เซมิคอนดักเตอร์ เป็นคำที่ถูกพูดถึงแทบทุกชั่วโมงในแวดวงธุรกิจ สื่อ และการเมืองระหว่างประเทศ ถึงตอนนี้ในสมัยรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ยังจะถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง และตอบโต้ในการทำสงครามการค้าระหว่างประเทศกับยักษ์ใหญ่เช่นจีนอีกด้วย เพราะเซมิคอนดักเตอร์เป็นหัวใจหลักในชองนวัตกรรมทางเทคโนโลยีขั้นสูง และสมัยใหม่ที่ใช้ตั้งแต่ในสมาร์ทโฟน จนถึงปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) และควอนตัมคอมพิวติ้ง (Quantum Computing)
หากมาดูในอาเซียน มีหลายประเทศแล้วที่จริงจังและก้าวหน้าในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น โดยอินโดนีเซียมุ่งมั่นและให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยการกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ 20 ปี อินโดนีเซียรุ่งโรจน์ 2045 (Indonesia Emas 2045) เพื่อที่อินโดนีเซียจะได้เป็นประเทศที่พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมโดยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ ประกอบกับอินโดนีเซียก็มีทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ธาตุซิลิกอน/ซิลลิกา (Silicon) ที่เป็นหัวใจสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และเป็นผู้ผลิตแร่ธาตุอื่น ๆ รายใหญ่ที่ใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เช่น ดีบุก และนิกเกิล
สิงคโปร์ล้ำหน้ากว่าประเทศใดในอาเซียน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศถึงร้อยละ 7 และก้าวไปสู่เวทีโลกด้วยการสามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ป้อนตลาดโลกได้กว่าร้อยละ 10 ของการผลิตสู่ตลาดโลกทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทข้ามชาติใหญ่ ๆ ของสหรัฐฯ ก็เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ในสิงคโปร์ ซึ่งสิ่งที่ดึงดูดใจได้แก่ สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยอย่างมาก (ecosystem) ที่ทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ครบวงจร กับทั้งรัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนการทำวิจัย (R&D) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทักษะบุคลากร การทำงานร่วมกับหุ้นส่วนกับนานาประเทศ และการผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืน เป็นต้น
มาเลเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มียุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ (National Semiconductor Strategy-NSS) และพร้อมจะปฏิรูปเพื่อเดินหน้าประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ตามแผน New Industrial Master Plan 2030 ด้วยการให้ความสำคัญกับการลงทุนจากและบริษัทข้ามชาติ เพื่อรับการถ่ายโอนทางเทคโนโลยีเพื่อนำบริษัทในมาเลเซียเช้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลก NSS ยังตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าภาคการผลิตที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 6 ภายในปี 2573 ซึ่งจะชูจุดเด่น เช่น ด้านออกแบบ IC การบรรจุหีบห่อที่ทันสมัย การฝึกบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญจำนวนมาก รวมทั้งสนับสนุน ecosystem ที่จะผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เช่น สร้าง industrial park
ดาโต๊ะ ซรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีได้ประกาศในงาน Malaysia Economic Forum 2025 เมื่อ 9 ม.ค.68 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ว่า ในปี 2568 มาเลเซียจะเป็นศูนย์กลาง (hub) ด้านพลังงาน และการผลิตชิปไปสู่ตลาดโลก และเมื่อ ก.พ.68 ได้มีมติให้บรรจุการใช้การทูตเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor diplomacy) ไว้ใน NSS เพื่อยกระดับความร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั้งในระดับโลกและในอาเซียน
เวียดนามเป็นประเทศที่มาแรงในอาเซียนที่ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เข้าประเทศ และเมื่อกันยายน 2567 ได้ประกาศยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ปี 2030 (วิสัยทัศน์ปี 2050) ไว้ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมนี้จะก้าวเดินไปอย่างไร ทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และรัฐบาลได้มีการย้ำให้ดำเนินการอย่างจริงจัง จุดเด่นของเวียดนามในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ที่น่าสนใจ คือเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อเพิ่มการเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา พร้อมพัฒนาระบบสิ่งแวดล้อมที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการที่เอื้อจะดึงดูดการลงทุนอย่างเต็มที่ ปัจจุบันมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศด้านเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนามจำนวน 174 โครงการ รวมมูลค่า 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไทยขับเคลื่อนเรื่องนี้จริงจังมาก ตามที่เคยเล่าให้ฟังไว้ใน เรื่อง อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทยไปทางไหนในปี 2568 (https://intsharing.co) ไทยมีบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) มีเป้าหมายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงของภูมิภาคอาเซียน และมาถึงตอนนี้ก็มีความคืบหน้าพอสมควรในเรื่องนี้ ซึ่งไทยก็เชิญชวนให้ต่างประเทศให้เข้าไปลงทุนในไทย และมีรายงานข่าวสารเมื่อกลาง ก.พ.68 ว่า ไทยพร้อมจะมียุทธศาสตร์ชาติด้านเซมิคอนดักเตอร์ภายใน 90 วัน
แนวโน้มที่ไทยจะมีข่าวดีในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเวมิคอนดักเตอร์ น่าจะมาเรื่อย ๆ อย่างเช่นที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย หรือ BOI ไทยเปิดเผย เมื่อ ม.ค.68 ว่า บริษัทอินฟินีออน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 1 ของเยอรมนี ลงทุนในไทย และจะเปิดการทำงานได้ในปี 2569 ด้วยการใช้ชื่อบริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) เป็นฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ประเภท Power Module สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบกักเก็บพลังงานแห่งที่ 3 ในโลก ซึ่งคาดว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อ ธ.ค.67 BOI ก็อนุมัติให้บริษัทไต้หวันกลุ่ม Foxsemicon ชื่อบริษัท ยูนิค อินทิเกรตเต็ด เทคโนโลยี ผู้ผลิตอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักรในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับต้นน้ำลงทุนตั้งฐานผลิตในไทย ซึ่งแนวโน้มน่าจะมีการลงทุนในไทยด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น