วิกฤตมลพิษจากหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น แก้ไขไม่ได้เพียงประเทศเดียว สำหรับไทย ปัญหานี้ส่งผลกระทบวงกว้างลุกลามทั่วประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการเผาในที่โล่งจากทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการพบจุดความร้อนหรือ hotspot ที่ทำให้เกิดฝุ่นควันข้ามพรมแดนไปยังไทย โดยเฉพาะในห้วงกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี
ปัญหานี้ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านของเราในหลาย ๆ ช่องทาง ประเทศไทยได้เสนอ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” (CLEAR Sky Strategy) ปี 2567-2573 ในการประชุมระดับผู้นำสามฝ่ายระหว่างไทย – สปป.ลาว – เมียนมา ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมทางไกล เมื่อ 7 เมษายน 2566 ที่ประชุมได้ตกลงร่วมกันที่จะจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อขับเคลื่อน และแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างยั่งยืน ซึ่งไทยพร้อมจะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ การใช้เทคโนโลยีดาวเทียมติดตามตรวจวัดจุดความร้อน และการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์ในการบริหารจัดการเกษตรในพื้นที่สูงให้กับ สปป.ลาว และเมียนมา
CLEAR Sky Strategy มีความคืบหน้า โดยมีแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน แล้ว ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อ 2 เมษายน 2568 ได้เห็นชอบในแผนปฏิบัติการร่วมกันไปแล้ว ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน บนพื้นฐานผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน และกฎหมายของประเทศนั้น ๆ เช่น การควบคุมและดับไฟจากการเผาในที่โล่ง การคาดการณ์และติดตามตรวจสอบสถานการณ์หมอกควัน การจัดการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน การบังคับใช้กฎหมายและการประสานงานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการนำไปปฏิบัติ
CLEAR ในยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) ประกอบด้วย
C : Continued Commitment มุ่งปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดจุดความร้อน ตามแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ. 2017 ซึ่งประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศได้รับรองร่วมกันเมื่อปี 2560
L : Leveraging Mechanisms ใช้ประโยชน์จากกลไกที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ซึ่งไทยจะเสนอให้ส่งเสริมความร่วมมือเรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดน ผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำประเด็นดังกล่าวหารือในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 เมื่อพฤษภาคม 2566 ที่อินโดนีเซีย
E : Experience Sharing การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมถึงแนวทางดำเนินการด้านกฎหมายของแต่ละประเทศ เพื่อควบคุมต้นเหตุของปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน
A : Air Quality Network ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่าย การวัดดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศในอนุภูมิภาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์ และการแจ้งเตือนประชาชนอย่างทันท่วงที
R : Effective Response ให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้ง 3 ประเทศ ที่รับผิดชอบเรื่องการจัดการมลพิษหมอกควันข้ามแดน หารือร่วมกันเพื่อต่อยอดผลของการประชุม
ความร่วมมือไทย – สปป.ลาว – เมียนมาในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนตาม CLEAR Sky Strategy เป็นการยกระดับความร่วมมือในอนุภูมิภาค และการทำความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างทุกภาคส่วน ซี่งสุดท้ายประโยชน์ ไม่ใได้จะตกอยู่กับประชาชนของทั้ง 3 ประเทศ แต่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งภูมิภาค