องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization-UNESCO) เพิ่งเผยแพร่รายชื่อที่เป็นรายการใหม่ของมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ปี 2567 (List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity 2024) หลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งไทย รู้สึกตื่นเต้นดีใจที่ “วัฒนธรรม” ความรู้ ประเพณี การแสดงออก หรือทักษะประจำท้องถิ่นได้รับการยกย่องในระดับโลก วัฒนธรรมของไทยที่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมครั้งนี้ คือ “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งเป็นไปตามที่ไทยเสนอไปตั้งแต่มีนาคม 2564
การประชุมของคณะกรรมการยูเนสโกครั้งที่ 19 ได้พิจารณาเมื่อ 3 ธันวาคม 2567 ที่สาธารณรัฐปารากวัย ด้วยการยก “ต้มยำกุ้ง” ให้มีสถานะเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ เหมือนกับ โขน (ปี 2561) นวดไทย (ปี 2562) โนรา (ปี 2564) และประเพณีสงกรานต์ (ปี 2566) ที่ได้รับตำแหน่งไปแล้ว ซึ่งผลดีแน่ล่ะ ทำให้กิจการร้านอาหารไทยคึกคักมากขึ้น เพราะสามารถหยิบเอาคุณค่าของความเป็นมรดกโลกมาเชิญชวนให้เหล่านักชิมจากทั่วโลกได้ลิ้มลองรสแกงต้มยำที่เป็นเอกลักษณ์นี้ สำหรับการประชุมของยูเนสโกที่มีสมาชิก 24 ประเทศเข้าร่วมที่ปารากวัย ยังได้ข้อสรุปเมื่อ 6 ธันวาคม 2567 ว่า มีรายการมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ใหม่ทั่วโลกทั้งหมด 63 รายการ ทั้งหมดนี้ดำเนินการไปเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่สำคัญและมีคุณค่าต่อวิถีชีวิตผู้คนในประเทศต่าง ๆ
..เมื่อลองได้ดูรายละเอียดรายการมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในปี 2567 แล้ว เหมือนกับเราได้ท่องเที่ยวไปทั่วโลก พร้อมกับเรียนรู้การใช้ชีวิตของคนจากทุกมุมโลกในเวลาอันรวดเร็ว การทำความรู้จักวัฒนธรรมที่มีคุณค่าในประเทศอื่น ๆ เท่ากับเปิดโอกาสให้ได้เข้าใจวิธีคิด มุมมองต่อธรรมชาติ และความเป็นอยู่ที่น่าสนใจ เพราะ “มรดกโลก” ที่ยูเนสโกรวบรวมมานั้น ครอบคลุมทั้งเรื่องอาหาร ดนตรี ศิลปะ การแสดง ประเพณี เกษตรกรรม รวมทั้งการผลิตสิ่งของเครื่องใช้แบบ “บ้าน ๆ” แต่มีเอกลักษณ์ในหลาย ๆ ประเทศด้วย เช่น การผลิตโอ่ง Tandir ที่ใช้อบขนมปังของอาร์เซอร์ไบจาน การผลิตชีสของบราซิล นอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรมร่วมที่ไทยมีส่วนร่วมด้วยคือ การผลิตและสวมใส่ชุด Kebaya ที่เป็นวัฒนธรรมร่วมของบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย
ยังมีวัฒนธรรม อาหาร และประเพณีต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย ที่อยู่ในและนอกรายการของยูเนสโก ตอนนี้ยูเนสโกยกย่องวัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ไปแล้ว 788 รายการจาก 150 ประเทศ บางรายการก็ได้รับการจัดให้อยู่ในวัฒนธรรมที่เสี่ยงจะสูญหาย ประเด็นนี้อาจเป็นการโน้มน้าวผสมกดดันให้ประเทศเจ้าของวัฒนธรรม ให้ใส่ใจและอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมเอาไว้ให้ได้ เพื่อให้ยังคงเป็นความภาคภูมิใจและเป็นแรงจูงใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้คนรุ่นใหม่ยังรู้จักวิถีชีวิตแบบเดิม โดยไม่ต้องละทิ้งสิ่งใหม่ ๆ หรือความทันสมัยที่สามารถอยู่ร่วมกันไปกับวัฒนธรรมที่มีคุณค่าได้
แม้ว่าบทบาทของยูเนสโกจะทำให้ “วัฒนธรรม” ท้องถิ่นได้รับความใส่ใจมากขึ้น แต่เราเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการปกป้องวิถีชีวิตและมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ จะขึ้นอยู่ประชาชนเอง ..วัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ที่อยู่รอดและถ่ายทอดมาได้รุ่นสู่รุ่น เพราะมีประโยชน์ต่อสังคม แม้บางอย่างที่เคยปฏิบัติมาอาจจะไม่ได้สานต่อแล้วในปัจจุบัน หรือบางเรื่องอาจจะไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในตอนนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าประเพณีนั้นไม่เคยมีคุณค่า การเข้าใจวัตถุประสงค์หลัก และปรับแนวปฏิบัติในประเพณีต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน หรือเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในสิ่งที่เป็นของชุมชนเรา น่าจะเป็นทางเลือกที่ทำให้ไทยและหลาย ๆ ประเทศ สามารถรักษาเอกลักษณ์ท้องถิ่นได้ในระยะยาว โดยไม่จำเป็นต้องรอให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามารับรอง…