ประเด็นร้อนแรงที่ยังไม่ได้ข้อยุติระหว่างไทยกับกัมพูชา ผลพวงจากกรณี #Save เกาะกูด และการเจรจาปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claim Area : OCA) แต่เรื่องที่ได้รับทราบทั่วกันแล้วแน่นอน ก็คือ เกาะกูดเป็นของไทย 100 % ตามหลักฐานทางกฎหมายอย่างอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 และไทยก็มีอธิปไตยเหนือเกาะกูดเต็มที่
ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วทำไมเราถึงต้องพูดเรื่องนี้กันอีก ?
เรื่องเกาะกูดได้ข้อสรุปฟันธงไปนานแล้ว ส่วนเรื่องการเจรจาบนพื้นที่ OCA เรียกได้ว่าเริ่มจะมีความคืบหน้า โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไทยน่าจะจัดประชุมหารือเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee -JTC) ของฝ่ายไทยภายใน พฤศจิกายน 2567 เพื่อเจรจากรณีพื้นที่ OCA กับกัมพูชา ขณะที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลกับสื่อมวลชน เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2567 ว่า พื้นที่ OCA มีประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยของทั้งไทย เมื่อปี 2516 และกัมพูชา เมื่อปี 2515 ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ หลังจากนั้นทั้งสองประเทศก็มีความพยายามเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าวตลอดมา แต่ไม่มีความคืบหน้า ต่อมา เมื่อ 14 มิถุนายน 2544 ทั้งสองฝ่ายได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน เมื่อปี 2544 หรือ MOU 2544 ซึ่งกำหนดกรอบและกลไกการเจรจา ที่ระบุให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบการเจรจาแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ MOU 2544 ไม่มีผลให้ทั้งสองประเทศต้องยอมรับการอ้างสิทธิ หรือเส้นเขตแดนของแต่ละฝ่าย
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) คืออะไร
คณะฯ JTC ของไทย จัดตั้งขึัน เพื่อทำหน้าที่หารือทางเทคนิคร่วมกับฝ่ายกัมพูชาในการดำเนินการเกี่ยวกับพื้นที่ OCA และมีคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Sub-JTC) เป็นกลไกย่อยที่จะหารือเกี่ยวกับเส้นเขตแดน และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ OCA ควบคู่กัน คณะกรรมการ JTC ประกอบด้วยหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ กรมอุทกศาสตร์ รวมถึงกระทรวงพลังงาน เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลของทั้งไทยและกัมพูชาสามารถแต่งตั้ง หรือปรับปรุงองค์ประกอบของ JTC ได้ตามความเหมาะสม สำหรับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้จัดตั้งคณะกรรมการ JTC โดยมอบหมายให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ต่อมาทั้งไทยและกัมพูชาจัดการเลือกตั้งทั่วไป และเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ทำให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการ JTC ชุดใหม่ และคณะกรรมการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการ JTC ทำอะไรไปแล้วบ้าง
ที่ผ่านคณะกรรมการ JTC ระหว่างไทยกับกัมพูชา จัดการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่ OCA มาโดยตลอด และรายงานความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้ผลักดันการใช้พื้นที่ OCA ร่วมกันให้เร็วที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนพลังงาน แต่ยังไม่สามารถเจรจาตกลงร่วมกันได้ เพราะกัมพูชาต้องการให้พัฒนาร่วมพื้นที่ทั้งหมดของ OCA และจัดสรรผลประโยชน์ในสัดส่วน 50:50 แต่ไทยไม่ตอบรับ ซึ่งไทยมีแนวทางการพัฒนา คือ 1. ประชาชนทั้งสองประเทศต้องยอมรับข้อตกลง 2. รัฐสภาทั้งสองประเทศต้องพิจารณาเห็นชอบข้อตกลง และ 3. ข้อตกลงต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหน่วยงานหลักในการเจรจา
อนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป
ในตอนนี้ เราอาจจะรอว่าคณะกรรมการ JTC ชุดใหม่ที่น่าจะเข้าคณะรัฐมนตรีได้ใน 18 พฤศจิกายน 2567 จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และจะนัดหารือพูดคุยกับทางกัมพูชาได้ตอนไหน โดยเรายืนยันคำมั่นการเจรจาอย่างเป็นมืออาชีพและยึดโยงผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ ในแนวทางที่ฝ่ายไทยจะต้องไม่เสียเปรียบในข้อตกลงร่วมกัน ทั้งประเด็นเขตแดน อธิปไตย ทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบก ทางน้ำ และทางทะเล
สุดท้ายแล้ว การพัฒนาพื้นที่ OCA ร่วมกันเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการเจรจาอย่างรอบคอบ และใช้เวลานานกว่าจะตกลงกันได้ เพราะต้องดูทั้งเรื่องการปักปันเขตแดนทางทะเลที่ยังไม่เริ่มดำเนินการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่พัฒนาร่วม แต่ที่สำคัญที่สุด ไม่ควรเอาประเด็นเหล่านี้มาบิดเบือนหรือปลุกปั่นในทางการเมือง