สงครามการค้ารอบใหม่ สหรัฐฯ VS จีนเริ่มขึ้นแล้ว จากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ยอมยุติเก็บภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าจากจีน หลังจากเมื่อ 9 เมษายน 2568 ประกาศให้จีนยังเป็นประเทศที่ต้องถูกเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ ขณะประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ชะลอการจัดเก็บภาษีตอบโต้กับประเทศที่จะเจรจากับสหรัฐฯ ไว้ 90 วัน (แต่ยังอยู่พื้นฐานจัดเก็บที่ร้อยละ 10) ดังนั้น ภาพสงครามการค้ารอบใหม่ด้วยการใช้การขึ้นภาษีตอบโต้ ระหว่างสหรัฐฯกับจีนชัดเจนมากขึ้น โดยในชั้นนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์จะจัดเก็บภาษีสินค้าจากจีนถึง ร้อยละ 125 หากนับรวมที่มีการขึ้นภาษีที่จีนไม่ยอมสกัดกั้นยาแก้ปวดเฟนทานีล (Fentanyl) จะขึ้นสูงถึงร้อยละ 145 นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังจะเพิ่มภาษีจัดเก็บพัสดุขนาดเล็กจากจีนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อีกด้วย ซึ่งมูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐ จะถูกเก็บภาษีตั้งแต่ 2 พฤษภาคม 2568 ซึ่งปกติกไม่ถูกเก็บภาษี ซึ่งเท่ากับสกัดกั้นธุรกิจ e-commerce ของจีนไปยังสหรัฐฯ
ขณะที่จีนตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นร้อยละ 84 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 เม.ย.68 รวมทั้งเพิ่มรายชื่อบริษัทสหรัฐฯ 6 แห่งในบัญชีหน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือ (unreliable entity list) และอีก 12 บริษัทในบัญชีควบคุมการส่งออก (export control list) ซึ่งกำหนดห้ามบริษัทของจีนดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัทเหล่านี้ เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ พร้อมมีท่าทีต่อสู้กับสหรัฐฯ อย่างถึงที่สุด เฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนที่มีท่าทีแข็งกร้าวว่าจีนไม่เคยกลัวการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ รวมทั้งเห็นว่าสหรัฐฯ จะไม่ชนะ เพราะประชาชนไม่สนับสนุน นอกจากนี้ จะเพิ่มการเก็บภาษีจากสหรัฐฯ เป็นร้อยละ 125 โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 เมษายน 2568
แม้จีนพร้อมทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกันจีนก็ดำเนินยุทธศาสตร์ด้วยการเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ด้วยในช่วงนี้ เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งพึ่งพาสินค้าจากจีน แต่ก็ใกล้ชิดสหรัฐ รวมทั้งพูดคุยกับคณะกรรมาธิการด้านการค้าและความมั่นคงของสหภาพยุโรป เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม และจะเริ่มเจรจากับสหภาพยุโรปเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งได้คุยกับมาเลเซียว่าจีนพร้อมจะเพิ่มการทำงานร่วมกับคู่ค้าของอาเซียน เป็นต้น
องค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินว่า การค้าโลกจะได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งมูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศที่คิดเป็นร้อยละ 30 ของ GDP โลก จะลดลงถึงร้อยละ 80 และขยายออกไปวงกว้างยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (the least developed nations) นอกจากนี้ โลกเสี่ยงจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้วการค้าที่ชัดเจน คือ สหรัฐฯ และจีน ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลกระทบให้ GDP โลกลดลงถึงร้อยละ 7 ทั้งนี้ WTO เรียกร้องให้ทั้งสองประเทศหารือกันในกรอบความร่วมมือระหว่างกัน
ทั้งสหรัฐฯ และจีนรู้อยู่แก่ใจว่า หากสงครามการค้าทั้งสองประเทศยังไม่ยุติ และยังคงมีการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกัน ทั้งสองประเทศก็จะได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งตัวเลขของสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าไปยังจีนเมื่อปี 2567 มูลค่า 143,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากจีน 438,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสหรัฐฯ เสียเปรียบดุลการค้าจีนถึง 295.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2557 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 หรือ 16.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2556 ทางออกในเรื่องนี้ คือทั้งสองประเทศต้องหารือกัน ซึ่งจีนก็เปิดทางแล้วว่าพร้อมเจรจา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต่อสู้กับสหรัฐฯ แต่การเจรจาต้องพบกันคนละครึ่งบนหลักการเคารพซึ่งกันและกัน