จอห์น อิงก์แลนเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระดับความสูงของน้ำทะเล ได้เผยแพร่ข้อมูล 10 เมืองสำคัญทั่วโลกที่มีความเสี่ยงที่จะจมน้ำ อันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายลงสู่น้ำทะเลมากขึ้น และการทรุดตัวของแผ่นดิน …“กรุงเทพมหานคร” อยู่ในลำดับที่ 5 รองจาการ์ตา (อินโดนีเซีย) มะนิลา(ฟิลิปปินส์)โฮจิมินห์ (เวียดนาม) และนิวออร์ลีนส์ (สหรัฐอเมริกา)
เมืองหลวงหรือเมืองสำคัญหลาย ๆ เมืองเริ่มตั้งรกรากจากการแสวงหาพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์กับการเพาะปลูกสร้างแหล่งอาหารให้กับชุมชนขนาดใหญ่ หรือติดกับแหล่งน้ำพื้นที่ใกล้ทะเลเพื่อการคมนาคมที่สะดวก แต่ location ที่ใกล้ชายฝั่งนี้ก็เป็นความเปราะบางของเมือง
เมื่อระยะเวลาประมาณ 1,000 ปีก่อน ในช่วง Medieval Warm Period ซึ่งเป็นช่วงที่โลกมีความอบอุ่น น้ำแข็งขั้วโลกมีขนาดเล็กกว่าปัจจุบัน น้ำส่วนใหญ่ของโลกอยู่ในทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงท่วม 7 จังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงจังหวัดสมุทรสาคร ดังนั้น เมืองที่มีการตั้งถิ่นฐานในช่วงนั้น จะมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์สำคัญที่หลงเหลืออยู่ คือ โบราณสถานที่ขยายอาณาเขตมาถึงจังหวัดลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐมในสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นขอบเขตที่น้ำท่วมไม่ถึง
และเมื่อยุคน้ำแข็งกลับมา น้ำเริ่มแข็งตัวที่ขั้วโลก ทำให้ระดับน้ำทะเลลดลงจนเกิดเป็นพื้นที่ที่ตั้งที่ราบลุ่มภาคกลางและกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ที่กำลังเสี่ยงจะหวนกลับสู่ใต้บาดาลอีกครั้ง!! โดยมีการกระทำของมนุษย์เป็นตัวเร่งวัฏจัก โดยเฉพาะการปลดปล่อยคาร์บอน เพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ ซึ่งแนวทางแก้ไขอาจแบ่งเป็น 3 วิธี ได้แก่
- อพยพหรือย้ายหนีอย่างถาวร ไปยังพื้นที่อื่นที่พ้นระดับน้ำทะเล แนวคิดนี้เคยเกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยย้ายไปที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่อยู่ระดับสูงกว่าและอยู่ในตำแหน่งใจกลางของประเทศ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง …หากมีการย้ายเมืองหลวงก็มีหลายจังหวัดที่มีความพร้อมเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ เช่น นครราชสีมา พิษณุโลก และนครนายก เป็นต้น เสมือนที่ประเทศอินโดนีเซียย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปนูซันตารา แต่การย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพมหานครไปนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อีกมากมาย ประกอบกับแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งไม่สามารถปล่อยให้กรุงเทพมหานครจมน้ำได้ จึงต้องเปลี่ยนความคิดจากการย้ายหนีเป็นการป้องกันน้ำทะเลท่วมแทน
- การป้องกันน้ำทะเลหนุนชายฝั่ง แบบเดียวกันกับแนวคิดปกป้องเมืองอัมสเตอร์ดัมที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลให้ปลอดภัย จึงต้องสร้างเขื่อนและประตูน้ำสูงกว่าน้ำทะเล 40 ฟุต เป็นมูลค่ากว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อป้องกันน้ำท่วม ในกรณีของประเทศไทยหากต้องการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมและถมดินสร้างเกาะยาวตลอดแนวไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างบริเวณแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ไปบริเวณแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี แต่การลงทุนสูงขนาดนี้จะสามารถเอาชนะความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้หรือไม่!? เพราะแม้แต่กำแพงกั้นคลื่นขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นที่ลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่สามารถป้องกันความรุนแรงของคลื่นสินามิได้
- เมื่อไม่สามารถอพยพหนีหรือป้องกันได้ หนทางที่เหลืออยู่คือการอยู่ร่วมกับน้ำ เป็นการผสมผสานการป้องกันร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การคมนาคมขอส่งให้เข้ากับสภาพแวดล้อม กำหนดเขตพื้นที่ของเมืองที่ยอมให้น้ำท่วมได้ แต่ท่วมในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากจนเกินไป เช่นเดียวกันการทำ “พื้นที่แก้มลิง” ที่สามารถทำการเกษตรได้ในช่วงน้ำแล้ง แต่เปลี่ยนจากการกักน้ำในแม่น้ำมาเป็นการกักน้ำทะเลที่หนุนเข้าแผ่นดินแทน และปรับโครงสร้างพื้นฐาน อาคารในพื้นที่เสี่ยงให้สามารถยังใช้ชีวิตอยู่ได้ทั้งในช่วงน้ำแล้งและน้ำท่วมนั่นเอง
แนวทางที่ 3 เป็นแนวทางที่ใช้เทคนิคทางวิศวกรรมชลประทานในการควบคุมน้ำไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ทำความเข้าใจวัฏจักรธรรมชาติ และใช้ความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์ เพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในยุคนี้ให้ได้