สังเกตกันไหมคะว่า…สังคมไทยมีประเด็นดรามาต่าง ๆ นานา เป็นข่าวกันอยู่ทุกวัน
จนเกิดปรากฎการณ์คำว่า “ทัวร์ลง” ซึ่งก็คือการที่ผู้เล่นหรือผู้ใช้สื่อดิจิทัลสมัยใหม่เข้ามาแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคมขณะนั้น แล้วข้อความนั้นก็จะกระตุ้นให้ชาวเน็ตแห่ลากกันเข้าไปแสดงความคิดเห็น มีทั้งความเห็นสนับสนุน ความเห็นขัดแย้ง ความเห็นก่อกวน หลากหลายปนเป ทะเลาะกันไปมาบนสื่อสังคมออนไลน์ แม้ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจะมารวมตัวโดยมิได้นัดหมายกัน แต่หากความเห็นในโลกโซเชียลเทไปทางไหน กลุ่มคนก็จะมีแนวโน้มจะทำตามกัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่งที่กลุ่มคนมีพฤติกรรมไปในทางเดียวกัน มีคิดทำนองเดียวกัน และสนับสนุนความเห็นแบบเดียวกัน
“ทัวร์ลง” จึงเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือ หรืออาวุธของชาวโซเชียลที่รวมกลุ่มกันได้เป็นกลุ่มใหญ่ มีพลังมากพอที่จะบังคบให้ผู้ที่กำลังตกเป็นเป้าหมาย ได้รับแรงกดดันมากจนต้องยอมปฏิบัติตามความต้องการของคณะทัวร์ ส่งผลกระทบ และสะเทือนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน บางเรื่องก็เป็นเรื่องราวที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่บางเรื่องก็เป็นการคุกคามชีวิตมนุษย์ถึงกับเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลกันทีเดียว
การที่คนหมู่มากมารวมตัวกัน มักจะเกิดอุปทานหมู่ เกิดการยั่วยุ โน้มเอียงพฤติกรรม และจิตใจไปในทางเดียวกัน จนขาดการยับยั้งชั่งใจ อาศัยพวกมากเข้าว่าคือความถูกต้อง ไปถล่มฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่เห็นต่าง ก่อให้เกิดกระบวนการยุติธรรมแบบไม่เป็นทางการ ทั้ง ๆ ที่ชาวเน็ตเหล่านี้ ไม่ใช่ผู้รักษาความยุติธรรมตามกฎหมาย และไม่ได้มีหน้าที่พิสูจน์พยานหลักฐาน หรือข้อเท็จจริง เพียงแค่อาศัยความคึกคะนองบนโซเชียลพิพากษาผู้ที่กำลังตกเป็นประเด็นในสังคม
บางครั้ง กลุ่มคนเห็นต่างรู้สึกอึดอัดใจเมื่อต้องแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นพ้องกับคนหมู่มาก แต่ก็กลัวโดนทัวร์ลง เพราะหากว่าใครแสดงความเห็นต่างสวนกระแส กลุ่มคนหมู่มากที่เห็นพ้องกันก็พร้อมจะต่อว่าพวกเห็นต่าง เหมารวมคนเห็นต่างเป็นพวกเดียวกับเป้าหมาย ซึ่งกว่าความจริงจะปรากฏ บุคคลนั้นก็ได้รับผลกระทบ และหากร้ายแรงก็สูญเสียสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตไปมากมาย แม้จะไม่ใช่ร่างกาย แต่อาจเป็นความเชื่อมั่นต่อตนเอง
ปัจจุบันผู้คนในสังคมเข้าถึงโลกของข้อมูลข่าวสารได้อย่างง่ายดาย ไม่ได้มีเพียงแค่สื่อหลักของภาครัฐ และภาคเอกชน ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากพลิกบทบาทสร้างตัวขึ้นมาเป็นสื่อ เพื่อให้ได้มาซึ่งความนิยม เรียกร้องความสนใจ หรือเม็ดเงิน จึงมีการลงข่าวดรามาตามกระแสเพื่อเรียกยอดวิวการเข้าชม และโฆษณา ทำให้ทุกวันนี้สื่อมวลชนก็ยากที่จะรักษาดุลสัมพันธ์ระหว่างจริยธรรมกับรายได้
กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ระบุว่ามีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยการใช้เทคโนโลยีในการกระทำความผิดมากขึ้น จากสถิติการเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. ปี 2561-2564 พบว่า สิ่งที่ประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ได้แก่ ความผิดฐานหมิ่นประมาทจากการให้ร้ายกันในสื่อสังคมออนไลน์ ในปัจจุบัน ปี 2567 คดีเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์ หรือคดีเกี่ยวกับ พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ก็ยังคงเป็นคดีที่มีสถิติการแจ้งความในปริมาณที่สูง เนื่องมาจากประชาชนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น การโพสต์ การแสดงความคิดเห็น การส่งต่อข้อมูลที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายจึงมีมากขึ้น ซึ่งปริมาณคดีที่มากขึ้นดังกล่าว ส่วนใหญ่ก็ล้วนสืบเนื่องมาจากผลกระทบของทัวร์ลง
ทุกคนอย่าลืมนะคะว่า โลกโซเชียลเป็นเพียงโลกเสมือนจริง ไม่ใช่โลกที่แท้จริง เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร หน้าตาแบบไหน มีภูมิหลังที่มาอย่างไร ข้อเท็จจริงประการใดบ้าง อย่าเชื่อแรงยั่วยุบนอินเทอร์เน็ต หลงระเริงเพียงชั่วครู่ขณะไปกับความสนุกที่ได้ซ้ำเติมคนอื่น ดังนั้น พึงต้องระวังและมีสติ รู้ทัน รู้จักคิด ไม่เผลอใจไปกับอคติ ด้วยการสานต่อ ก่อความแค้นกับคนที่ไม่รู้จัก สร้างวาทกรรมต่อกันละกัน หรือแตกหักความสัมพันธ์อันดีเพียงเพราะคิดเห็นไม่ตรงกันในเรื่องที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตผ่านโลกโซเชียล
……เรามาใช้โลกโซเชียลในเชิงบวกกันดีกว่า เช่น คอมเมนต์ถึงประเด็นหรือบุคคลอื่นอย่างเป็นกลางด้วยความเมตตา งดตอบโต้โลกออนไลน์ด้วยวาจาหยาบคาย พึงตระหนักใช้คำสุภาพอย่างสม่ำเสมอ หรือใช้สื่อออนไลน์เพื่อการศึกษาหาความรู้ การท่องเที่ยว และสุขภาพ เป็นต้น เพียงเท่านี้เราก็จะเป็นผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ ·มีคุณธรรม และตั้งมั่นอยู่บนกฎหมายบ้านเมือง