มาเลเซียเริ่มเป็นประธานอาเซียนในปี 2568 แล้ว เมื่อ 1 มกราคม 2568 และจะสิ้นสุดใน 31 ธันวาคม 2568 การเป็นประธานอาเซียนจะหมุนเวียนตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ วาระละ 1 ปี ไทยเป็นประธานอาเซียนครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 ต่อด้วยเวียดนาม 2563 และปี 2564 บรูไน และส่งไม้ต่อให้กัมพูชาในปี 2565 อินโดนีเซียในปี 2566 สปป.ลาวในปี 2567 และมาเลเซียในปี 2568 ฟิลิปปินส์ที่จะเป็นประธานอาเซียนแทนเมียนมาในปี 2569 สำหรับมาเลเซียเป็นประธานอาเซียนในปี 2568 นี้ เป็นครั้งที่ 5 (ปี 2550 2540 2548 และ2558)
หากจะว่าไปตามหลักการแล้ว การดำเนินการและบทบาทของอาเซียนในปี 2568 ก็มีกฎบัตรอาเซียนในการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว และมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ASEAN Unity และ ASEAN Centrality รวมทั้งยังมี 3 เสาหลักในการทำงาน เพื่อทำให้การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนบรรลุผลสำเร็จ ได้แก่ เสาที่ 1 ประชาคมการเมืองและความมั่นคง (ASEAN Political-Security Community -APSC) เสาที่ 2 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community -AEC) และเสาที่ 3 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ( ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC)
แต่อาเซียนในปี 2568 ก็ต้องเชิญกับความท้าทายต่อความเป็น unity และ centrality และ prosperity เหมือนกับกันทุก ๆ ปี ไม่ว่าประเทศใดจะหมุนเวียนกันเป็นประธานอาเซียน แต่ลำดับของความสำคัญของปัญหาที่จะต้องเร่งร่วมมือกัน จะแตกต่างกันไปในแต่ละปี ซึ่งในปี 2568 สิ่งท้าทายที่อาเซียนจะต้องรับมือ ได้แก่
1) ประเด็นเมียนมา เป็นสิ่งท้าทายที่จะอยู่ในอันดับต้น ๆ มาเลเซียที่รับไม้ต่อในการเป็นประธานอาเซียนต่อจาก สปป.ลาว ต้องร่วมผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม บนหลักการไม่เป็นการแทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน และหลักฉันทามติ 5 ข้อ หรือ 5 Point Consensus ของอาเซียนจะยังคงเป็นแนวทางที่อาเซียนใช้เพื่อให้เกิดพัฒนาการในการแก้ไขปัญหาเมียนมา เมื่อปลายปี 2567 ก็มีความคืบหน้าเกี่ยวกับเมียนมา โดยการประชุมที่กรุงเทพฯ เมื่อ 19 ธันวาคม 2567 นายตาน ฉ่วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาระบุถึงแผนงานการเมืองในเมียนมา และการเตรียมจัดการเลือกตั้งในปี 2568 และตั้งใจจะเชิญสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศ เช่นจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่ประชุมอีกกรอบหนึ่งกับบางประเทศในอาเซียน เมื่อ 20 ธันวาคม 2567 ระบุว่า ผู้แทนจากเมียนมาจะเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 และทิ้งท้ายไว้น่าสนใจว่าเมียนมาจะเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องของตนเอง
2) การรับมือกับภูมิรัฐศาสตร์โลกของอาเซียนที่ต้องรักษาดุลอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่จะแข็งกร้าวใส่กันมากขึ้น เพราะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่บริหารประเทศตั้งแต่ 20 มกราคม 2568 จะลดทอนอิทธิพลจีนลงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นอกจากนี้ ยังมีมหาอำนาจอื่น ๆ อีกที่เข้ามามีบทบาทในอาเซียน เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เป็นต้น และต้องยอมรับว่าสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศก็มีระดับความใกล้ชิดกับประเทศมหาอำนาจทั้งสองแตกต่างกัน
3) ประเด็นอื่น ๆ เช่น การรับประเทศลิมอร์-เลสเต เป็นสมาชิกลำดับที่ 11 การร่วมกันผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนจากที่เศรษฐกิจโลกในปี 2568 อาจไม่ค่อยสดใส ปัญหาในทะเลจีนใต้ที่สมาชิกอาเซียนบางประเทศต่างก็อ้างในกรรมสิทธิ์ และยังต้องขัดแย้งกับจีน รวมทั้งภัยคุกคามอื่น ๆ ที่จะต้องร่วมมือในการรับมือ เนื่องจากประเทศเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ภัยคุกคามทางไซเบอร์ การเติบโตอย่างรวดเร็วของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาโรคระบาด อาชญากรรมข้ามชาติ เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และกลุ่มคอลเซนเตอร์ เป็นต้น
สิ่งท้าทายดังกล่าว ทำให้สมาชิกอาเซียนก็ต้องร่วมมือร่วมใจ และรับผิดชอบร่วมกัน ขณะที่มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่เป็นประธานอาเซียนในปี 2568 นี้ ต้องนำพาอาเซียนของเรารับมือกับสิ่งท้าทายไปด้วยกันให้ได้ ภายใต้ธีมที่ว่า “Inclusivity and Sustainability” นอกจากนี้ มาเลเซียที่เป็นประธานอาเซียนปี 2568 ยังต้องเป็นผู้นำในการผลักดันวิสัยทัศน์อาเซียน ปี 2045 ที่อาเซียนต้องร่วมกันทำในช่วง 20 ปีข้างหน้าด้วย