สืบเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.7 ในเมียนมา จากรอยเลื่อนสะกายในเมืองมัณฑะเลย์ ระดับความลึก 10 กิโลเมตร เมื่อ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น. จากนั้นอีก 12 นาที เกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 6.4 ตามมา เมื่อเวลา 13.32 น. และอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 1,100 กิโลเมตร (ตามรายงานของสำนักธรณีวิทยาสหรัฐฯ หรือ USGS) สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนและสร้างความเสียหายในหลายจังหวัดโดยเฉพาะอาคารสูงในกรุงเทพฯ ซึ่งจนถึง 3 เมษายน 2568 มีผู้เสียชีวิตในไทยแล้ว 22 ราย บาดเจ็บ 35 ราย และสูญหาย 72 ราย ส่วนเมียนมามีรายงานมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3,085 ราย บาดเจ็บ 4,715 ราย และสูญหาย 341 ราย
ที่มา : กรมทรัพยากรธรณี
กระแสกังวลรอยเลื่อนมีพลังในไทย
ประชาชนจำนวนมากตื่นตัวในเรื่องความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว และเกิดกระแสความกังวลถึงรอยเลื่อนมีพลัง (Active fault) ในไทยที่เสี่ยงทำให้เกิดแผ่นดินไหวในอนาคต ทั้งนี้ รอยเลื่อน คือ รอยแตกในหินที่เกิดการเคลื่อนตัว ซึ่งมักเคลื่อนตัวจากการขยับตัวของแผ่นเปลือกโลกด้วยพลังงานสะสมไว้ภายในโลก รอยเลื่อนมีพลังเป็นพื้นที่ที่พบหลักฐานว่าเคยเกิดการเลื่อนหรือขยับตัวมาแล้วในช่วง 10,000 ปี ซึ่งบริเวณรอยเลื่อนมีพลังนี้จะพบแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง กรมทรัพยากรธรณีจึงออกมาให้ข้อมูลผลสำรวจรอยเลื่อนที่มีพลังในไทย 16 กลุ่ม พาดผ่านพื้นที่ 23 จังหวัด มาดูกันว่าอยู่ที่ใด พาดผ่านจังหวัดใด และมีพลังมากน้อยเพียงใด ดังนี้
- รอยเลื่อนแม่จัน ความยาว 150 กิโลเมตร พาดผ่านตั้งแต่อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอดอยหลวง และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีพลังสูง
- รอยเลื่อนแม่อิง ความยาว 70 กิโลเมตร พาดผ่านอำเภอเทิง อำเภอขุนตาล อำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย มีพลังปานกลาง
- รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ความยาว 200 กิโลเมตร พาดผ่านอำเภอแม่ฮ่องสอน อำเภอขุนยวม และอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อเนื่องลงมาถึงอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มีพลังต่ำ
- รอยเลื่อนเมย ความยาว 260 กิโลเมตร พาดผ่านอำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภอเมืองตาก อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก อำเภอสัมพีนคร และอำเภอคลองสาน จังหวัดกำแพงเพชร มีพลังปานกลางถึงสูง
- รอยเลื่อนแม่ทา ความยาว 100 กิโลเมตร พาดผ่านตั้งแต่อำเภอพร้าว อำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน มีพลังปานกลางถึงสูง
- รอยเลื่อนเถิน ความยาว 180 กิโลเมตร พาดผ่านอำเภอเมืองแพร่ ลงมาอำเภอสูงเม่น อำเภอลอง และอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ยาวลงมาอำเภอแม่ทะ อำเภอสบปราบ และอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง มีพลังปานกลาง
- รอยเลื่อนพะเยา ความยาว 120 กิโลเมตร พาดผ่านอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา และอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง มีพลังปานกลาง
- รอยเลื่อนแม่ลาว ความยาว 80 กิโลเมตร พาดผ่านอำเภอแม่สรวย อำเภอแม่ลาว และอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย มีพลังปานกลาง
- รอยเลื่อนปัว ความยาว 110 กิโลเมตร พาดผ่านรอยต่อไทย – สปป.ลาว ยาวลงมาในอำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอปัว และต่อเนื่องถึงอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน มีพลังปานกลาง
- รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ความยาว 130 กิโลเมตร พาดผ่านอำเภอฟากท่า ลงมาอำเภอน้ำปาด อำเภอทองแสนขัน และอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพลังปานกลางถึงสูง
- รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ความยาว 200 กิโลเมตร พาดผ่านเมียนมา ต่อเนื่องมาบริเวณด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอเมืองกาญจนบุรี สิ้นสุดที่อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี มีพลังปานกลางถึงสูง
- รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ความยาว 220 กิโลเมตร พาดผ่านตั้งแต่เมียนมาต่อเนื่องมาอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ผ่านอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี มาอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอหนองปรือ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีพลังปานกลาง
- รอยเลื่อนระนอง ความยาว 300 กิโลเมตร พาดผ่านทะเลอันดามัน อำเภอตะกั่วป่า อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ต่อมาอำเภอสุขสำราญ อำเภอกะเปอร์ อำเภอเมืองระนอง อำเภอละอุ่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ผ่านอำเภอพะโต๊ะ อำเภอสวี อำเภอเมืองชุมพร อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ต่อไปอำเภอบางสะพานน้อย อำเภอบางสะพาน อำเภอทับสะแก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงอ่าวไทยบริเวณทิศตะวันออกของอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพลังปานกลาง
- รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ความยาว140 กิโลเมตร พาดผ่านทะเลอันดามัน ทางตะวันออกเกาะภูเก็ตและเกาะยาว อ่าวพังงา ยาวขึ้นบกบริเวณลำคลองมะรุ่ย อำเภอทับปุด อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ต่อเนื่องไปอำเภอพนม อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอบ้านตาขุน อำเภอวิภาวดี อำเภอท่าฉาง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพลังปานกลาง
- รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ ความยาว 150 กิโลเมตร พาดผ่านอำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพลังปานกลางถึงสูง
- รอยเลื่อนเวียงแหง ความยาว 100 กิโลเมตร วางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ใกล้ชายแดนเมียนมา จากอำเภอเวียงแหงถึงอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีพลังปานกลาง
เป็นไปได้เพียงใดกับความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนมีพลังในไทย
ศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกายในอนาคตยังจะเกิดขึ้นได้อีก โดยเป็นการอุบัติซ้ำในรอบ 50 ปี 80 ปี หรือ 100 ปี แต่ไม่สามารถระบุว่าจะเกิดจุดไหน และเมื่อไหร่ และยังกล่าวถึง “แผ่นดินไหวแบบโดมิโน” โดยยกเหตุแผ่นดินไหวที่ตรวจพบบริเวณรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ซึ่งวางตัวขนานกับรอยเลื่อนสะกาย แต่ขนาดเล็กกว่ามาก เมื่อวันที่ 30 และ 31 มีนาคม 2568 ขนาด 1.7 และ 2.2 ตามลำดับ ที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งไม่น่าเป็นอาฟเตอร์ช็อกจากแผ่นดินไหวในเมียนมา เป็นไปได้ว่าเป็นการปลดปล่อยตามปกติของรอยเลื่อนพอดี หรือเป็นผลจากแผ่นดินไหวแบบโดมิโน ที่มีพลังงานที่เกิดจากการกระทบชิ่งที่ทำให้รอยเลื่อนเกิดการเคลื่อนตัว ทั้งนี้ ไม่อาจบอกได้ว่ารอยเลื่อนใดจะเกิดการเคลื่อนตัวตามมาบ้าง และจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดเท่าใด แต่การปลดปล่อยพลังงานผ่านแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่ไม่ก่อความเสียหายเช่นนี้ถือเป็นเรื่องดี
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประเมินความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวในไทยมี 3 สถานการณ์ คือ 1) รอยเลื่อนในจังหวัดกาญจนบุรี อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้สูงสุดขนาด 7.5 และจะส่งผลถึงกรุงเทพฯ ได้เพราะอยู่ใกล้ โดยเมื่อหลายสิบปีก่อนเคยเกิดขนาด 5.9 มีผลกระทบต่อกรุงเทพฯ แต่ขณะนั้นกรุงเทพฯ มีอาคารสูงน้อยมาก 2) รอยเลื่อนสะกายที่ผ่ากลางเมียนมา จากมัณฑะเลย์ลงมาผ่านเนปิดอว์ เฉียดย่างกุ้ง และ 3) แนวมุดตัวของแผ่นเปลือก หรือเรียกว่า แนวมุดตัวอาระกัน ทั้ง 3 แหล่งเป็นอันตรายต่อกรุงเทพฯ แม้อยู่ไกลแต่การที่กรุงเทพฯ เป็นแหล่งดินอ่อนขนาดใหญ่ ทำให้ขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ 3 – 4 เท่า ทั้งนี้ เชื่อว่าเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มีนาคม 2568 สูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ฉะนั้นจึงมีโอกาสน้อยจะเกิดขึ้น และมีโอกาสมากที่จะไม่เกิดขึ้น แต่ไทยต้องออกแบบเผื่อไว้
ถอดบทเรียน ประสานต่างประเทศช่วยจัดการวิกฤติแผ่นดินไหว
ปัจจุบันมีการศึกษาแผ่นดินไหววิทยาเชิงสถิติ หรือ วิทยาการคลื่นไหวสะเทือนเชิงสถิติ (statistical seismology) ที่ยังอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับไทย แต่ด้วยผลการพยากรณ์ที่มีความแม่นยำพอควรในการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในต่างประเทศหลายกรณี ทำให้การวิเคราะห์แผ่นดินไหววิทยาในเชิงสถิติได้รับความนิยมในต่างประเทศอย่างมากตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในทางวิทยาศาสตร์แม้จะสามารถประเมินพื้นที่อ่อนไหวในการเกิดแผ่นดินไหวได้ แต่ก็ยังไม่สามารถระบุวันเวลาที่แน่นอนที่จะเกิดได้ การเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน การปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยอาคาร ระบบแจ้งเตือน รวมไปถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนในการดูแลตนเองหากต้องเผชิญเหตุ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และควรเร่งถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ รวมถึงการประสานหาความรู้จากประเทศต่าง ๆ ในการจัดการรับมือกับเหตุแผ่นดินไหว เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เพื่อเตรียมความพร้อม ลดความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และลดความตื่นตระหนก