พื้นที่ของภูเขา ปกติจะคิดรวมครอบคลุมตั้งแต่บริเวณตีนเขาจนถึงยอดเขา โดยมีข้อกำหนดให้พื้นที่ดินใดก็ตาม ที่มีความลาดเอียงหรือความชันตั้งแต่ 35% ขึ้นไป นับว่าเป็น “ภูเขา” ซึ่งมักจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับการสงวนไว้เป็นแหล่งธรรมชาติ เพราะในอดีต ความลาดเอียงของภูเขา เป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการก่อสร้างอาคาร การทำการเกษตร มนุษย์ส่วนใหญ่จึงเริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบลุ่มที่มีแหล่งน้ำไหลผ่านมากกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พัฒนาการความรู้ในการก่อสร้างและเอาตัวรอด ทำให้มนุษย์มีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ลาดเอียงหรือภูเขามากขึ้น เช่น การปรับพื้นที่ลาดเอียงให้เป็นพื้นที่ราบขนาดเล็กเหมือนขั้นบันได หรือการเพาะปลูกโดยเลือกพันธุ์พืชที่ต้องการน้ำน้อย ดังนั้น แม้ภูเขาจะมีความลาดเอียงเหมือนเดิม แต่สุดท้ายมนุษย์ก็สามารถเข้าไปจับจองเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินได้
ส่วนที่สูงที่สุดของภูเขา คือ ยอดเขา ที่จะมีลักษณะทอดตัวเป็นแนวยาวเป็นสันเขา เมื่อน้ำฝนตกลงมาสันเขาจะทำหน้าที่แบ่งน้ำฝนให้ไหลลงภูเขาในแต่ละด้าน และมีชื่อเรียกแนวสันเขานี้ว่า “สันปันน้ำ” ภูเขาหนึ่งลูกอาจมีสันปันน้ำมากกว่า 1 แนว ตามลักษณะของภูมิศาสตร์ และแนวสันปันน้ำนี้มักถูกใช้เป็นเส้นแบ่งขอบเขตการปกครองหรือขอบเขตที่ดิน เพราะเป็นแนวที่สังเกตได้ง่าย และยังเปลี่ยนแปลงได้ยาก ดังนั้น ภูเขาหนึ่งลูกตั้งแต่ตีนเขาถึงแนวส่วนยอดเขาก็จะถูกแบ่งตามแนวสันปันน้ำออกเป็นส่วน ๆ ได้อีก
เมื่อน้ำฝนซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดน้ำจากธรรมชาติ ไหลตามสันปันน้ำลงมาตามความลาดเอียงของภูเขา ยิ่งความลาดเอียงมากก็จะไหล่ผ่านโดยเร็ว ไม่ได้ถูกกักไว้ และไม่สามารถซึมลงดินได้มากเท่ากับพื้นที่ที่มีความลาดเอียงต่ำกว่า แต่หากมีสิ่งกีดขวางที่คอยดักน้ำฝนตามแนวลาดของภูเขาก็จะช่วยชะลอน้ำให้ซึมลงใต้ดิน และภูเขาก็จะเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ แหล่งตาน้ำต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย ซึ่งสิ่งกีดขวางตามธรรมชาตินั้น ก็คือ “ป่า” หรือต้นไม้ที่มีระบบรากนำน้ำลงสู่ดินนั่นเอง
ข้อความข้างต้น อาจจะเป็นความรู้ทั่วไปที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว แต่เราอาจจะลืมเอาภาพธรรมชาตินี้มาปะติดปะต่อ และมองให้เป็นภาพใหญ่เมื่อเกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเหตุอุทกภัยในประเทศไทยช่วงปลายปี 2567 … ขอให้ทุกคนย้อนทบทวนกันอีกครั้งว่าการบุกรุกทำลายป่า จะสร้างความเสียหายให้ความมั่นคงมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้มากมายขนาดไหน เพราะเมื่อป่าถูกบุกรุก ลดจำนวน และหายไป ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถของภูเขาในการดูดซับน้ำ ดังนั้น น้ำฝนก็จะไหลตามแรงโน้มมถ่วงจากยอดเขา ผ่านตีนเขา สู่ที่ราบต่ำ ลงสู่จุดที่อยู่ลึกที่สุดของร่องน้ำกลายเป็นแม่น้ำ และเส้นทางการไหลของน้ำฝนนี้ทั้งหมดจะอยู่ในพื้นที่รับน้ำ หรือ Watershade Area ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่สันปันน้ำที่รับน้ำไปยังแม่น้ำทั้งหมด เสมือนอ่างน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวสันเขาเป็นขอบอ่างและท้องอ่างเป็นแม่น้ำที่จะไหลลงท่อหรือทะเลนั่นเอง และเมื่ออ่างหลายใบวางเรียงต่อกันก็กลายเป็นภูมิประเทศที่มีลุ่มน้ำหลายสายไหลผ่านโดยแต่ละลุ่มที่มีพื้นที่แตกต่างกัน
การที่พื้นที่ป่าหายไปอย่างรวดเร็ว เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุน้ำท่วม เพราะพื้นที่การดูดซับน้ำของลุ่มน้ำ ค่อยๆ หายไป นอกจากนี้ ดินที่คอยซับน้ำของพื้นที่ราบลุ่ม ในปัจจุบันกลายเป็นคอนกรีตและเมืองที่ขวางทางน้ำไหลลงสู่แม่น้ำ เมืองจึงกลายเป็นพื้นที่รับน้ำไปโดยปริยาย และได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งยิ่งนานวันยิ่งทวีความรุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินต่างๆ มากมาย สำหรับไทย หากอิงตามพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 แบ่งพื้นที่ประเทศออกเป็น 22 ลุ่มน้ำ ตามแม่น้ำและแนวสันปันน้ำจากเทือกเขา 17 แห่ง ภายในลุ่มน้ำมีลุ่มน้ำสาขาย่อยรวม 353 ลุ่มน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำและเทือกจะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ครอบคลุมหลายจังหวัด เช่น ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาครอบคลุมพื้นที่จังหวัดลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และบางส่วนของจังหวัดกำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงค์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก และสมุทรปราการ แต่หากพิจารณาภูมิศาสตร์ของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สันปันน้ำจนถึงทางออกสู่ทะเลทั้งหมดจะรวมถึงลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ป่าสัก สะแกรกรัง และท่าจีนด้วย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัด 27 จังหวัด ที่มีความเกี่ยวข้องกันด้วยทรัพยากรน้ำที่จะต้องบริหารจัดการร่วมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติเป็นตัวกำหนดปริมาณน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ พื้นที่รับน้ำ (Watershed Area) ที่อยู่ในเขตพื้นที่ในตกชุกในภาคเหนือและภาคใต้ ความชันของภูเขา ความยาวของแม่น้ำจากภูเขาสู่ทะเล และความกว้างของพื้นที่รับน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญของปริมาณน้ำในแต่ละลุ่มน้ำที่จะต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างจริงจัง มีการวางแผนระยะสั้นและระยะยาวเพื่อจัดเก็บให้เหมาะสมกับกิจกรรมการใช้น้ำและการป้องกันภัยพิบัติ มิฉะนั้นอาจจะต้องพึ่งพาโครงการสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณทวีคูณ และอาจจะต้องพึ่งพาความรู้และวิทยาการจากต่างประเทศที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่?! เช่น การผันน้ำข้ามทะเลทรายจากภาคใต้สู่ภาคเหนือของประเทศจีน ที่เริ่มดำเนินการมายาวนานแล้ว โดยมีเป้าหมายสร้างคลอง 3 สายเพื่อชักแม่น้ำจากใต้สู่เหนือ เพื่อไปหล่อเลี้ยงเมืองสำคัญในภาคเหนือ รวมทั้งกรุงปักกิ่งให้อุดมสมบูรณ์ และฝรั่งเศสที่เริ่มนโยบายล้มเลิกโครงการฝายกันน้ำไม่ต่ำกว่า 500 แห่ง เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งแม้ 2 แนวคิดนี้จะเป็นแนวคิดการบริหารจัดการน้ำที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทางจีนเน้นท้าทายธรรมชาติ ส่วนฝรั่งเศสพยายามคืนธรรมชาติสู่สภาพเดิม…
แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันว่ารูปแบบใดจะเหมาะสมกับประเทศไทยมากกว่า ในช่วงเวลาที่ต้องแข่งขันกับเวลา เพราะภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่รอช้าและอาจส่งผลกระทบได้มากกว่าเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง แต่ต้องคิดต้องทำกันแล้ว