GMS และ ACMECS ชื่อสั้น ๆ คืออะไร…..
เป็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเกี่ยวกับไทยเพราะประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่มีไทยอยู่ด้วย รวมทั้งกัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม และจีน ชื่อเต็มคือ กรอบความร่วมมือ Greater Mekong Subregion – GMS และกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy – ACMECS
การประชุมระดับผู้นำ GMS หรือที่เรียกว่า GMS Summit of Leaders ครั้งที่ 8 เมื่อ 6-7 พฤศจิกายน 2567 และการประชุมระดับผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 10 เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกันที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน จีน มีนายกรัฐมนตรีไทยเข้าร่วมประชุมด้วย
ACMECS และ GMS เกี่ยวข้องกับไทยอย่างไร …….
ACMECS ไทยเป็นผู้ริเริ่มและขับเคลื่อนหลัก เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ มีสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ก่อตั้งเมื่อปี 2546 สมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ตามนโยบายการทูตเชิงรุก เพื่อลดช่องว่างการพัฒนาและส่งเสริมความรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมทั้งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมให้ไทยมีบทบาทเชิงรุกในเวทีระหว่างประเทศ เรื่องที่จะหารือกันเกี่ยวกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ พัฒนาและเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เช่น ถนน สะพาน รถไฟ ท่าเรือ และท่าอากาศยาน ฯลฯ พัฒนาและเชื่อมโยง กฎหมายและระเบียบ ทั้งด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม และการเงิน รวมทั้งพัฒนาอย่างอัจฉริยะและยั่งยืน
ใครเป็นผู้ริเริ่ม GMS ….. ญี่ปุ่นริเริ่มผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank-ADB) สมาชิก ได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และจีน แต่เฉพาะมณฑลยูนนานและเขตปกครองตนเองกว่างซี เท่านั้น การประชุมผู้นำ GMS จัดขึ้นทุก 3 ปี เพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเน้นการสร้างการเชื่อมต่อ (Connectivity) ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) และการสร้างประชาคม (Community)
ทำไมญี่ปุ่นต้องผลักดันกรอบ GMS….. GMS เป็นกรอบความร่วมมือแรกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จัดตั้งเมื่อ 2535 หากอนุภูมิภาคนี้ มีการพัฒนาระบบการคมนาคม ญี่ปุ่นก็จะได้ประโยชน์ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในขณะนั้น เพราะต้องการเปิดตลาดและแสวงหาทรัพยากรในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซี่งไทยในช่วงนั้น มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า และลาวกับเวียดนามเริ่มปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อเปิดรับการค้าการลงทุน โดยญี่ปุ่นจะพัฒนาทั้ง Hard Infrastructure (ถนน สะพาน ฯลฯ) และ Soft Infrastructure (ข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคมและขนส่งข้ามแดน)
ประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใน GMS ……. ญี่ปุ่นมีบทบาทนำใน GMS ผ่าน ADB แต่ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับสหรัฐฯ (รวมกัน ร้อยละ 15.6) แต่ ADB เป็นผู้ให้ทุนและทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทย นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร ก็ได้พบหารือกับ ADB ในช่วงที่เข้าร่วมประชุมที่จีนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2567 ด้วย
ระยะหลังจีนเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยง GMS เข้ากับความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) และกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang-Mekong Cooperation – LMC) รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนามณฑลทางตอนใต้ของจีนที่ติดกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ความสำเร็จ…?
ความสำเร็จสำคัญของ GMS ที่ผ่านมา คือ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (จีนตอนใต้ถึงไทย) ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (เมียนมาถึงเวียดนาม) และระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม) และความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดน (Cross-Border Transport Facilitation Agreement-CBTA) ที่สร้างมาตรฐานด้านการคมนาคมร่วมกันในอนุภูมิภาคซึ่งช่วยลดความล่าช้า ปัจจุบันการดำเนินงานของ GMS อยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ GMS-2030 มุ่งเน้นการเชื่อมต่อ ความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างประชาคม