เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือภูมิภาคที่ประเทศไทยเราตั้งอยู่นี้ ถือว่าเป็นจุดได้รับความนิยมอย่างมากจากนักลงทุนต่างประเทศที่สนใจพัฒนาอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เห็นได้จากการที่บบริษัทผู้พัฒนารายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Nvidia ผู้ให้บริการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และกราฟิกของสหรัฐฯ หรือ Microsoft ผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก ต่างก็ทยอยเดินทางเข้าไปดูงานกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเตรียมทุ่มทุนสร้างศูนย์บริการคลาวด์และการเก็บข้อมูล (data) ขนาดใหญ่กันแล้ว โดยทาง Nvidia เลือกลงทุนที่เวียดนาม ส่วน Microsoft เลือกมาเลเซียเป็นฐานการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ในภูมิภาคต่อไป
เหตุผลที่เชิญชวนให้ทั้ง 2 บริษัทตกลงที่จะลงทุนในภูมิภาคนี้ เป็นเพราะประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการเทคโนโลยีของพวกเขามากที่สุด โครงสร้างประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม middle-class ที่มีกำลังซื้อและนิยมใช้การเทคโนโลยี ทั้งการสตรีมเกมส์ออนไลน์ ชอปปิ้งออนไลน์ และการใช้งานปัญญาประดิษฐ์เพื่อผลิตข้อมูล (generative AI) เท่ากับว่าเป็นตลาดใหญ่ และมีกลุ่มผู้ใช้งานพร้อมทดลองนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ
บรรยากาศการลงทุนที่คึกคักขึ้นมาในปี 2567 นี้ ทำให้เราสงสัยว่า นี่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาคเนย์ของเรากำลังเข้าใกล้การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยี AI แล้วจริงหรือไม่! และในปี 2568 จะเป็นอย่างไร? แม้ว่าบริษัทขนาดใหญ่จากต่างประเทศจะสนใจลงทุนพัฒนา AI และเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลับมีข้อมูลที่เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการและบริษัทรายเล็กในภูมิภาคอาจจะไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้สักเท่าไรเพราะอัตราการเติบโตและกำไรของผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคที่ดำเนินธุรกิจ AI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น น้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ อยู่หลายเท่าตัวทีเดียว !!…
จากการสำรวจของบริษัท Preqin ที่เป็นผู้ให้บริการข้อมูลการลงทุนภาคเอกชน ระบุว่า การลงทุน AI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2567 มีมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากข้อตกลงประมาณ 122 ฉบับ คิดเป็นเกือบร้อยละ 2 ของการลงทุนด้าน AI ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทั้งหมดเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้วการลงทุนด้าน AI ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีมากถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากข้อตกลงทั้งหมดมากกว่า 1,800 ฉบับ…เท่ากับว่า มูลค่าการลงทุนของบริษัทใหญ่ ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นยังน้อยมาก หากเทียบกับกิจกรรมการลงทุนของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่มีการลงทุนมากถึง 68,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
สาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กในภูมิภาค หรือบริษัทประเภท homegrown company ยังเติบโตและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศสู้ที่อื่นไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลาย ๆ ประเทศที่ยังไม่สามารถ “ยกระดับ” ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว มีเพียงสิงคโปร์ที่โดดเด่นในเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถด้าน AI ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี และระบบเศรษฐกิจในประเทศให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันได้ จนได้รับการประเมินให้อยู่ในอันดับ 3 ในรายงาน Global AI Index 2024 ของบริษัท Tortoise ส่วนประเทศอื่น ๆ อย่างไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ยังมี “ความหลากหลาย” มากทั้งระบบเศรษฐกิจ ระดับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งเรื่องทรัพยากรมนุษย์ จนกลายเป็นความท้าทายของนักลงทุนต่างชาติ ที่ยังเคลือบแคลงสงสัยว่าผู้ประกอบการในประเทศจะพร้อมรับการลงทุนหรือไม่!?
จากข้อมูลเหล่านี้อาจทำให้สรุปได้เบื้องต้นว่า การที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนา AI และศูนย์กลางข้อมูล (data) ของโลก อาจจะยังต้องรอเวลา เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ช่วยกันส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคกันก่อน แม้ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย ตื่นตัวกันอย่างเต็มที่เรื่องการพัฒนาและใช้งาน AI กันแล้ว รวมทั้งจัดทำกรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการใช้ AI ในระดับชาติ แต่นักลงทุนต่างชาติกำลังต้องการให้ประเทศต่าง ๆ หันมาร่วมมือและมีกรอบการพัฒนาร่วมกันมากกว่าต่างคนต่างทำ !! เพราะเมื่อแต่ละประเทศมี agenda หรือเป้าหมายการพัฒนาที่แตกต่างกัน ก็จะยังไม่สามารถตอบโจทย์นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการ “มาตรฐาน” และความสะดวกสบาย
ถ้าสงสัยว่าแล้วเรายังต้องรอเวลากันอีกนานเท่าไหร่!? ..ในปี 2568 จะมีความคืบหน้าหรือไม่ หรืออาจจะใช้เวลา 5-10 ปี หรือจนกว่าระบบนิเวศน์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้ AI ของประเทศต่าง ๆ จะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่เป็นพระเอกของเรื่องนี้ รวมทั้งการออกกฎระเบียบโดยรัฐบาล นโยบายสนับสนุน และผู้ใช้งานหรือกลุ่มลูกค้าที่พร้อมจะกระโดดไปโลดแล่นและใช้โอกาสจากความนิยมในการพัฒนา AI ให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์มากที่สุด เมื่อ ecosystem มีความพร้อม…เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะทุ่มเทงบประมาณมหาศาลและพร้อมแชร์นวัตกรรมให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้ใช้พัฒนาตัวเองต่อไปมากขึ้นอย่างแน่นอน แต่เราก็อยากจะเห็นความคืบหน้าบ้างในปี 2568 …..