กว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมา ละครโทรทัศน์ไทยนั้นเป็นสื่อบันเทิงอันทรงอิทธิพลที่สุดในสังคมไทยมายาวนานหลายปี คนไทยเติบโตมากับละครโทรทัศน์ซึ่งแทรกซึมเข้าไปในสายเลือดและจิตวิญญาณ เห็นได้จากข่าวบันเทิง วงสนทนาในสังคมไทย จะหนีไม่พ้นประเด็นกระแสละครและข่าวของศิลปินดาราไทย ที่มักจะเป็นหัวข้อหลักที่มีการพูดคุยสม่ำเสมอ รวมถึงการรับอิทธิพลจากละครมาเป็นแนวคิดในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น แฟชั่นการแต่งกาย การเลือกซื้อสินค้า คำพูดหรือวลีจากละคร เป็นต้น
ละครไทยมีชื่อในด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและการท่องเที่ยวไทย สร้างความนิยมทั้งในประเทศไทยและดังไปไกลในหลายประเทศ เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และจีนแสดงให้เห็นถึงพลังของละครไทยในฐานะ Soft Power ส่งออกสื่อบันเทิง ต่อยอดให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศไทย สินค้าไทยอย่าง อาหาร ขนม เสื้อผ้า ของใช้ รวมถึงภาคบริการ ขายดีมากจากการที่แฟนคลับนิยมเที่ยวตามรอยละครไทย แต่ในอีกมุมหนึ่งละครไทยมักจะถูกแฟนคลับวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอว่ามีการนำเสนอเนื้อหาสื่อถึงความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ เพศ และวาจา โดยเกิดจากปมขัดแย้งเรื่องความรักมากที่สุด ซึ่งส่งผลให้ละครไทยมีภาพลักษณ์ติดลบในสายตาสังคมไทย
คนไทยดูละครไทยน้อยลง….อย่างไร?…ในประเทศไทย การประเมินจำนวนคนที่รับชมละครโทรทัศน์สำรวจโดยบริษัทวิจัยการตลาด The Nielsen Company (Thailand) หรือนีลเส็น โดยนำตัวเลขมาใช้อ้างอิงสำหรับการลงโฆษณาของสปอนเซอร์ ในปัจจุบันนีลเส็นมีการวัดเรตติ้งละครผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลไทยและต่างประเทศพบว่าตัวเลขการรับชมคอนเทนต์ผ่านระบบสตรีมมิ่งมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่เรตติ้งละครผ่านโทรทัศน์ไทยกลับน้อยลง นีลเส็นเปิดเผยข้อมูลเดือนตุลาคม 2566 ระบุว่า เรตติ้งจากการดูรายการผ่านโทรทัศน์มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7 ในขณะที่เรตติ้งจากการดูรายการผ่านสื่อดิจิทัลมีค่าเฉลี่ยมากถึง ร้อยละ 4 เมื่อค่าเฉลี่ยห่างกันไม่มากทำให้สปอนเซอร์เปลี่ยนมาลงทุนสนับสนุนโฆษณาคอนเทนต์บนสตรีมมิ่งมากขึ้น สัดส่วนการลงโฆษณาบนโทรทัศน์น้อยลงย่อมส่งผลให้ธุรกิจสื่อโทรทัศน์ก็มีรายได้ที่น้อยลงตามไปด้วย
มีรายงานของ Media Partners Asia ระบุว่าละครจีนบนแพลตฟอร์ม Netflix มีส่วนแบ่งตลาดสตรีมมิ่งในประเทศไทยถึง ร้อยละ 24 WeTV มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 22 รองลงมารับชมผ่านแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น iQiyi, Youku และ Mango TV คิดเฉลี่ยแล้วมีผู้ชมชาวไทยประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์รับชมละครจีนเป็นประจำ นอกจากนี้คนไทยยังรับชมละครเกาหลีใต้ผ่านแพลตฟอร์มยอดนิยม เช่น Netflix, Viu และ Prime video
เว็บไซต์ Google Thailand เปิดเผยผลการค้นหายอดนิยมประจำปี 2567 หมวดละคร/ซีรีส์ต่างประเทศ (Trending International Series 2024) พบว่า ละครต่างประเทศจากเกาหลีใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากแนวละครที่หลากหลาย เช่น ประวัติศาสตร์ แฟนตาซี วิทยาศาสตร์ สืบสวนสอบสวน รักโรแมนติก ตลกคอมเมดี้ หรือสะท้อนสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีละครแนววิชาชีพ เช่น แพทย์ ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา ครู ตำรวจ ทหาร นักการเมือง นักธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งธีมของแต่ละเรื่องมีทั้งสมจริง สมเหตุสมผล และปรุงแต่งบ้าง ผสมกันออกมาจนกลมกล่อม ได้รับชมทั้งความบันเทิงและสาระความรู้
เนื่องด้วยชีวิตจริงของคนไทยจำนวนมากนั้น ไม่ใช่กลุ่มชนชั้นมีฐานะที่จะมีกำลังทรัพย์ไปท่องเที่ยวต่างประเทศตามใจฝัน ดังนั้น การที่คนไทยได้เสพสื่อต่างประเทศทำให้เสมือนหนึ่งได้ท่องโลกกว้าง เปิดโลกทัศน์ ทำให้ได้เห็นความเจริญของอารยประเทศและคนไทยก็อยากเป็นอารยชนไม่ต่างจากชาวเมืองศิวิไลซ์ ส่งผลให้คนไทยค่อย ๆ รับอิทธิพลจาก วัฒนธรรม แนวความคิดและวิถีการดำรงชีวิตจากต่างประเทศผ่านอุตสาหกรรมการละคร มาปรับและประยุกต์ใช้ในประเทศ
การรับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาในประเทศมีข้อดี คือ การนำความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นคหกรรม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การคมนาคม และระบบเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น การรับเอาวัฒนธรรมภายนอกอย่างฉลาดและถูกต้องก็คือ การรับเอาสิ่งที่ดีมาเสริมขยายตัวเรา แล้วเอามาปรับเข้าเป็นตัวของเราและจะต้องรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรและเป็นมาอย่างไร ถือเป็นการรู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ชาติไทยก็จะไม่เสียเปรียบต่างชาติ
แต่ว่าก็ยังมีข้อเสีย กล่าวคือ เกิดค่านิยมแนวใหม่ในหมู่คนไทยบางกลุ่มที่มองเห็นว่าวัฒนธรรมไทย ดั้งเดิมเป็นสิ่งคร่ำครึล้าสมัย ไม่ซาบซึ้งไปกับวัฒนธรรมของบ้านเกิด ในขณะที่มองวัฒนธรรมต่างชาติเป็นสิ่งดีงามน่าชื่นชมมากกว่า เพิ่มข้อเสียอีกนิดนึงค่า เลือกที่จะไหลตามวัฒนธรรมของเขา อะไรมาก็คลั่งไคล้ถือเป็นตัวอย่างตาม อยากใช้ทุกอย่างอย่างที่ต่างชาติใช้ อยากมีทุกอย่างที่ต่างชาติมี ยอมเหนื่อยวิ่งไล่ตามกระแส แต่กระนั้นคนไทยก็ต้องไม่ลืมวัฒนธรรมไทยที่ยังคงคุณค่าและเป็นรากเหง้าของกำเนิดตัวเรา
ดังนี้แล้ว หากละครไทยมีการพัฒนาให้ความสำคัญกับบทละครที่ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตละคร คนไทยก็จะกลับมาดูมาดูละครไทยคู่ขนานไปกับการเสพสื่อต่างประเทศและรับอิทธิพลจากวัฒนธรรมต่างชาติ