เมื่อเปิดรับการติดต่อกับต่างชาติไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักศึกษาที่เข้ามาชั่วครั้งชั่วคราวระยะสั้น หรืออยู่ยาวจนตั้งรกรากในประเทศ แน่นอนว่าต้องมีภาษาเป็นสะพานในการสื่อสาร ทั้งภาษาของตนเองหรือภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง ซึ่งในฐานะภาษาสากล ภาษาอังกฤษทำหน้าที่ดังกล่าวมาเป็นอย่างดีในทุกแวดวง โดยที่แทบไม่มีประเทศใดตะขิดตะขวงใจกับอิทธิพลของภาษาอังกฤษทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ในไทยก็เช่นกัน เราคุ้นตาและคุ้นชินกับป้ายร้านค้าหรือป้ายโฆษณาต่าง ๆ ที่ปรากฏภาษาไทยคู่กับภาษาอังกฤษมาตลอด จนมาระยะหลังที่เริ่มปรากฏภาษาต่างประเทศอื่นแซมอยู่กับภาษาไทยบ้างหรืออยู่โดด ๆ ซึ่งจะหนาตาขึ้นในย่านที่มีชาวต่างชาติเจ้าของภาษานั้น ๆ อาศัยอยู่หนาแน่น
การปรากฏของภาษาต่างชาติคู่กับภาษาท้องถิ่นตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในทุกประเทศและ จะพบเจอบ่อยครั้งมากขึ้นตามจำนวนคนชาตินั้น ๆ และที่ผ่านมาแทบไม่ปรากฏข่าวการขัดกันในสังคม อันเนื่องจากการใช้ภาษาต่างชาติในประเทศต่าง ๆ …แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น
มาเลเซียเป็นตัวอย่างของประเทศที่เกิดความรู้สึกขัดใจในสังคมอันเนื่องมาจากการใช้ภาษาระหว่างภาษามลายูกับภาษาจีน ที่สร้างความไม่พอใจให้ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งก็เป็นประชากรของมาเลเซียไม่ต่างจากชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายู เพียงแต่ว่าเป็นประชากรส่วนน้อยมีประมาณร้อยละ 22.6 ขณะที่ชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีประมาณ 34 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด ปัญหาที่ว่าเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น การขอให้ปลดป้ายภาษาจีนในย่านไชน่าทาวน์ ที่กัวลาลัมเปอร์ ขณะมีการจัดการประชุมที่ Kuala Lumpur City Hall เมื่อปีที่แล้ว หรือปี 2566 หรือการที่ทางการกัวลาลัมเปอร์บังคับใช้กฎหมายที่ระบุให้การโฆษณาต้องใช้ตัวอักษรภาษามลายูใหญ่กว่าภาษาอื่น ส่วนที่รัฐเปรักก็มีเหตุการณ์เกี่ยวกับป้ายภาษาจีนเช่นกัน โดยในการปรับปรุงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีป้ายภาษามลายูและภาษาจีนอยู่ด้วยกัน ระหว่างการปรับปรุงมีการนำป้ายภาษาจีนออก คงเหลือแต่ป้ายภาษามลายูเพียงป้ายเดียว ทำให้คนในพื้นที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนถึงร้อยละ 90
เหตุการณ์ในลักษณะนี้แม้ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่ก็จุดกระแสความไม่พอใจให้ชาวมาเลเซียบางส่วน ที่เห็นว่าแผ่นป้ายภาษาจีนมีความสำคัญในแง่การรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความเปราะบางในสังคมที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติในมาเลเซียอีกแง่มุม และแม้มีการนำเหตุการณ์ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ของกลุ่มการเมือง แต่ก็โชคดีที่ความบาดหมางที่เกิดขึ้นยังไม่บานปลายเป็นความขัดแย้งรุนแรง อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกไม่พอใจที่เกิดขึ้นไม่เป็นผลดีต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในสังคม ซึ่งตามปกติ เหตุการณ์เกี่ยวกับเชื้อชาติ ศาสนา รวมถึงวัฒนธรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์เป็นประเด็นที่กระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมได้ง่ายอยู่แล้ว
ย้อนมาที่ไทยที่ก็มีป้ายภาษาต่างชาติให้เห็นเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษและมีภาษาอื่นบ้างประปราย หากแต่วันนี้ ปรากฏป้ายโฆษณาและป้ายร้านค้าภาษาต่างชาติที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษมากขึ้น ทั้งที่คู่กับภาษาไทยหรือไม่ก็อยู่โดด ๆ โดยการมองเห็นที่มากขึ้นและถี่ขึ้นสัมพันธ์กับจำนวนประชากรจากประเทศนั้น ๆ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีน ภาษารัสเซีย หรือภาษาเมียนมา ซึ่งการปรากฏป้ายภาษาต่างชาติเพิ่มขึ้นทั้งที่ผสมกับภาษาไทยหรือเป็นภาษาต่างชาติโดด ๆ แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็มีนัยที่สะท้อนถึงจำนวนและการขับเคลื่อนกิจกรรมของคนชาตินั้น ๆ ในไทยมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ ในฐานะนักลงทุน นักท่องเที่ยว และแรงงาน
จำนวนแผ่นป้ายภาษาต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารกับชาวต่างชาติเหล่านั้น แม้อาจยังไม่ทำให้เกิดความรู้สึกในแง่ลบหรือรู้สึกขัดใจในสังคมไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้ผู้คนที่อยู่ในย่านนั้นหรือแม้แต่คนทั่วไปที่พบเห็น รู้สึกได้ถึงการมีตัวตนในพื้นที่ของชาวต่างชาติเจ้าของภาษาดังกล่าว จึงไม่แปลกที่จะมีการพูดถึงย่านการค้าหรือที่อยู่อาศัยที่เต็มไปด้วยป้ายภาษาต่างชาติในทำนองตลกร้ายที่ว่าเหมือนอยู่ในประเทศนั้น หรือพื้นที่ตรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนั้นไปแล้ว
คำพูดดังกล่าว……น่าจะสะท้อนถึงความรู้สึกที่ไม่สบายใจนักของคนในพื้นที่ ที่มีต่อการมีอยู่ของชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และความรู้สึกแบบนี้น่าจะมีมากขึ้นหากเขาเหล่านั้นต้องประสบปัญหา อันเนื่องมาจากชาวต่างชาติ ที่เข้ามาประกอบธุรกิจ ท่องเที่ยว หรือแม้แต่ถือครองสินทรัพย์ รวมทั้งอาจสั่นคลอนวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของคนพื้นที่ ดังนั้น ป้ายร้านค้าหรือป้ายโฆษณาภาษาต่างชาติที่เราพบเห็น อาจไม่ได้เป็นแค่เพียงป้าย แต่จำนวนของป้ายที่เพิ่มขึ้นยังบ่งบอกถึงการมีตัวตนและบทบาทของคนชาตินั้น ๆ ในสังคมไทย ที่นับวันจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งน่าจะต้องให้ความสนใจกับเนื้อความบนป้ายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นป้ายภาษาใด เพื่อป้องกันการสื่อความที่อาจทำให้เกิดปัญหา และที่ต้องไม่ละเลยคือ ความรู้สึกของคนในชุมชนที่มีต่อการเข้ามาของคนต่างชาติ