Food waste หรือขยะอาหารปริมาณมาก …ยังเป็นปัญหาที่สะท้อนความล้มเหลวในการบริหารจัดการทรัพยากรไปจนถึงปี 2568 และต่อไปอีกหลาย ๆ ปี ในขณะที่มีอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก แต่ก็มีประชากรที่ขาดแคลนหรือไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้กว่า 800 ล้านคน อาหารเหลือทิ้ง เน่าเสีย และไม่ได้ถูกบริโภค ถูกทิ้งเป็นขยะทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 1.3 พันล้านตันต่อปี นอกจาก Food waste แล้ว ก่อนที่จะมาถึงขั้นตอนการบริโภค ก็ยังมีขยะอาหารที่ถูกทิ้งไว้ตลอดระยะทางระหว่างการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ขนส่ง จนเป็น Food loss หรือการสูญเสียอาหารเกิดขึ้นก่อนที่อาหารจะถึงผู้บริโภค เช่น กระบวนการเพาะปลูกและแปรรูปทำให้สูญเสียผลผลิตไปไม่ต่ำกว่า 50% เพียงเพราะแค่ดูไม่สวยงาม หรือน่ารับประทานเท่านั้นเอง
ตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูก สิ่งสำคัญที่เกษตรกร รวมทั้งนักลงทุนต้องคิด คือ อัตราการงอกของต้นพืชผักออกจากเมล็ด มีการป้องกันความเสี่ยงด้วยการหยอดเมล็ดพันธุ์ 2-3 เมล็ดต่อ 1 หลุมเพาะ เพื่อรับประกันอัตราการงอก 100% และหากเป็นเมล็ดพันธุ์นั้น มีความสมบูรณ์งอกขึ้นมา 2 ต้น ก็ต้องคัดเลือกต้นที่ดูอ่อนแอทิ้งไป เหลือต้นที่สมบูรณ์ที่สุดได้เจริญเติบโตต่อไป จนเริ่มผลิตดอกและออกผล แต่!!…ใช่ว่าดอกที่ติดผลทุกลูกจะมีโอกาสได้เจริญเติบโตต่อไป สำหรับพืชบางชนิด จะต้องคัดลูกทิ้งไปเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ 1-2 ลูกต่อต้น ทำให้มีผลอ่อนจำนวนมากถูกทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์
เมื่อถึงการเก็บเกี่ยว ผลผลิตบางส่วนจะถูกทิ้งไว้ที่แปลง ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมาจะถูกคัดแยกขนาดให้ได้ตามมาตรฐาน ดังนั้น พืชผักหรือผลไม้ที่มีขนาดเล็กเกินไป หรือใหญ่เกินไปก็จะถูกคัดทิ้งไม่ต่ำกว่า 30% และเมื่อสู่กระบวนการถัดไปคือการขนส่ง ความเสียหายระหว่างการขนส่งก็จะทำให้สูญเสียผลผลิตไปอีก หลังจากนั้นผลผลิตก็จะสูญเสียไปอีกประมาณ 15% เมื่อเข้าสู่กระบวนการล้างและตัดแต่งผลผลิตให้สวยงาม ก่อนบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ เพื่อส่งขึ้นตู้แช่โชว์ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อ จะเห็นได้ว่า มีผลผลิตสูญเสียไประหว่างการเก็บเกี่ยวสู่มือผู้บริโภคเกือบ 50% ของปริมาณผลผลิต เพียงเพราะขนาดที่ไม่ตรงมาตรฐานและเพื่อความสวยงาม น่ารับประทาน ทั้งที่ผลผลิตในส่วนที่สูญเสียไปนั้นยังสามารถบริโภคได้ ทั้งนี้ ก่อนจะ Food waste เกิด Food loss ไปแล้ว 50% และก่อนปรุงก็จะต้องมีการหั่นชิ้นส่วน ตัดรากทิ้ง ตัดก้านแข็ง เด็ดใบทิ้ง ก็จะมีของเหลือระหว่างการปรุงอีกประมาณ 20% จึงจะได้อาหารหนึ่งจานสู่ผู้บริโภค และพอถึงผู้บริโภคก็ผ่านกระบวนการบริโภคเหลือจนเป็น Food waste อีก
กระบวนการ Zero waste น่าจะช่วยลดปัญหานี้ลงได้ ไม่ใช่เพียงแค่นำเศษผักผลไม้ไปทำปุ๋ย หรือเลี้ยงสัตว์ แต่ต้องมีการจัดการตั้งแต่ขั้นตอนการขนส่งหรือแปรรูป เพื่อให้อาหารเหล่านี้สามารถไปถึงผู้บริโภคได้ทุกระดับ รวมไปถึงกระบวนการแปรรูป เพื่อลด Food loss ตั้งแต่การคัดแยกผลผลิตที่มีขนาดไม่ตรงตามมาตรฐาน ให้สามารถนำไปขายยังช่องทางอื่น ๆ หรือทำการแปรรูป หรือตัด/หั่นเป็นอาหารพร้อมรับประทาน เเพื่อให้ขนาดไม่มีผลต่อการซื้อขาย รวมถึงทำการแปรรูปเพื่อถนอมอาหารให้เก็บไว้นานขึ้น
หากในปี 2568 มีการผลักดันกระบวนการ Zero waste อย่างจริงจัง ด้วยการปรับใช้ และเพิ่มองค์ความรู้ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีลงเข้าไปเสริมในกระบวนการเก็บเกี่ยวตั้งแต่ขั้นตอนแรก ๆ ส่วนการขนส่งก็ต้องป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น เสริมด้วยกับการสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคแบบ Zero mile ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อลดความสูญเสียของผลผลิตจากการขนส่ง และช่วยลด carbon footprint ไปพร้อม ๆ กันด้วย ก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาความหิวโหย (Zero hunger) ได้ และก็น่าจะทำให้ในปี 2568 มีความคืบหน้าในการผลักดันไปสู่หนึ่งของเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ให้กับโลกได้