คงจะไม่ช้าเกินไปนักกับการแสดงความยินดีกับคนไทยทุกคน ที่ “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” ถูกคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage: ICS-ICH) ครั้งที่ 19 รับร้องให้ขึ้นทั้งสองอย่างขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage) จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ไปเมื่อธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา
ก่อนอื่นเรามารู้จักกันก่อนดีกว่าว่า “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” คืออะไร เชื่อว่าหลายคนจะคุ้นชินกับคำว่ามรดกโลก ของ UNESCO กันอยู่แล้วทั้งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และมรดกโลกทางธรรมชาติ อาจจะจำ
ง่าย ๆ ว่า มรดกโลกจะไม่มีการเคลื่อนที่ไปที่ไหน ส่วนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กรมศิลปากรของเราให้ความหมายว่า “เป็นมรดกวัฒนธรรมประเภทที่จับต้องมองเห็นไม่ได้เหมือนกับมรดกที่เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ” สามารถจำแนะตามเกณฑ์ของ UNESCO ได้ 5 ประเภท คือ
- เรื่องราว ข้อมูล ความรู้ ด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมที่เป็นมุขปาฐะและการแสดงออก รวมถึงวัฒนธรรมด้านภาษา (Oral traditions and expressions, including language as a vehicle of the intangible cultural heritage) เช่น สุภาษิต เพลงกล่อมเด็ก นิทาน บทสวด บทเพลง ร้อยกรอง ฯลฯ
- ศิลปะการแสดง (Performing arts) ดนตรี การแสดงละคร และนาฏศิลป์ การเต้นรำ ร่ายรำ การร้องเพลงพื้นบ้าน และการแสดงออกในพิธีกรรม
- แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และ งานเทศกาลต่าง ๆ (Social practices, rituals and festive events) กิจกรรมที่ปฏิบัติกันประจำประกอบการดำรงชีพของชุมชน แสดงออกถึงอัตลักษณ์ ตัวตน เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีบุญบั้งไฟ การละเล่นผีตาโขน
- ความรู้และวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติ และจักรวาล (Knowledge and practices conceding nature and the universe) คือองค์ความรู้ ทักษะที่ชุมชนพัฒนาขึ้นมา มักออกมาในรูปแบบคุณค่า ความเชื่อ พิธีกรรม องค์ความรู้ของชนพื้นเมือง เป็นต้น
- งานช่างฝีมือดั้งเดิม (Traditional craftsmanship) หมายถึง ทักษะและองค์ความรู้ ที่แสดงออกมาจากงานช่างฝีมือ งานศิลปหัตถกรรม และสิ่งประดิษฐ์ของบรรพชน เช่น ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า เครื่องจักสาน เครื่องรัก เครื่องปั้นดินเผา
ทำให้ตอนนี้ไทยมีมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แล้ว 6 รายการ เริ่มจาก โขน (ปี 2561) มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติรายการแรกของประเทศไทย โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Khon, masked dance drama in Thailand” ต่อมาคือ นวดไทย (ปี 2562) เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยที่มีการสืบสานมาแต่โบราณกาล ลำดับต่อมาคือ โนรา (ปี 2564) ศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ ป็นการแสดงที่มีแบบแผนในการร่ายรำและขับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ฉพาะถิ่น และ สงกรานต์ในไทย (ปี 2566) ประเพณีปีใหม่ไทย ตรงกับช่วยฤดูเก็บเกี่ยว เริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ การฉลองแบบไทย ๆ ทั้งทำบุญ ตักบาตร รดน้ำดำกัว และกิจกรรมสงกรานต์ทั่วประเทศ ล่าสุดในปี 2567 คือ ต้มยำกุ้ง ( ปี 2567) มรดกทางวัฒนธรรมด้านอาหาร สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำลำคลองในภาคกลางของไทยและ เคบายา (ปี 2567) เป็นเสื้อผู้หญิงพื้นเมืองแบบเพอรานากัน หรือบาบ๋า-ย่าหยา เป็นวัฒนธรรมร่วมของกลุ่มคนเชื้อสายจีนและมลายู ทำให้เราขึ้นทะเบียนร่วมกับกับบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์
มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจและควรประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ รวมถึงความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับเพื่อนบ้านในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้