วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำคะนองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง ลอย ลอย กระทง ลอย ลอย กระทง ท่วงทำนองเพลงที่คุ้นหูคนไทยหลายคน และก็จบกันไปอีกปีกับหนึ่งเทศกาลโปรดอย่าง “เทศกาลลอยกระทง” หนึ่งในประเพณีสำคัญของไทยที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติตั้งแต่ปี 2554 ในสาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล แต่การลอยกระทงไม่ใช่เทศกาลที่เกิดในไทยเพียงประเทศเดียว แต่เป็นพิธีกรรมที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนานในดินแดนอุษาคเนย์ของพวกเรา พิธีกรรมที่คล้ายคลึงอย่างพิธีลอยกระทงนี้มี “ชื่อ” และ “รายละเอียด” แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ทั้งลาว เมียนมา กัมพูชา และอีกหลายประเทศ
ลอยกระทงคืออะไร และเราลอยกระทงกันไปทำไม ?
คือ พิธีกรรม/ประเพณี ทำกันในห้วงฤดูน้ำหลาก ห้วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูฝนไปฤดูแล้ง ชาวอุษาคเนย์ซึ่งเป็นผู้พึ่งพาน้ำเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต การเพาะปลูกเลยมีพิธีกรรมลอยกระทงกันขึ้นมา แล้วเราลอยกระทงกันไปทำไม วัตถุประสงค์ของการลอยกระทงมีหลากหลาย บ้างเชื่อว่าเป็นการขอบคุณพระแม่คงคาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานน้ำและความอุดมสมบูรณ์มาให้ บ้างก็เชื่อว่าทำขึ้นเพื่อสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บ้างก็เชื่อว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์ บูชาเทพเจ้า และด้วยเหตุผลของการลอยกระทงที่แตกต่างกันก็ทำให้แต่ละประเทศมีรายละเอียดของลอยกระทงที่เป็นอัตลักษณ์
วัฒนธรรมร่วม : วัฒนธรรมดีดีที่ไม่ได้มีแค่ไทย
อย่างที่เกริ่นไปว่า ลอยกระทงไม่ได้มีแค่ในไทย แต่เป็น “วัฒนธรรมร่วม” ของดินแดนอาคเนย์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงวัฒนธรรมไทยให้คำอธิบายของ “วัฒนธรรมร่วม” ไว้อย่างง่าย ๆ ว่า คือพหุวัฒนธรรมที่เกิดตั้งแต่ดินแดนยังไม่มีพรมแดน ยังไม่มีรัฐชาติแบบใหม่ ผู้คนเดินทางไปมาหาสู่กันในดินแดน วิถีชีวิต การดำรงชีวิต ความเชื่อ ศาสนาเลยผสมผสานจนกลายเป็นวัฒนธรรมร่วม ก็เช่นเดียวกันกับบริบทของคนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เดิมก็มีการเดินทางไปมาหาสู่กัน สภาพแวดล้อมก็ใกล้เคียงกัน ก็ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมร่วม” ได้ไม่ยาก
กลับมาที่เทศกาลลอยกระทง ปี 2567 นี้ ไทยจัดงานในวันเพ็ญเดือนสิบสอง เหมือนเช่นทุกปี ซึ่งตรงกับ 15 พฤศจิกายน 2567 จริง ๆ แม้แต่ภายไทยเองแต่ละภาคก็จัดงานลอยกระทงแตกต่างกันไปตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคกลางจะเน้นการจัดงานรื่นเริง ทำกระทงปักดอกไม้ธูปเทียน ชาวภาคเหนือก็จะลอยประทีป ภาคอีสานก็จะเป็นลอยเรือไฟ หรือปี 2567 นี้ เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมก็จะใช้เพียงกาบกล้วยและปักธูปลงไป เป็นต้น
แล้วเพื่อนบ้านของเราเรียกมีการลอยกระทงแบบไหน เรียกอะไรกันบ้าง ?
เริ่มกันที่กัมพูชามีเทศกาลที่เรียกว่า บอนออมตุ๊ก หรือ Water Festival ที่ปีนี้ จัดอย่างยิ่งใหญ่ 14-16 พฤศจิกายน 2567 มีการลอยกระทง ลอยโคม การจัดแข่งขันเรือ ขบวนแห่ประดับไฟ พลุไฟ และคอนเสิร์ต กัมพูชาจัดเทศกาลแบบนี้ทุกปีเพื่อเฉลิมฉลองการสิ้นสุดฤดูมรสุม ขอบคุณธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำ เพื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต และเพื่อรำลึกถึงวัฒนธรรมอันอุดมสมบูรณ์ และประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศ
ต่อมาเป็นเมียนมา มีประเพณีจุดไฟตามประทีป หรือ “ตะซาวงได์ -มที นู -ปแว” (เทศกาลเพ็ญเดือนแปดพม่า) ซึ่งก็คือ ตุลาคม-พฤศจิกายน มีความเชื่อตามพระสูตรในพระพุทธศาสนา แต่คนเมียนมาจะนิยมประดับตกแต่งไฟประทีปตามพระเจดีย์ในวัด ซึ่งถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของภาคเหนือไทยจะมีเทศกาล “ยี่เป็ง” สำหรับของลาว มีประเพณีไหลเรือไฟ หรือ งานไหลเฮือไฟ มีการแข่งเรือที่ริมแม่น้ำโขง ลอยประทีป และไหลเรือไฟ เป็นการบูชาคุณแม่น้ำโขง และเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า
ยังมีประเพณีที่คล้ายกันของประเทศนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจีน และอินเดีย โดยชาวจีนเรียกการลอยกระทงว่า “ลอยโคมประทีบ” จะลอยตัวกระทงที่มีลักษณะเป็นดอกบัวลอยไปตามน้ำ เพื่อบูชาเทพเจ้า ส่วนอินเดียมีเทศกาลดิวาลี นิยมจุดประทีปใส่กระทงประดับด้วยกุหลาบและดาวเรืองลอยริมแม่น้ำคงคา
ลอยกระทง เป็นหนึ่งในตัวอย่างของวัฒนธรรมร่วมของชาวอุษาคเนย์ที่อาศัยกับน้ำ ที่ยังส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า วัฒนธรรมร่วมเกิดจากรากเหง้าจากประวัติศาสตร์รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนในดินแดน ปรับเปลี่ยนไปตามเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ วิถีชีวิตของแต่ละประเทศตามแต่ละห้วงเวลา เรายังมีสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมร่วม”อีกมากมายหลายอย่าง ถ้าเรามองทุกอย่างด้วยความรู้ความเข้าใจ ก็คงจะทำให้ลดความขัดแย้ง และถกเถียงกันอย่างรุนแรง ในทางกลับกัน ก็จะร่วมมือกันช่วยกันรักษาวัฒนธรรมร่วมในอัตลักษณ์ของตนเองอย่างสร้างสรรค์ก็เป็นได้มากทีเดียว