ดูเหมือนว่าทุกยุคทุกสมัย ประเทศไทยก็พูดกันซ้ำ ๆ ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เราก็ได้รับบทเรียนอย่างเจ็บปวดอย่างยิ่งจากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรควิด-19 ที่ไทยเราต้องปิดประเทศ และกิจกรรมทางกายภาพในการติดต่อระหว่างประเทศต้องลดลงไปอย่างมาก มีสถิติกันทีเดียวว่า การแพร่ระบาดในไทยที่เริ่มในธันวาคม 2562 ทำให้ปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ 6.1 โดยภาคบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวหดตัวมากที่สุด
มองไปในปี 2568 จะเป็นปีสดใสของการท่องเที่ยว…. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทยมากกว่า 39 ล้านคน จากที่ตั้งเป้าในปี 2567 ไว้ 30-35 ล้านคน และรายได้จะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านล้านบาท จาก 3 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ หากมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยมากกว่า 39 ล้านคน ก็จะทำลายสถิติเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เลยทีเดียว ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.8 ล้านคน และสร้างรายได้ให้กับประเทศ 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 18 ของ GDP เลยทีเดียว
ความพร้อมของสนามบินของไทยเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ความฝันของไทยในการจะใช้การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ เป็นจริงด้วยเช่นกัน ไทยเรามีถึง 68 สนามบินจาก 77 จังหวัดทีเดียว โดยบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ AOT ให้บริการ 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวง และหาดใหญ่ และมีสนามบินสังกัดกรมท่าอากาศยาน อีก 28 แห่ง (ตามจังหวัดต่าง ๆ ) สังกัดบริษัทการบินกรุงเทพฯ 3 แห่ง (สมุย สุโขทัย ตราด) สังกัดกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศอีก และอื่น ๆ อีก 31 แห่ง
……ไม่ว่าไทยจะเร่งขยายศักยภาพทางการบิน ทั้งการขยายพื้นที่ เพิ่มการอำนวยความสะดวกด้วยการลดขั้นตอนต่าง ๆ การสร้างสนามบินเพิ่ม การมีแคมเปญต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว รวมทั้งพยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมการบินของไทยสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค แต่หากการท่องเที่ยวของไทยไม่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ก็จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยที่ได้มาไม่ยั่งยืนตามไปด้วย ข้อมูลจาก World Travel & Tourism Council ปี 2566 ระบุว่า นักท่องเที่ยวทั่วโลก ร้อยละ 69 ต้องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
….. วิธีการที่จะทำให้ไทยเกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากพูดกันว่า ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันแล้ว อาจต้องมีเข็มมุ่งในทิศทางเดียวกัน และต้องผลักดันทำให้เกิดขึ้นจริง มิฉะนั้นแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ( พ.ศ. 2566-2570) ที่ระบุการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไว้ในทั้งวิสัยทัศน์ เป้าหมายหลัก ตัวชี้วัด และกลยุทธ์ต่าง ๆ ก็จะไม่สามารถทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ (sustainable tourism) ซึ่งกลยุทธ์ที่ระบุไว้ในแผนน่าสนใจทีเดียว ได้แก่ การสร้างความสมบูรณ์ให้กับสิ่งแวดล้อม และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพย์สินและต่อยอดทางวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ความเป็นไทยด้วยการประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย และ ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ