โลกจะร้อน จะเดือด จะรวน เพิ่มขึ้นหรือไม่ในในปี 2568 ? เป็นคำถามที่แวดวงสภาวะแวดล้อมทั่วโลกรู้คำตอบอยู่แล้วว่าค่อนข้างออกมาเชิงลบ เพราะว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะดำเนินนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ สวนทางกับรัฐบาลประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนที่จะสิ้นสุดการเป็นประธานาธิบดี ในวันที่ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง (20 มกราคม 2568) ทำไมนโยบายเรื่องนี้ของโลกเรา ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ก็เพราะต้องอาศัยความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในการขับเคลื่อน และสหรัฐฯ ก็เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก (อันดับ 1-3 ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และอินเดีย) ด้วยเช่นกัน
สถานะภาวะโลกรวนตอนนี้เป็นอย่างไร ? ทำให้โลกของเราน่ากังวลเป็นอย่างมากไหม ? …..รายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ที่เสนอต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change: COP) ครั้งที่ 29 หรือ COP29 ที่อาเซอร์ไบจาน เมื่อพฤศจิกายน 2567 ระบุว่าปี 2567 เป็นปีที่อุ่นที่สุด เนื่องจากระดับของสภาวะเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลก็สูงขึ้น และอยู่ในระดับคำเตือนสีแดงเลยทีเดียว
นโยบายเกี่ยวกับการลดภาวะโลกร้อน โลกรวน โลกเดือดที่รัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะดำเนินการปี 2568 น่าจะเป็นไปตามที่ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทำตามนโยบายที่ใช้หาเสียง เช่น จะกลับมาสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จะขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อดำเนินนโยบายพลังงานอย่างเป็นอิสระ และอาจจะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสปี 2558 ที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศอีกครั้ง เช่นเดียวกับที่เคยประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกเมื่อปีแรกในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกเมื่อปี 2560 (ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน นำสหรัฐฯ กลับเข้าเป็นสมาชิกข้อตกลงเมื่อปี 2564)
รัฐบาลทรัมป์ 2.0 ยังอาจลดการจัดสรรงบประมาณ เพื่อลดภาวะเรือนกระจกตามกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) ปี 2565 ที่ส่วนหนึ่งของกฎหมายนี้ในสมัยประธานาธิบดีไบเดนให้การสนับสนุนงบประมาณการลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด ทั้งนี้ ในระดับโลก จีนยังครองตำแหน่งประเทศที่ลงทุนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก จีนประมาณไว้ว่าในปี 2567 จะลงทุนด้านนี้ จำนวน 675 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ยุโรปจะลงทุนเป็นอันดับ 2 370 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 3 คือสหรัฐฯ จะลงทุนจำนวน 315 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โลกจะยังรวนก็เพราะสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle ในสหรัฐฯ ลดลงในปี 2568 เช่นกัน แม้เหตุผลที่อ้างเกี่ยวกับเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากมีรายงานเมื่อกลางธันวาคม 2567 ว่า ทีมงานของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์เสนอให้มีการลดการอุดหนุนอุตสาหกรรม EV และสถานีชาร์จรถ EV เพื่อสกัดกั้นการนำเข้าแบตเตอรี่ สินค้าที่เกี่ยวข้องในการผลิตแบตเตอรี่ และรถ EV จากจีนที่จีนมีนโยบายให้การอุดหนุนการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อส่งเสริมยอดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทีมงานของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเสนอให้มีการเพิ่มภาษีวัสดุที่เกี่ยวกับเกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ แต่หากเป็นพันธมิตรพูดคุยกันได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการสนับสนุนให้มีการผลิตแบตเตอรี่ในสหรัฐฯ ด้วย และเงินที่จ่ายค่านำเข้าแบตเตอรี่ สหรัฐฯ จะนำไปใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศดีกว่า
ดูแล้ว เหตุผลที่รัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะไม่ค่อยสนับสนุนการลดสภาวะโลกร้อน โลกรวน โลกเดือดก็เป็นเพราะไม่ค่อยเชื่อในสภาวะโลกร้อนด้วยส่วนหนึ่ง แต่นัยที่ซ่อนไว้ก็คือเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ ต้องการลดอิทธิพลของจีนที่ครอบงำ mineral supply chain ของโลก รวมทั้งในสหรัฐฯ รัฐบาลทรัมป์ 2.0 จึงต้องการเปลี่ยนมาเป็น พึ่งพาตนเองในเรื่องนี้ให้ได้ บทความของ World Economic Forum ที่เผยแพร่เมื่อกลางพฤศจิกายน 2567 ยืนยันถึงบทบาทของจีนในการครอบงำ mineral supply chain ของโลกว่า จีนเป็นผู้นำเข้าแร่ธาตุอันดับ 1 ของโลก และเป็นเจ้าของเทคโนโลยีแปรรูป และสกัดแร่ธาตุที่ทันสมัยที่สุดในโลก จนสามารถส่งออกและครอบครองแร่ธาตุสำคัญไปยังประเทศต่าง ๆ ของโลก นั่นก็คือจีนมีแร่ธาตุสำคัญ ๆ เป็นอาวุธในการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศ และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เฉพาะอย่างยิ่งแร่ธาตุสำคัญ ๆ ที่ไว้ผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถ EV