ความไม่แน่นอนทางการเมือง เศรษฐกิจ และสถานการณ์ความขัดแย้งในต่างประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยเสี่ยงเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ บริษัทจำนวนมากต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด หลายบริษัทจำเป็นต้องปรับต้นทุนด้วยการลดจำนวนพนักงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน พนักงานหลายคนถูกยกเลิกการจ้างงาน สถานการณ์เมื่อปี 2567 มีตัวเลขสำนักงานสถติติแห่งชาติ ระบุว่าอัตราการว่างงานของคนไทยอยู่ที่ 300,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ยังต้องดิ้นรนหางานและหารายได้ในสังคม แต่เมื่อพิจารณาดูอีกที…พวกเขาเหล่านี้อาจยังมีโอกาสที่ดีกว่าเหล่านักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาเป็นบัณฑิตจบใหม่ เพราะ HR หรือแผนกพัฒนาบุคคลของแต่ละแหล่งงานส่วนใหญ่ต้องการคุณสมบัติของพนักงงานใหม่ที่มาพร้อมกับ “ประสบการณ์”
เมื่อนักศึกษาจบใหม่ เป็นกลุ่มแรงงานใหม่ที่พร้อมเข้าสู่ตลาด แต่ยังขาดประสบการณ์ในการทำงานจริง จึงทำให้บัณฑิตจบใหม่จำนวนมากไม่สามารกหางานทำได้ มีข้อมูลจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทย สำรวจและพบว่า บัณฑิตจำนวน ร้อยละ 65 ที่จบใหม่ หางานทำยังไม่ได้ หรือการหางานประจำนั้นต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี จึงจะได้งาน …ซึ่งปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงมนุษย์ (human security) ในระยะยาวนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่มีกลุ่มคนวัยแรงงานเป็นประชากรจำนวนมากของประเทศ
ปรากฏการณ์นี้สร้างความน่าแปลกใจไม่น้อย เพราะในปัจจุบันเราเห็นกันว่า มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตัวตนผ่านช่องทางออนไลน์ อาชีพ content creator หรือการทำงานฟรีแลนซ์ ซึ่งเป็นช่องทางที่สร้างรายได้ได้มหาศาล แต่แรงงานอีกร้อยละ 48 ยังคงเป็นแรงงานที่ต้องทำงานประจำ เพราะสายอาชีพอย่าง ช่างประจำเครื่องจักร นักวิจัย แพทย์และพยาบาล พนักงานบริการต่าง ๆ เป็นงานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมทั้งยังเป็นตลาดแรงงานที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์บัณฑิตจากสถาบันศึกษาต่าง ๆ ให้ได้ประกอบอาชีพตรงตามกับความถนัดที่เรียนมา แต่อย่างไรก็ตาม….ตำแหน่งงานเหล่านั้นที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้บัณฑิตส่วนหนึ่งเลือกที่จะศึกษาต่อ เพื่อเพิ่มทักษะของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อใช้เวลาให้คุ้มค่าในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี และเพิ่มโอกาสในการได้งานในเวลาอีก 2-5 ปีข้างหน้า ที่คาดหวังว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้นและมีแหล่งงานต้อนรับพวกเขา
แต่คำถามสำคัญที่ตามมา คือ การศึกษาต่อ จะสามารถทดแทน หรือมอบสิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการ ที่เรียกว่า “ประสบการณ์การทำงาน” ได้หรือไม่ !?
เราขอนำเสนอจากประสบการณ์จริงว่า การศึกษาต่อในระดับปริญญาอาจไม่ได้สามารถทดแทนประสบการณ์การทำงานจริงได้ เพราะการทำงานนั้นต้องอาศัยทักษะผสมผสานกันระหว่างความรู้ความเชี่ยวชาญ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เสมือน “ศาสตร์และศิลป์” จะต้องผสมผสานกันอย่างลงตัว ..และประสบการณ์นี้อาจจะต้องเกิดจากการได้ลองทำจริง หรืออาจผ่านการฝึกงานอย่างจริงจังเท่านั้น ดังนั้น ในยุคที่องค์ความรู้และเทคโนโลยีพัฒนาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว “ตำราวิชาการ” ที่เดิมทีจะเน้นการพิสูจน์เชิงทฤษฎีอย่างถูกต้องก่อนที่จะได้รับการเผยแพร่ในมหาวิทยาลัย ก็จำเป็นจะต้องปรับตัวและก้าวให้ทันตลาดแรงงานยุคใหม่ เพื่อที่จะสร้างบัณฑิตให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้ ทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะ รวมถึงประสบการณ์
แล้วอาชีพอะำรที่ตลาดต้องการ …..ในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) นักวิทยาศาสตร์ทางด้านความยั่งยืน แรงงานด้านการคมนาคมขนส่ง ศิลปินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ ซึ่งนอกจากพื้นฐานความรู้แล้ว การศึกษาในมหาวิทยาลัยยังจำเป็นจะต้องมอบประสบการณ์ในการปฏิบัติงานให้กับนักศึกษาด้วย ผ่านการสร้างความร่วมมือกับแหล่งงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในการฝึกงานในระยะเวลายาวมากยิ่งขึ้น และมีส่วนในการประเมินการศึกษาใกล้เคียงกับสหกิจศึกษา (Co-operative Education) ที่มีอยู่ในบางหลักสูตรในปัจจุบัน
นอกจากนั้น การเติมทักษะให้กับแรงงานที่อยู่ในตลาดอยู่แล้วด้วยหลักสูตรระยะสั้นก็เป็นส่วนสำคัญอย่างมาก สำหรับแรงงานที่ต้องการต่อยอดทางอาชีพ เพราะพวกเขาเหล่านั้นจะต้องเติบโตในสายอาชีพที่มีการแข่งขันสูง จำเป็นต้องเพิ่มความเชี่ยวชาญให้กับบุคลากร ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับบัณฑิตจบใหม่ที่ต้องการศึกษาต่อ นั่นคือ ลองมองหาหลักสูตรที่ช่วยเติมทักษะเฉพาะทาง ไปสู่แหล่งงานในอนาคต เพื่อให้พวกเขากลายเป็นบุคคลที่พร้อมต่อการทำงานในระดับที่สูงมากยิ่งขึ้น
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สถาบันศึกษาและผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ ต้องตื่นตัวกับตลาดแรงงานรูปแบบมใหม่ เพราะเมื่อ 30 ปีที่แล้ว…ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ก็เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่บัณฑิตไม่สามารถหางานได้ตรงตามกับสาขาที่จบมา ส่วนหนึ่งผันตัวสู่งานวิชาการและได้กลายเป็นผู้บริหารที่จะมีส่วนตัดสินใจในการสร้างอนาคตแรงงานไทยผ่านการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างทักษะที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเมื่อประชากรกลุ่มวัยแรงงานสามารถเข้าถึงแหล่งงานที่มีรายได้สูงพอที่จะเป็นเสาหลักของสังคมอย่างมั่นคง จะส่งผลต่อโครงสร้างประชากรของประเทศที่จะสามารถโอบอุ้มวัยชราในยุค aging society และพร้อมที่จะสร้างครอบครัว ดูแลเยาวชนในรุ่นต่อไปให้กลายเป็นประชากรที่มีคุณภาพพร้อมที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตอีกได้อีกยาวไกล