สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรนิกายคาทอลิก สิ้นพระชนม์เมื่อปลายเมษายน 2568 ขณะที่กระบวนการคัดเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นโดยได้รับความสนใจจากคริสต์ศาสนิกชนและทั่วโลก เพราะนอกจากจะเป็นการคัดเลือกบุคคลสำคัญที่เป็นผู้นำทางศาสนาแล้ว บทบาทของสมเด็จพระสันตะปาปายังมีอิทธิพลต่อบรรยากาศความมั่นคงระหว่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งด้านการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงมนุษย์ด้วย
บทความนี้ขอแสดงความไว้อาลัยแก่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้ได้รับฉายาว่าเป็นโป๊ปสายก้าวหน้า และผู้สนับสนุนคนชายขอบในสังคมโลก โดยขอนำเสนอ “ผลงาน” ในมิติความมั่นคงระหว่างประเทศที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ใช้เวลา 12 ปี ระหว่างการดำรงตำแหน่งสร้างความเปลี่ยนแปลงและคาดหวังว่าจะเป็นทิศทางที่ดีของศาสนจักรที่จะส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงของโลกต่อไป
ขอเริ่มที่บทบาทของพระองค์กับการส่งเสริมแนวคิดความมั่นคงมนุษย์ …….
ความมั่นคงมนุษย์นั้นเป็นกระบวนทัศน์ที่เชื่อว่ารัฐและสังคมจะอยู่รอดปลอดภัยและปราศจากภัยคุกคามอันตรายได้ ก็ต่อเมื่อ “มนุษย์” ในสังคมรู้สึกปลอดภัย มีสิทธิและเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ และความต้องการพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียม แนวคิดที่ส่งเสริมความมั่นคงมนุษย์จะมีรากฐานส่วนใหญ่มาจากการให้ความสำคัญกับ “สิทธิ” ของมนุษย์ในสังคม ดังนั้น การที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้มาจากอาร์เจนตินา ใช้บทบาทของพระองค์เพื่อการเรียกร้องสิทธิและโอกาสเท่าเทียมทางสังคมให้กลุ่มผู้อพยพ ชนกลุ่มน้อย คนยากไร้ และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ จึงเป็นผลงานที่โดดเด่นและสร้างความแตกต่างจากคริสตจักรสายอนุรักษ์นิยม จนทำให้สื่อต่างประเทศมอบฉายาโป๊ปสายก้าวหน้าแก่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งเป็นไปตามพระประสงค์ที่ท่านเลือกใช้พระนามว่า “Francis” ในมาจากนามของนักบุญฟรังซิส ผู้ก่อตั้งคณะนักบวชฟรังซิสกัน ผู้สนใจและเอาใจใส่ผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมสันติภาพ และรักษ์สิ่งแวดล้อม
บทบาทในมิตินี้โป๊ปก็เคยได้แสดงให้เห็นเด่นชัด ตอนที่เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อพฤศจิกายน 2562 นอกจากการเข้าเฝ้าบุคคลสำคัญของไทย ท่านได้ประกอบพิธีสหบูชามิสซาเพื่อประชาสันบุรุษ ที่สนามกีฬาแห่งชาติศุภชลาศัย ในกรุงเทพฯ แล้ว ท่านได้เสด็จเยือนวัดคาทอลิกนักบุญเปโตร สามพราน จ.นครปฐม ชุมชนชาวคริสต์ที่ใหญ่อันดับ 2 ในไทยด้วย ซึ่งเป็นโอกาสให้ชาวคริสต์จากหลายพื้นที่ได้เฝ้ารับเสด็จ สะท้อนว่าท่านให้ความสำคัญกับการเยือนประเทศต่าง ๆ เพื่อพบและมอบโอกาสแก่ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นชาวคริสต์หรือผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ๆ
เมื่อตอนที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสไปเยือนอินโดนีเซีย ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก ก็เป็นการส่งสัญญาณให้พลเมืองโลกเชื่อมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างชนต่างศาสนา ท่านได้พบกับผู้นำศาสนา คนสำคัญมากมาย และสนับสนุนพหุสังคมในอินโดนีเซีย
ภารกิจเสด็จเยือนต่างประเทศของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในแต่ละครั้งนั้นยังเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาของสำนักวาติกันทีละเล็กละน้อย เพราะพระองค์เสด็จเยือนภูมิภาคเอเชีย และแอฟริกามากกว่าโป๊ปพระองค์อื่น ๆ คือ เยือนเอเชีย 13 ครั้งและเยือนแอฟริกา 9 ครั้ง เป็นการปรับทิศทางการดำเนินนโยบายเผยแพร่คริสต์ศาสนาไปยังภูมิภาคอื่น ๆ นอกจากยุโรป ถ้าเปรียบเทียบกับสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ก่อนหน้านี้ หรือสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกส์ ก็เรียกได้ว่าเยือนแอฟริกามากกว่าถึง 6 ครั้ง ขณะที่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกส์ไม่เคยเยือนเอเชียเลย
ในอดีต…….จนถึงปัจจุบัน…..
การเสด็จเยือนต่างประเทศของสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งเป็นประมุขของคริสต์ศาสนา เคยถูกวิจารณ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ศาสนาและความเชื่อ รวมทั้งอาจเป็นการขยายอิทธิพลของแนวคิดโลกตะวันตก อย่างไรก็ดี ยุคสมัยที่วุ่นวาย เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้กระแสวิจารณ์บทบาทของโป๊ปในแบบอดีตนั้นเลือนหายไป เพราะประชากรโลกส่วนใหญ่ให้การต้อนรับผู้ที่จะส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ นอกจากนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีแนวทางเผยแพร่ความคิดเห็นและคำสอนที่ค่อนข้างทันสมัยและให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตนเอง เช่น การเตือนให้ประชาชนในโลกตะวันออกไม่หลงลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรมท้องถิ่น และไม่ไปหลงตามความเชื่อแบบวัตถุนิยมที่อาจเผยแพร่มาจากต่างประเทศ ท่านให้ความสำคัญกับโลกที่มีความหลากหลายและพหุสังคมอย่างแท้จริง เพราะนั่นจะเป็นหนทางสู่การอยู่ร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเคยชื่นชมสิงคโปร์ที่สามารถสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมได้ไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในนโยบายต่างประเทศ
การขยายความสัมพันธ์ระหว่างสำนักวาติกันกับจีน …….
บทบาทที่น่าสนใจของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในมิติระหว่างประเทศอีกเรื่องหนึ่งที่น่าหยิบมาวิเคราะห์และประเมินกันต่อไป ที่นอกเหนือการให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียและแอฟริกามากขึ้น และการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมแล้ว คือ การขยายความสัมพันธ์ระหว่างสำนักวาติกันกับจีน …เพราะโป๊ปพระองค์นี้สนับสนุนการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสำนักวาติกันกับจีน ประเทศมหาอำนาจของโลกที่ห่างเหินกับสำนักวาติกันมานานแสนนาน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสส่งหนังสือแสดงความยินดีไปให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อครั้งได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งผู้นำจีนก็ได้ส่งหนังสือตอบรับกลับมาด้วย สร้างความประหลาดใจให้กับเจ้าหน้าที่ในสำนักวาติกัน และทำให้บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจีนจะยังคงเข้มงวดการแสดงออกและการทำกิจกรรมทางศาสนาที่อาจมีความเสี่ยงต่อระเบียบของสังคมและการศึกษาภายในประเทศก็ตาม แต่คริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกก็เป็น 1 ใน 5 ศาสนาที่รัฐบาลจีนรับรอง
ที่ผ่านมา …พรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่าการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศเป็นความพยายามแทรกแซงอิทธิพลจาดประเทศตะวันตก ทำให้ความสัมพันธ์ค่อนข้างห่างเหิน ซึ่งความพยายามของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสต่อการเชื่อมความสัมพันธ์อีกครั้งจึงถือว่าเป็นเรื่องที่โดดเด่น และต้องจับตามองต่อไปว่าสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่จะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้
นอกจากการเสด็จเยือนต่างประเทศ และการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสำนักวาติกันกับจีน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งในสงครามระหว่างประเทศยุติความรุนแรง ทั้งสถานการณ์ในยูเครนและฉนวนกาซา และที่โดดเด่นอย่างมากคือการที่พระองค์ส่งเสริมเรื่องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวว่าการปล่อยมลภาวะนั้นเป็นการทำบาป ตลอดจนย้ำให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ทำตามข้อตกลงโลกร้อนอย่างจริงจังด้วย บทบาทของพระองค์ในมิตินี้เข้มข้นมาก เช่นเดียวกันกับเรื่องปกป้องสิทธิผู้อพยพทั่วโลก จนทำให้บางครั้งเราจะได้เห็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่พาดพิงการดำเนินนโยบายต่างประเทศผู้นำประเทศต่าง ๆ และกลายเป็นประเด็นความเห็นต่างระหว่างผู้นำศาสนากับผู้นำโลกให้เห็นในสื่อต่างประเทศบ่อยครั้ง
บทบาทของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะยังคงเป็นที่จดจำและยกย่องต่อไป…… ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่นับถือศาสนาใดก็สามารถใช้คำสอนและคำเตือนของท่านผู้นำศาสนาพระองค์นี้ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและมุมมองต่อโลกในยุคปัจจุบันให้เหมาะสมได้ และวิเคราะห์อนาคตกันต่อไปว่า ไม่ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่จะเป็นท่านใด ก็เชื่อว่าจะคงมีบทบาทต่อการส่งเสริมความมั่นคงมนุษย์และความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไปเช่นกัน