สินค้าแบรนด์เนมแม้จะได้ชื่อว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ในช่วงปี 2563-2566 เป็นช่วงที่ตลาดสินค้าแบรนด์เนมเติบโตอย่างต่อเนื่องสูงสุด หรือที่ร้อยละ 9 เนื่องจากแรงซื้อที่อัดอั้นมาจากช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้การซื้อ-ขายสินค้าแบรนด์เนมหยุดชะงัก ดังนั้น การได้ครอบครองสินค้าเหล่านี้หลังจากวิกฤตคลี่คลาย ก็ได้ช่วยลดความตึงเครียดให้กับผู้บริโภคที่นิยมสินค้าแบรนด์เนมได้ นอกจากนี้ ผู้ซื้อบางรายเข้าสู่ตลาดนี้ด้วยบทบาทการเป็น “นักลงทุน” ที่หวังเก็งกำไรจากการขายสินค้าต่อ เพราะสามารถให้ผลตอบแทนมากถึง ร้อยละ 20 (ขึ้นอยู่กับสินค้าและระยะเวลา) แต่แน่นอนว่า ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทำให้ตลาดของแบรนด์เนมตกอยู่ในช่วงฝืดเคืองอีกครั้ง ตามวัฏจักรที่มีช่วงขาขึ้นและขาลง โดยที่วัฏจักรนี้อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการเติบโตของสินค้าแบรนด์เนม คือ นโยบายทางการค้าที่เข้มงวดของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการแข่งขันการค้ากับจีน และสงครามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจนส่งผลกระทบต่อความแน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทั้ง 2 ปัจจัยส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลก เพราะผู้ซื้อจึงเริ่มกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่อาจปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตช้าลง ทั้งที่ยังคงเป็นตลาดขนาดใหญ่ของโลก แต่ปัญหาอสังหาริมทรัพย์และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ทำให้ประชาชนชาวจีนเริ่มใช้จ่ายอย่างประหยัด และมองหาสินค้ามือสองหรือเปลี่ยนวิธีการจากการซื้อสินค้าแบรนด์เนม ไปเป็นการ “เช่า” มากขึ้น ดังนั้น ตลาดของสินค้าแบรนด์เนมจึงย้ายไปที่ประเทศที่มีเศรษฐีใหม่มากขึ้น เช่น อินเดีย หรือศูนย์กลางการบินและการชอปปิ้งอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
แม้จะมีตลาดใหม่ แต่ตลาดใหญ่อย่างจีนที่มีกำลังซื้อลดลง ทำให้การคาดการณ์รายได้ของหลายแบรนด์หรูลงลงเหลือเพียงร้อยละ 5.5 เท่านั้น
เพื่อเตรียมรับมือกับแนวโน้มดังกล่าว นักธุรกิจเจ้าของสินค้าแบรนด์เนมเหล่านี้จำนวนมาก เลือกที่จะปรับเปลี่ยนกลุยุทธ์ เพราะหากต้องเพิ่มราคาสินค้าให้สูงขึ้น และดูเข้าถึงยาก เพื่อบ่งบอกฐานะของผู้ครอบครองอาจจะใช้ไม่ได้ผลกับเศรษฐกิจปัจจุบันอีกต่อไป แต่เจ้าของแบรนด์อาจเลือกที่จะออกสินค้า line ใหม่ และกำหนดราคาสินค้าที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น เพื่อขยายฐานผู้บริโภคนั่นเอง รวมทั้งยังหันไปเน้นการเพิ่มประสบการณ์การบริการหลังการขาย ให้ตรงกับแนวความต้องการของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้ต้องการแสดงฐานะทางการเงินจากสินค้าแบรนด์เนม แต่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและความคุ้มค่าของการจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงปรับวิธีการผลิตและเลือกใช้วัสดุให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การลดคาร์บอนในกระบวนการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าโดยผ่านภาษีคาร์บอนที่กำลังเข้มข้น เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจว่า สินค้าราคาแพงเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของพวกเขาเป็นคนฟุ้งเฟ้อ หรือแต่กลับได้มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่านั่นเอง
ที่ผ่านมา สินค้าแบรนด์เนมสร้างจุดแข็งด้วยเรื่องคุณภาพ ความหรูหรา ภาพลักษณ์ ความคลาสสิคและแฟชั่น ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะได้กลายเป็นผู้นำเทรนด์ หรือสามารถสำรวจความนิยมของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ แต่ว่านั่นคือเรื่องราวในอดีต!!…
ในปัจจุบัน การเก็บข้อมูลจำนวนมากเพื่อพยากรณ์แนวโน้มในอนาคตทำได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี Big Data และปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันที่ทำให้มีข้อมูลบุคคลที่แสดงความชอบสินค้าในชนิดนั้น ๆ เผยแพร่อยู่จำนวนมาก เพราะฉะนั้น หลังจากนี้ เทคโนโลยีจะมีส่วนในการทำตลาด เชื้อเชิญให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าที่ตนเองสนใจได้มากขึ้น
การซื้อขายสินค้าแบรนด์เนมย่อมต้องการสร้างประสบการณ์ที่สามารถจับต้องได้ จึงอาจไม่ใช่พื้นที่สำหรับปัญญาประดิษฐ์ที่จะมีบทบาทอย่างสูงในการทำการตลาดออนไลน์ แต่เทคโนโลยีจะยังมีส่วนร่วมอย่างมากในกระบวนการผลิตสินค้า แน่นอนว่า สินค้าที่ใช้ความเชี่ยวชาญหรือของทำมือนั้นเป็นส่วนเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหรู เช่น รถ super car หลายยี่ห้อ ยังอาศัยผีมือช่างในการทำเครื่องยนต์ ตกแต่งภายใน และทำสี และนี่จะเป็นส่วนที่เครื่องจักรและหุ่นยนต์ยังไม่เข้ามาแทนที่ แต่การควบคุมวัตถุดิบตั้งต้น และการลดผลเสียจากการผลิต กลับพบว่า การใช้สมองกลหรือเครื่องจักรที่มีการเรียนรู้ระดับสูงสามารถช่วยได้มาก และเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าหรูเหล่านี้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้าอย่างยิ่ง
สิ่งที่เราได้เห็นในปัจจุบันคือการปรับตัวของสินค้าแบรนด์เนม ซึ่งยังคงสามารถรักษาเอกลักษณ์ทางคุณค่า ความคลาสสิคที่มาจากคุณภาพและชื่อเสียงที่บ่มเพาะมาในเวลานาน และในอนาคต…
เราเชื่อว่าตลาดสินค้าแบรนด์เนมจะต้องเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยไปอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงปัจจัยเทคโนโลยี สภาพเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม มุมมองและความคิดของลูกค้าและผู้บริโภคในแต่ละรุ่น (Generations) ที่จะมีพฤติกรรมแตกต่างกันไปด้วย ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจสินค้าฟุ่มเฟือย หรือเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและศึกษาสถานการณ์รอบตัวอยู่เสมอ การปรับกลยุทธ์ของตลาดสินค้าแบรนด์เนมจึงเป็นตัวอย่างหรือบทเรียนให้กับสินค้าประเภทอื่น ๆ ได้เช่นกัน