ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้แสดงบทบาทสำคัญในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลก ด้วยการขยายการลงทุนและการค้ามากขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และเป็นตลาดสำคัญสำหรับการค้าระหว่างประเทศ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของจีนในลาตินอเมริกายังส่งผลต่อความสัมพันธ์เชิงภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐฯที่มีอิทธิพลในภูมิภาคนี้มายาวนาน ดังนั้น การเข้ามาของจีนจึงเป็นการท้าทายอำนาจเดิมของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน
จีนได้เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับหลายประเทศในลาตินอเมริกา มุ่งเน้นการลงทุนไปที่ในโครงสร้างพื้นฐาน การซื้อทรัพยากรธรรมชาติ และการส่งเสริมการค้าระหว่างกัน การลงทุนรายใหญ่ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของลาตินอเมริกาของจีน เช่น การสร้างถนน สะพาน ท่าเรือ และเครือข่ายพลังงาน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคและเสริมศักยภาพในการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติไปยังจีน เช่น โครงการสร้าง เขื่อน Coca Codo Sinclair ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในเอกวาดอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของเอกวาดอร์ และเป็นแหล่งผลิตพลังงานที่สำคัญ คิดเป็นประมาณ 30% ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในเอกวาดอร์ นอกจากนี้ จีนยังมุ่งเน้นการลงทุนในภาคพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เวเนซุเอลาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของประเทศที่พึ่งพาการลงทุนจากจีนอย่างมาก เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงาน แม้ว่าจะมีปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมือง
การค้าและการพึ่งพาซึ่งกันและกัน
จีนได้ก้าวขึ้นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของหลายประเทศในลาตินอเมริกา โดยเฉพาะในบราซิล ชิลี และอาร์เจนตินา ลาตินอเมริกาส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมหาศาลไปยังจีน เช่น ถั่วเหลือง น้ำมัน ทองแดง และลิเทียม ในทางกลับกัน จีนส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักร ยานพาหนะ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปยังภูมิภาคนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าแบบนี้ทำให้จีนกลายเป็นหุ้นส่วนที่ขาดไม่ได้ของลาตินอเมริกา โดยเฉพาะในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของจีน
โครงการ Belt and Road Initiative (BRI)
ถึงแม้ว่าโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) จะเริ่มต้นในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป แต่จีนได้ขยายแนวคิดนี้มายังลาตินอเมริกาเช่นกัน หลายประเทศในภูมิภาค เช่น ชิลี เปรู และโบลิเวีย ได้เข้าร่วมความร่วมมือภายใต้ BRI การที่จีนสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานผ่าน BRI ทำให้จีนสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับประเทศเหล่านี้ ในขณะเดียวกัน ก็เพิ่มการพึ่งพิงจีนในด้านเงินทุนและเทคโนโลยี
ผลกระทบต่อสหรัฐฯ
บทบาทที่เพิ่มขึ้นของจีนในลาตินอเมริกาไม่ได้ส่งผลเพียงต่อภูมิภาคนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยที่ท้าทายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในหลายมิติ ลาตินอเมริกาเคยถูกมองว่าเป็น “สนามหลังบ้าน” ของสหรัฐมานาน เนื่องจากความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นในอดีต อย่างไรก็ตาม การที่จีนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคนี้ได้ลดทอนความสำคัญของสหรัฐฯ ในสายตาของประเทศลาตินอเมริกาไปบางส่วน ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและลาตินอเมริกา โดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุน ทำให้ประเทศในภูมิภาคหันไปพึ่งพาจีนมากขึ้น แทนที่จะพึ่งพาสหรัฐฯ เหมือนในอดีต
การแข่งขันด้านเศรษฐกิจ
สินค้าจากจีนที่มีราคาถูกกว่าและการแข่งขันด้านเศรษฐกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดลาตินอเมริกา ทำให้สินค้าสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนของจีนในโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคยังช่วยสร้างเครือข่ายการค้าและโลจิสติกส์ที่ทำให้จีนได้เปรียบในเชิงเศรษฐกิจ นอกจากจีนจะเข้ามาลงทุนในด้านของสินค้านำเข้าแล้วนั้น ยังรวมไปถึงการให้เงินกู้แก่ประเทศต่าง ๆ ในด้านการลงทุนอีกด้วย จึงนับว่าเป็นการขยายเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัดในภูมิภาคลาตินอเมริกา
ผลกระทบด้านภูมิรัฐศาสตร์
สหรัฐฯ มองการขยายอิทธิพลของจีนในลาตินอเมริกาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนลงทุนในโครงการที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เช่น ท่าเรือ สนามบิน หรือระบบโทรคมนาคม สหรัฐฯ กังวลว่าจีนอาจใช้โครงการเหล่านี้เป็นฐานในการเสริมสร้างอิทธิพลทางการเมืองและความมั่นคง นอกจากนี้ การที่บางประเทศในลาตินอเมริกาได้รับเงินกู้จำนวนมหาศาลจากจีน อาจนำไปสู่สถานการณ์ “กับดักหนี้สิน” ซึ่งจีนสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มอำนาจต่อรองในด้านต่าง ๆบทบาทของจีนในลาตินอเมริกาด้านเศรษฐกิจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิภาคนี้ ลาตินอเมริกาพึ่งพาจีนในหลายมิติ ในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อความสัมพันธ์เชิงภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง จากความสัมพันธ์ที่พึ่งพามากขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างจีนกับลาตินอเมริกา และสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในระบบระเบียบโลก ที่มหาอำนาจใหม่อย่างจีนกำลังท้าทายสถานะเดิมของสหรัฐอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง