น่าตกใจเหมือนกันที่มีข่าวและรายงานระหว่างประเทศว่า หนี้ครัวเรือนไทยสูงเกินระดับ 80% ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) และจากการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566 ชี้ให้เห็นว่า หากไทยยังเผชิญปัญหานี้ไปนาน ๆ จะมีผลต่อการเติบโตของประเทศไทยได้ คนไทยยังเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นหนี้เยอะ และเป็นหนี้นาน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งของการก่อหนี้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ติดหรูมากขึ้น
คำว่าติดหรูคืออะไร ตามที่ได้ไปค้นคว้ามา มีคำที่พูดถึงในสื่อ เช่น “ติดแกลม” ที่มีความหมายว่า ติดแบรนด์เนม ติดหรู ติดของที่มีราคาแพง โดยคำว่าแกลมนั้นย่อมาจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษ “Glamorous” แปลว่า สวยงาม มีเสน่ห์ และ ดึงดูดใจ เช่น การใช้ชีวิตประจำวันที่หรูหรา การรับประทานอาหารระดับภัตตาคาร การใช้สินค้าแบรนด์เนม การท่องเที่ยวแพ็กเกจราคาสูง เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย แต่เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี คนไทยที่ติดหรูจึงมักจะใช้วิธีการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต กู้ยืมเงินธนาคาร หรือยืมเงินคนรู้จัก เพื่อนำมาหมุนเวียนใช้จ่ายก่อน ซึ่งพฤติกรรมติดหรูดังกล่าวเป็นการสะสมหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มสูงยิ่งขึ้น
การมีพฤติกรรมชีวิตติดแกลมของคนกลุ่มหนึ่งนั้น อาจต้องการสื่อให้เห็นถึงความสำเร็จหรือความมั่งคั่งในสังคมด้วย เพราะเชื่อว่าสินค้าที่มีมูลค่าสูง เป็นสิ่งของที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคม นอกจากนี้ เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลทำให้คนเข้าถึงสื่อโฆษณาได้ง่าย ธุรกิจแบรนด์เนมจึงทำการตลาดด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวกระตุ้นความต้องการ โฆษณาจูงใจให้ซื้อสินค้าราคาแพงที่ถือว่าดีที่สุด
คำอีกคำที่อยากเล่าสู่กันฟังคือ LUXUMER ที่มาจากคำว่า Luxury + Consumer ซึ่งก็มีคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ชื่นชอบ ชื่นชมกับสินค้าที่มีระดับหรูหรา เพราะการใช้สินค้าแบรนด์เนมเปรียบเสมือนใบเบิกทางเข้าสู่สังคมที่ดี เสริมความสง่างาม เสริมบุคลิกภาพ และเสริมความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ใช้สินค้าแบรนด์เนมได้เป็นอย่างดี ทำให้รู้สึกว่าผู้ใช้ได้รับการยอมรับและมีภาพลักษณ์ของการเป็นผู้มีรสนิยมดี
นอกจากนี้ ยังมีค่านิยมของผู้บริโภคที่นำไปสู่หนี้ครัวเรือน เช่นคำพูดที่ว่า “เงินเป็นสิ่งมีค่า แต่หามาก็ต้องได้ใช้ ชอบก็จัด จะประหยัดทำไม เดือนต่อไปกินแกลบก็ค่อยว่ากัน” ซึ่งอาจไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก ยกตัวอย่าง คนไทยทำงานมีรายได้ปานกลาง และรายได้หลักนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการในสินค้าฟุ่มเฟือย แต่คนไทยก็มีลักษณะนิสัยชอบแข่งขันกันอวดความมั่งมี เปรียบเทียบฐานะของตนกับคนอื่นอยู่เสมอ ๆ จนสร้างความรู้สึกของการกลัวที่จะพลาดสิ่งที่พิเศษ กลัวที่จะไม่มีในสิ่งนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงิน บ้าน รถ เสื้อผ้า กระเป๋า นาฬิกา หรืออะไรก็ตาม
ช่องทางหรือแนวทางที่อยากจะบอกเล่าในการแก้ไขปัญหาปัญหากับดักหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง การบริหารการเงิน และการออม : ทางออกปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามหัวข้อนั้น มีมากมายหลายทาง ซึ่งบางครั้งก็ยากที่จะทำตามได้ เนื่องจากปัญหารายได้ รายจ่ายของครอบครัวที่ไม่สมดุลกัน แต่การบริหารการเงิน และการออมที่ดี อย่าก่อภาระหนี้สินที่ไม่มีความจำเป็น เพื่อรายได้และความมั่นคงของชีวิตในระยะยาว น่าจะเป็นทางออกที่ดี
ตัวอย่างของการบริหารและการออมที่พอจะทำได้ เช่น คนไทยจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจให้มีความพอเพียงในเบื้องต้นเสียก่อน โดยวางแผนการใช้จ่ายเงินเป็นประจำทุกเดือน แบ่งเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เป็นต้น ใช้จ่ายด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็น ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำรายได้ต่างๆ มาใช้ในการดำเนินการทุกขั้นตอน และเมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงค่อยเสริมสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น