มาเลเซียแสดงบทบาทในฐานะประธานอาเซียนในปี 2568 ด้วยการเร่งหารือกับประเทศสมาชิก เพื่อหาทางออกร่วมกันในการลดผลกระทบจากกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศ Liberation Day เมื่อ 2 เมษายน 2568 ให้กับชาวอเมริกัน ด้วยการขึ้นภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) สินค้านำเข้าประเทศคู่ค้า 185 ประเทศ ที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนมีประเทศที่ถูกเก็บภาษีสูงที่สุดที่สหรัฐฯ กำหนด คือกัมพูชาที่ร้อยละ 49 และต่ำสุดคือสิงคโปร์ที่ร้อยละ 10 นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนยังส่งสินค้าออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นหลักเลยทีเดียว
มาเลเซียโดยดาโตะ เชอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีได้โพสต์เฟซบุ๊คเมื่อ 5 เมษายน 2568 ว่า ได้โทรศัพท์หารือกับผู้นำ สมาชิกอีก 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และสิงคโปร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นให้ได้ข้อมติร่วมกันในหลักการไปเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งรวมทั้งใช้กรอบ ASEAN-US Dialogue ซึ่งอาเซียนก็พร้อมจะเปิดกว้าง และยืดหยุ่นในเรื่องห่วงโซ่การผลิต และเมื่อ 7 เมษายน 2568 ก็ได้โทรศัพท์หารือกับนายกรัฐมนตรีเวียดนาม เพื่อให้มั่นใจว่าอาเซียนจะมีท่าทีไปในทิศทางเดียวกัน (one voice) ในเรื่องนี้ในเวทีระหว่างประเทศ และได้ทยอยหารือกับผู้นำไทย และประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังจะหารือกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งอยู่ในกรอบอาเซียน+ 3 เพื่อหารือในการตอบสนองกับกรณีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากหารือกับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว มาเลเซียจะจัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน วาระพิเศษ (Special ASEAN Economic Ministers’ Meeting) ใน 10 เมษายน 2568 ที่มาเลเซีย เพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับผลกระทบจากดำเนินมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ ต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค เสถียรภาพเศรษฐกิจ และการตอบสนองร่วมกันของอาเซียน รวมถึงความมุ่งมั่นในระยะยาวต่อระบบการค้าที่เปิดกว้าง ยุติธรรม และมีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน ก่อนหน้านี้ เมื่อ 30 มีนาคม 2568 อาเซียนก็ได้จัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศฉุกเฉิน ด้วยการใช้ระบบทางไกลกรณีเกิดภัยพิบัติจากเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมาเมื่อ 28 เมษายน 2568
แม้อาเซียนจะรวมตัวกันมีท่าทีไปในทิศทางเดียวกัน (one voice) ต่อสหรัฐฯ แต่มาตรการที่อาเซียนต้องเร่งรวมพลัง และจะต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดกันมาโดยตลอดว่าเป็นทางเลือกที่ดีคือ จะต้องค้าขายกันเองกันในกลุ่มอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มด้วยกัน และลดการพึ่งพาตลาดส่งออกนอกกลุ่มให้น้อยลง ขณะที่การหาตลาดส่งออกอื่น ๆ เช่น ยุโรป และอินเดีย แม้จะเป็นทางออกที่ดีอกทางหนึ่งสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน แต่ในช่วงนี้ที่ทุกประเทศที่ถูกมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่างก็แสวงหาตลาดใหม่ ๆ กันทั้งนั้น จึงอาจเป็นการท้าท้ายของอาเซียนเหมือนกันที่จะเลือกแนวทางนี้ เพราะต้องเผชิญกับการแข่งขันในการหาตลาดใหม่อย่างเข้มข้น
อย่างไรก็ดี ในแง่มุมเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แม้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องพึ่งพาสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลัก แต่การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า เพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในระยะยาว จะยิ่งลดทอนบทบาทหรืออิทธิพลของสหรัฐฯ ในอาเซียนที่จีนมีมากขึ้นในปัจจุบันเป็นลำดับ ทั้งนี้ รายงานที่ชื่อว่า State of Southeast Asia Survey Report โดย ISEAS-Yusof Ishak ซึ่งเป็นสถาบันทางวิชาการของสิงคโปร์ ทำการสำรวจความเห็นในอาเซียน 10 ประเทศ และติมอร์เลสเต ระหว่าง 3 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2568 ในแง่มุมที่ว่า จีนหรือสหรัฐฯ จะทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความรุ่งเรือง ความมั่นคง สันติภาพ และการปกครองที่ดีให้กับโลกของเรา ผลปรากฏว่า ไว้ใจจีนเพิ่มขึ้นเป็น 36.6 จากร้อยละ 24.8 เมื่อปี 2567 ส่วนสหรัฐฯ แม้ผลจะออกมาว่า ไว้ใจสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 47.2 จากร้อยละ 42.4 แต่ผลการสำรวจนี้เกิดขึ้นก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะขึ้นภาษีตอบโต้ประเทศสมาชิกอาเซียนเมื่อ 2 เมษายน 2568