NGOs (Non-Governmental Organisations) หรือที่เรารู้จักกันในภาษาไทยคือ องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ หรือองค์กรไม่แสวงผลกำไรต่าง ๆ ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะมีการบริหารงานแบบเอกชน ไทยมีจำนวน NGOs มากกว่าในสิงคโปร์ นั่นหมายความว่ามีอะไรบางอย่างที่ทำให้สิงคโปร์ไม่เป็นที่น่าดึงดูดเท่าไทยในด้านของการลงหลักปักฐานของ NGOs
จำนวน NGOs ในไทยล่าสุด โดยประมาณนั้นมีอยู่ถึง 25,085 องค์กร แบ่งเป็นองค์กรต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ 85 องค์กร และในประเทศกว่า 25,000 องค์กร ในขณะที่สิงคโปร์มีเพียงประมาณ 2,982 องค์กร สิ่งที่ทำให้ NGOs ทั้งหลายตั้งหลักปักฐานที่ไทยนั้น เป็นเพราะทางด้านกฎหมายที่มีความ “ยืดหยุ่น” มากกว่าสิงคโปร์มาก ทั้งด้านการจัดตั้ง และการตรวจสอบแหล่งเงินทุน
ที่ผ่านมา การทำงานของรัฐบาลสิงคโปร์เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการใช้กฎหมาย จัดระบบสังคมอย่างเคร่งครัด โดยรัฐบาลที่เป็นพรรคเดียวกันอย่างต่อเนื่องมาแทบจะโดยตลอด ซึ่งก็คือพรรค The People’s Action Party (PAP) ที่ครองเสียงข้างมากมาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากมาเลเซีย ทำให้สามารถกำหนดความเป็นไปของประเทศได้อย่างราบรื่น จำนวนและพื้นที่ของสิงคโปร์ก็น้อยกว่าไทยมาก รัฐบาลจึงสามารถสอดส่องและควบคุมการเกิดของ NGOs ได้ง่ายผ่านการสร้างความใกล้ชิดกับประชาชน ประกอบกับรัฐบาลสิงคโปร์ต้องการรักษาเสถียรภาพของพรรคและประเทศไว้ จึงระมัดระวังเป็นอย่างมากไม่ให้เกิดการต่อสู้ทางการเมือง หรือทำให้ประชาชนแตกแยกกันเอง ส่งผลให้มีความเข้มงวดต่อการจำกัดกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ ที่จะนำมาซึ่งความไม่สงบในสังคมได้
ในแง่มุมความเคลื่อนไหว NGOs ในสิงคโปร์นั้น ทำงานได้ยาก NGOs ที่มีจุดประสงค์ทางด้านสิทธิมนุษยชน การเมือง นโยบายสาธารณะ เสรีภาพของพลเมือง ต่อต้านรัฐบาล และเกี่ยวข้องกับประเด็นละเอียดอ่อน จะถูกรัฐบาลเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ทำให้ NGOs เกือบทั้งหมดในสิงคโปร์เป็นองค์กรที่เกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ สิ่งแวดล้อม การศึกษาและการพัฒนาทักษะ สุขภาพ และส่งเสริมการพัฒนาเยาวชน ซึ่งไม่ได้สร้างความเสี่ยงต่อการทำงานของรัฐบาลหรือเสถียรภาพของรัฐมากนัก
สิงคโปร์ยังมีกลไกทางกฎหมายที่สำคัญก็คือการใช้กฎหมายที่เรียกว่า “Political Donations Act” หรือกฎหมายการบริจาคทางการเมือง และ “Public Order Act” หรือกฎหมายความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์สามารถจัดการกับกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างครอบคลุม และรัดกุม องค์กรต่าง ๆ ทั้งจากในประเทศเองและจากต่างประเทศต้องหาทางหลีกเลี่ยงกฎหมายเหล่านี้
เมื่อกลับมาดูที่ประเทศไทย NGOs ช่องว่างทางกฎหมาย สภาพทางสังคม และสถานการณ์บ้านเมือง เปิดโอกาสให้องค์กรต่าง ๆ สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ การควบคุมโดยรัฐบาลไทยน้อยกว่าสิงคโปร์ เฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของเงินทุนซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก รัฐบาลไทยกำลังผลักดันร่างพระราชบัญญัติองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือ NPO Bill (Non-Profit Organisation Bill) เพื่อให้ NGOs ที่เคลื่อนไหวในประเทศ ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินทุนและรายรับ-รายจ่ายต่อสาธารณะ ซึ่งต้องไม่ใช้เงินที่ได้รับมาเพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะ “แสวงหาอำนาจรัฐ” หรือ “เอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง” (มาตรา 21) และต้องไม่กระทบกับความมั่นคงของรัฐและศีลธรรมอันดี กฎหมายที่กำลังร่างอยู่นี้ มีประเด็นถกเถียงอยู่พอสมควร แต่ต้องไม่ให้ขัดแย้งกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อไม่ให้ไทยถูกกล่าวหาว่าลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและองค์กรต่าง ๆ มากจนเกินไป
หากไทยมีการบังคับใช้กฎหมาย NPO อย่างจริงจัง น่าคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะ NGOs ส่วนใหญ่ในไทยนั้น มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้น และมีเครือข่ายที่กว้างขวางที่หยิบยกปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่จริง เช่น ปัญหาสังคม การเมือง และการลิดรอนสิทธิ ถึงแม้ไทยจะมีการเปิดเผยแหล่งเงินทุนให้ประชาชนทราบ แต่อาจจะไม่ได้ส่งผลให้ NGOs ลดความสำคัญหรือความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน ถ้า NGOs สามารถเข้ามาทำงานเติมเต็มในส่วนที่รัฐบาลดำเนินการได้ไม่ทั่วถึง และอย่าลืมว่า NGOs ขนาดใหญ่ ๆ นั้น มีเงินทุนและการสนับสนุนจากต่างประเทศ สุดท้ายการผ่านกฎหมายก็ไม่ได้ช่วยอะไร ตราบใดที่ NGOs ยังหยิบประเด็นความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลขึ้นมาเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดยั้ง