ได้ยินแทรกอยู่กับข่าวสารทั่วไป หรือแม้แต่ภาพยนตร์ แต่ที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้ผู้คนตกอยู่ในสถานการณ์จำเป็นที่ต้องขายอวัยวะ หรือตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เพื่ออวัยวะ ซึ่งในโอกาสที่ไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2568-2570 ก็อาจหยิบยกการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่ออวัยวะเป็นหนึ่งในประเด็นส่งเสริมความร่วมมือ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นผลประโยชน์ร่วมระดับประเทศและสิทธิมนุษย์ชนที่ทุกคนพึงมี