พลังงานเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบัน และแหล่งพลังงานที่ดีควรมาจากทรัพยากรที่สะอาด ไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายของ COP 29 ที่จะทำให้ทั่วโลกใช้พลังงานสะอาด ซึ่งนอกจากทั่วโลกจะพยายามทดแทนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดแล้ว ในตอนนี้ยังมีการตีมูลค่า “ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม” จากการใช้พลังงานไม่สะอาดด้วย เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ใช้จะต้องรับผิดชอบต่อการใช้พลังงานที่ไม่สะอาดเหล่านั้น ขณะเดียวกัน ทั่วโลกก็เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟ เพื่อลดการใช้พลังงาน นับว่ามนุษย์ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานสะอาดแล้ว แต่บทความนี้ อยากจะชวนช่วยกันคิดว่า…มันจะดีกว่าไหม!? ถ้าหากว่าเราสามารถผลิตพลังงานใช้ได้เอง ถือเป็นการผลิตและใช้ในวงจรเดียวกัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลย ตามแนวคิด Net Zero Energy
แนวคิดการผลิตและประหยัดพลังงาน ได้รับความนิยมและแพร่กระจายไปทุกวงการ รวมทั้งผู้พัฒนาอาคารที่อยู่อาศัยด้วย ผู้พัฒนาอาคารที่อยู่อาศัยไม่ได้คิดแค่เรื่องการลดการใช้พลังงานระหว่างการใช้อาคารเท่านั้น แต่ครอบคลุมตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างอาคาร ที่จะต้องเลือกใช้วัสดุและวิธีการก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ลดระยะเวลาการก่อสร้างที่หน้างานให้น้อยที่สุด เตรียมวัสดุอุปกรณ์จากโรงงานผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปประกอบและติดตั้งจนสำเร็จ …ทั้งหมดนี้ดำเนินการไปโดยต้องวางแผนอย่างดีเรื่อง “เวลา” เพราะยิ่งใช้เวลาน้อยเท่าใด ก็จะสิ้นเปลืองพลังงานน้อยลงเท่านั้น
แน่นอนว่าอาคารขนาดใหญ่มีแนวโน้มจะใช้พลังงงานสูง โดยเฉพาะจากการใช้เครื่องปรับอากาศ แต่เมื่อนึกดูดี ๆ แล้ว หัวใจสำคัญของการปรับอากาศ คือ การต่อสู้กับอุณหภูมิภายนอกอาคาร หากเปลือกอาคารไม่สามารถลดความแตกต่างของห้องภายในอาคารได้ ก็จะทำให้เครื่องปรับอากาศยิ่งทำงานหนัก และสิ้นเปลืองพลังงานอย่างมาก ดังนั้น การเลือกใช้วัสดุที่เป็นเหมือน “เปลือก” ของอาคาร ทั้งผนัง ประตู และหน้าต่างจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอาคารที่ต้องการเข้ากรอบ NZEB ( Net Zero Energy Building) หรือ “อาคารพลังงานสุทธิเป็นศูนย์” ที่จะเป็นมาตรฐานอาคารใหม่ของโลกในยุคที่การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่
การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม หรือแม้แต่การใช้ความร้อนจากใต้พิภพเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานให้กับอาคาร เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการสร้างอาคารให้เป็นมิตรกับธรรมชาติ และเมื่อปริมาณพลังงานที่ผลิตได้เท่ากับการใช้พลังงานอย่างประหยัด ก็จะถือว่าการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ และหากลดการใช้พลังงานได้น้อยกว่าพลังงานที่ผลิตได้ ด้วยการให้ผู้ใช้งานอาคารปรับพฤติกรรมอย่างเต็มใจ นั่นหมายความว่า…นอกจากอาคารจะเป็นพื้นที่ใช้สอยแล้ว ยังสามารถมี function เสริมด้วยการเป็นแหล่งผลิตพลังงานให้กับเมือง แจกจ่ายไฟฟ้าให้กับชุมชนรอบข้างได้ โดยมีระบบไฟฟ้าและการกักเก็บพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตและใช้ไฟฟ้า
หากจะสร้างอาคารให้ตอบโจทย์ความต้องการพลังงานในชุมชนได้ ต้องคำนึงถึงเรื่อง “ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า” ในอาคารแต่ละช่วงเวลาด้วยว่าจะระดับความต้องการมากหรือน้อยแตกต่างกันตามประเภทของอาคาร เช่น อาคารสำนักงานจะมีการใช้งานช่วงเวลากลางวันสูง ในขณะที่ที่พักอาศัยจะเป็นช่วงหัวค่ำถึงกลางคืน แต่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้หุ่นยนต์ในการผลิตสามารถทำงานได้ในช่วงเวลากลางคืน ที่พลังงานทางเลือกจากการผลิตได้ก็จะเป็นการบริหารจัดการพลังงานระหว่างย่านธุรกิจ ย่านพาณิชยกรรม ย่านที่อยู่อาศัย และย่านอุตสาหกรรมในระดับเมือง โดยมีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า เป็นแหล่งผลิตและกระจายไฟฟ้าไปสู่ผู้ต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง และเป็นธรรม
ประเทศไทยวางแผนและเริ่มต้นใช้แนวคิดนี้แล้ว เพราะกระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีนโยบายภายใต้แนวคิด TPA (Third party access) ให้ภาคเอกชนที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของผู้ผลิตพลังงานให้กับผู้ที่ต้องการจะใช้ โดยใช้ระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าเป็นศูนย์กระจาย ส่งพลังงาน นโยบายนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดด้านการผลิต ใช้ และกระจายแหล่งพลังงาน ให้ตอบรับกับแนวคิดความยั่งยืนการใช้พลังงาน เพื่อการและผลิตและใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับสังคมไทย ที่ต้องก้าวสู่การเป็นสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้