เกลือเป็นแร่ธาตุตามธรรมชาติที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ทองคำขาว” เพราะคุณค่าและคุณสมบัติในตัวเอง ทั้งใช้ในการอุปโภคและบริโภค ไม่ว่าจะเป็นการปรุงอาหาร หมักดอง แปรรูป การรักษาทางการแพทย์ การย้อมผ้า ผลิตสบู่ ผงซักฟอก และหมึกพิมพ์ เกลือยังถูกใช้ทุกวงการ ตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงอุตสาหกรรม การใช้เกลือนั้น สันนิษฐานว่าเริ่มขึ้นกว่า 6,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์โบราณเริ่มรู้จักการนำเกลือทะเลบริเวณชายฝั่งมาใช้ รวมทั้งมีร่องรอยหลักฐานการใช้เกลือในการทำมัมมี่ด้วยเช่นกัน
ในอดีต ประเทศไทยก็ใช้เกลือสมุทรเป็นหลัก ทั้งใช้ในประเทศและส่งออก ซึ่งส่งออกเป็นอันดับที่ 28 ของโลก อุปสรรคก็คือ กำลังการผลิตจากพื้นที่ที่มีจำกัด เนื่องจากผลิตได้ในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล เฉพาะฝั่งอ่าวไทยเท่านั้น ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และปัตตานี นอกจากนี้ ถึงแม้ประเทศไทยจะมีพื้นที่ทะเลติดชายฝั่งทะเล 1,093.14 กิโลเมตร แต่การที่การทำนาเกลือต้องอาศัยลักษณะของพื้นที่ชายฝั่งที่มีความราบ เพื่อส่งน้ำทะเลขึ้นชายฝั่ง ทำให้ชายฝั่งทะเลอันดามันที่มีลักษณะเป็นอ่าวลึกและมีฝนตกชุก ไม่สามารถทำนาเกลือได้ ประกอบกับการขยายตัวของเมืองที่ทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น ทำให้ที่ดินที่ใช้ทำนาเกลือ ถูกเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ทั้งเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัย
พื้นที่ทำนาเกลือของประเทศไทยลดลง ผู้ผลิตเกลือส่วนใหญ่ได้หันไปใช้เกลือสินเธาว์ที่ได้จากการทำเหมืองเกลือของชั้นหินเกลือในแผ่นดินอีสาน ในแอ่งเกลือสกลนคร และแอ่งเกลือโคราชที่ครอบคลุมพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 8 จังหวัด แต่มีคุณสมบัติแตกต่างจากเกลือสมุทร และต้องปรับปรุงคุณภาพ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน ไม่ว่าจะทั้งในด้านของการบริโภคหรืออุตสาหกรรมในจังหวัด
เกลืออาจเป็นวัตถุดิบที่เหมือนจะหาได้ไม่ยาก แต่ในวงการสถานการณ์เกลือโลกเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อญี่ปุ่นปล่อยน้ำทะเลที่บำบัดจากเหตุการณ์อุบัติเหตุที่โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลงสู่ทะเลเมื่อสิงหาคม 2566 ทำให้ประเทศข้างเคียงที่มีน่านน้ำร่วมกันเริ่มกังวล ไม่เชื่อมั่นมากพอที่จะบริโภคเกลือสมุทรในประเทศตนเองที่อาจมีสารปนเปื้อน และเริ่มมองหาแหล่งเกลือสมุทรที่มีความปลอดภัยมากกว่า ดังนั้น อาจเป็นโอกาสการส่งออกเกลือของไทย ที่มีแหล่งผลิตเกลือที่ปลอดภัยจากสารปนเปื้อนดังกล่าวหรือไม่…….
แน่นอนว่าการส่งออกย่อมมาพร้อมกับการสร้างมาตรฐานและควบคุมคุณภาพ การคัดเกรดของเกลือคุณภาพสูง ต้องให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของความสะอาดและความชื้น การทำนาเกลือในรูปแบบดั้งเดิมของไทยที่เป็นการนำน้ำทะเลมาผึ่งแดดในบ่อดิน ทำให้เกลือมีสิ่งปนเปื้อน การล้างต้องทำหลายครั้ง จึงจะมีสีขาว และต้องผ่านกระบวนการอบเพื่อให้ได้ความชื้นที่ 2.5% แต่สำหรับการส่งออกเกลือ ต้องอบให้เหลือความชื้นอยู่ที่ 0.15% เป็นเกลือบริสุทธิ์ นั่นหมายถึงการเพิ่มต้นทุนในการผลิตเกลือ ตั้งแต่กระบวนการทำความสะอาดหลังทำนาเกลือที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญหรือเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงเทคนิควิธีการทำนาเกลือ ที่ทำให้ได้เกลือบริสุทธิ์ไร้สิ่งเจือปน
การทำนาเกลือในบ่อดินแบบดั้งเดิม จึงอาจจะต้องเปลี่ยนเป็นการทำนาเกลือในบ่อยางหรือการใช้ผ้าพลาสติกขนาดใหญ่ ปูกั้นไม่ให้น้ำทะเลสัมผัสโดยตรงกับดิน ไม่แตกต่างจากการปลูกผักไฮโดรพอนิกส์ หรือการทำปศุสัตว์ในโรงเรือนระบบปิด เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เมื่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติแปรปรวน ฝนที่ตกลงนาเกลือนอกฤดูยังทำให้กระบวนการทำเกลือช้าลง ตลาดขาดเกลือจนทำให้เกลือแพงมากขึ้น ผู้ผลิตเกลือจะเลือกขายเกลือให้กับโรงงานเกลือที่สามารถให้ราคาได้สูงกว่า นำไปสู่ปัญหาความไม่สม่ำเสมอ ทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ และราคาของเกลือ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเกลือสู่ตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการสูงและมีคู่แข่งหลายประเทศ
เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดเกลือ การทำนาเกลือของไทย จึงต้องการการพัฒนาเทคนิควิธีการผลิต และพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง เช่น การทำนาเกลือในระบบปิด เพื่อป้องกันฝนและดิน แต่ใช้ประโยชน์จากแสงแดด แต่ก็จะทำให้ต้นทุนในการทำนาเกลือเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน
อาจขอเชิญชวนช่วยกันคิดและลงมือทำว่า…..ไม่ว่าวิธีการผลิตเกลือจะถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม เกลือจะยังคงเป็นทองคำขาวที่มนุษย์จะขาดไปไม่ได้ สำหรับประเทศไทยที่จะเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งจากการตลาดของเกลือที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงที่มีโอกาสจากตลาดของเอเชียตะวันออก หากไม่มีให้ความสำคัญและปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเกลือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับผู้ผลิตเกลือก็จะไม่สามารถเพิ่มมูลค่าของเกลือด้วยการส่งออกได้ แต่ทำให้เกลือของประเทศไทยหยุดการพัฒนา และนาเกลือกำลังถูกเปลี่ยนเป็นอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ไป และประเทศไทยในอนาคต อาจจะกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ต้องนำเข้าเกลือจากต่างประเทศ ทั้งที่เรามีทรัพยากร แต่ไม่ได้รักษาเอาไว้ได้ทันเวลา…..!!