สหรัฐฯ ยังไม่ยุติใช้มาตรการภาษีกับสินค้าจีน โดยกำลังพุ่งเป้าหมายไปยังสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยี เช่น สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ชิป และเซมิคอนดักเตอร์ และผลิตภัณฑ์ยา โดยประกาศเมื่อ 14 เมษายน 2568 ว่า จะแยกไปเก็บภาษีกลุ่มนี้ ต่างหาก ภายในอีก 1- 2 เดือน ข้างหน้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าสินค้ากลุ่มดังกล่าวเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจดำเนินการได้ตามมาตรา 232 ของ Trade Expansion Act of 1962
เมื่อ 2 เมษายน 2568 สหรัฐฯ ขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าจีนที่นำเข้าสหรัฐฯ ซึ่งจีนก็โต้กลับ จนในที่สุดสินค้าจีนถูกสหรัฐฯ เก็บภาษี ร้อยละ 145 ขณะที่จีนเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ในอัตราภาษี ร้อยละ 125 ซึ่งมีผลเมื่อ 12 เมษายน 2568 ส่วนการที่สำนักงานด้านศุลกากรของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อ 11 เมษายน 2568 ว่าจะไม่เก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีข้างต้นของจีนในอัตราร้อยละ 125 (เก็บพื้นฐานในอัตราร้อยละ 10) ก็เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้ สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากจีนถึง 1 ใน 4 ของการนำเข้าทั้งหมดจากจีน อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กลับระบุว่า จะไม่มีการยกเว้นภาษีตอบโต้ให้กับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีนตามที่ประกาศเมื่อ 11 เมษายน 2568 เพราะอยู่ในรายการสินค้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีร้อยละ 20 จากมาตรการแก้ไขปัญหาการค้าเฟนทานิลที่ประกาศเมื่อ 3 มีนาคม 2568 อยู่แล้ว และกำลังพิจารณาเก็บภาษีกลุ่มรายการสินค้าดังกล่าวเป็นการเฉพาะ
ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือเล่นงานจีนก็เพื่อจะนำไปสู่เป้าหมายในการดึงการการลงทุนกลับไปยังสหรัฐฯ หรือให้นานาประเทศไปลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ และในครั้งนี้ก็จะเป็นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ และผลิตภัณฑ์ยา เพื่อที่สหรัฐฯ จะได้ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งจีน และที่สำคัญที่สุดจะได้มีอำนาจในการคุมห่วงโซ่การผลิตของโลกเช่นกัน เฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ในปี 2568 สหรัฐฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อแข่งขันในการเป็นผู้นำโลกในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ( Artificial Intelligence -AI) และกำหนดให้เป็นผลประโยชน์แห่งชาติในเชิงยุทธศาสตร์อันดับต้นเลยทีเดียว
ในห้วงปี 2563 -2566 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เผชิญบทเรียนในห้วงที่โลกขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ จนส่งผลต่อเงินเฟ้อ และทำให้ภาคเทคโนโลยีของสหรัฐฯ อ่อนแอ ขณะเดียวกันศักยภาพการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ก็มีการประเมินว่าลดลงเหลือร้อยละ 12 ในปัจจุบัน จากร้อยละ 40 เมื่อปี 2533 และปัจจุบัน บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ของไต้หวัน เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ โดยเป็นผู้ผลิตชิปที่เป็นซับพลายเออร์ให้กับยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีอย่าง Apple, Qualcomm, NVIDIA และ Intel โดยเมื่อมีนาคม 2568 ประกาศลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มอีก 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้สหรัฐฯ และจีนต่างก็ต้องการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติด้านการค้าและความมั่นคงของตน และอีกนัยก็สะท้อนถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกระหว่างสองมหาอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทวีมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศที่ต้องพึ่งพาทั้งสหรัฐฯ และจีน ล่าสุดประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่กำลังเดินทางเยือนเวียดนาม มาเลเซียและกัมพูชาก็เรียกร้องขณะเยือนเวียดนามเมื่อ 14 เมษายน 2568 ต้านการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้โอกาสนี้ลงนามข้อตกลงการค้ากับเวียดนาม นอกจากนี้ จีนยังตอบโต้อุตสาหกรรมการบินของสหรัฐฯ โดยสำนักข่าวบลูมเบอร์กเมื่อ 16 เมษายน 2568 รายงานอ้างแหล่งข่าวระดับสูงของจีนว่าจีนสั่งห้ามระงับการรับการส่งมอบเครื่องบินพาณิชย์โบอิ้งจากสหรัฐฯ และห้ามซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เกี่ยวของกับการบินจากบริษัทสหรัฐฯ