สภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้มนุษย์พัฒนาการวิทยาการการเพาะปลูกในโรงเรือนป้องกันแมลง ควบคุมความชื้น หรือแม้แต่การใช้หลอดไฟเพื่อสร้างแสงทดแทนดวงอาทิตย์ โดยเรียนรู้วิทยาการเพื่อใช้สเปกตรัมแสง ไปเป็นพลังงานป้อนให้พืชใช้ในการเติบโตต่อไป กระบวนการทั้งนี้อาจหมายความว่า หากเรามีพื้นที่ น้ำและพลังงานที่พืชต้องการเพียงพอ ก็จะสามารถผลิตพืชได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของโลกก็ตาม
เพราะฉะนั้น การทำการเกษตรอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ หรือไม่ต้องการพื้นที่ราบกว้างที่ง่ายต่อการเกลี่ยดินและหว่านเมล็ดเพื่อการเพาะปลูกอีกต่อไปแล้ว!! เพราะถ้ามีพื้นที่เล็กน้อยแต่มีวิทยาการและความรู้ รวมทั้งเทคโนโลยี ก็อาจจะเพียงพอ และไม่จำเป็นต้องหาพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการเพาะปลูก และที่ดีมากไปกว่านั้น วิทยาการและเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับป้องกันศัตรูพืชได้ก้จะช่วยกษตรกรไม่ต้องเสียต้นทุนเพื่อซื้อยาฆ่าแมลง และแม้ว่าต้องแลกไปกับต้นทุนเรื่องการใช้ไฟฟ้า และวัสดุปลูกที่แตกต่างไปจากเดิม รวมถึงการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด เพื่อควบคุมคุณภาพของผลผลิตและลดมลภาวะ
ทั้งนี้ แนวโน้มพลังงานสะอาดจะมีต้นทุนต่ำลง และเกษตรกรจะถึงจุดคุ้มทุนกับราคาขายผลผลิตได้อย่างแน่นอน เพราะจะเป็นเทคโนโลยีที่จะมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น และมาจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างไม่จำจัด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์เซลล์ที่มีราคาถูกลง 90% ในระยะเวลา 12 ปี และจะลดลงเรื่อย ๆ ประกอบกับรัฐบาลทั่วโลกต่างออกนโยบายในการใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในการใช้พื้นที่เพื่อเกษตรกรรม จะเท่ากับว่าพื้นที่ที่ใดก็ได้ที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม ที่จะกลายเป็นที่ตั้งของโรงเรือนปลูกพืชอันล้ำสมัย …ลองจินตนาการถึงหลังคาขนาดใหญ่ที่สร้างไว้เพื่อปลูกพืช โดยมีแผงโซลาร์เซลล์ ช่องลมแรงเพื่อหมุนกังหันไฟฟ้า เพื่อผลิตพลังงานให้เสถียรต่อการเจริญเติบโตของพืชด้านใน เพราะฉะนั้น ในอนาคต เราจะได้เห็นอาคารสูงที่เป็นโรงเรือนผลิตพืชซึ่งจะกลายเป็นแหล่งอาหารให้กับเมือง และเป็นการลด carbon footprint จากการขนส่ง เป็น Zero Mile Farm ที่สามารถส่งผักสด ๆ สู่ผู้บริโภคได้โดยไม่ต้องอาศัยการการขนส่งหรือการแช่เย็นที่ต้องใช้พลังงานและเป็นต้นทุนทั้งสิ้น “ฟาร์มในเมือง” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้และดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่คิด เพราะหากมีเทคโนโลยีครบถ้วน ก็จะสามารถรีไซเคิลน้ำมาใช้ผ่านการบำบัด และยังใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าในการอุปโภคต่ำอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
อย่างไรก็ตาม การจะสร้างเกษตรกรรมในระบบเมืองแบบปิดนี้ จะมีต้นทุนจากการลงทุนระบบการปลูกที่ต้องลงทุนสูงมากขึ้นในช่วงแรกของการเพาะปลูก อาจส่งผลให้อาชีพเกษตรกรไม่ใช่อาชีพที่ทุกๆ คนจะสามารถทำได้ เนื่องจากต้องลงทุนสูงในช่วงแรก ภาพลักษณ์ของการเกษตรจะเปลี่ยนแปลงไป มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น ปลอดภัย ต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญและทักษะเฉพาะในการควบคุมเทคโนโลยีการเพาะปลูก และแก้ไขปัญหาพืชในระดับเซลล์ …แต่ประเทศไทยไม่ควรละเลยเรื่องนี้ เพราะอะไร!?
ก็เพราะว่า เกษตรกรรมที่ยั่งยืน คือ หัวใจของเศรษฐกิจไทย และยังเป็นพื้นฐานสำคัญของความมั่นคงทางด้านอาหารระดับโลก การปลูกพืชผักในระบบปิดนี้ยังจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการทำเกษตรครั้งสำคัญ แต่ก็ต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า มีเพียงพืชบางชนิดเท่านั้นที่เหมาะสมกับการทำฟาร์มใกล้เมือง และควรคำนึงถึงปัจจัยด้านราคาของผลผลิตและความคุ้มทุนอยู่เสมอ ดังนั้น การขับเคลื่อนแนวคิดนี้ ทำได้แน่นอน แต่ไม่ต้องละทิ้งเกษตรกรรมในรูปแบบเดิม เช่น พืชผักที่ปลูกได้ง่ายและคงทนต่อสภาพแวดล้อมยังส่วนซุปเปอร์ฟู้ดที่มีมูลค่าสูง จะเหมาะสมกับรูปแบบใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลายต่อไป