ในปัจจุบันถ้าเราเดินทางไปยังสถานที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ รถสาธารณะ หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เราจะพบว่ามีคนที่เดินผ่านเรา 1 ใน 5 คน เป็นกลุ่มคนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 + ขึ้นไป ข้อมูลของสํานักงานสถิติแห่งชาติของไทยซึ่งทําการสํารวจประชากรสูงอายุพบว่าประชากรไทยจํานวน 65.95 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุถึง 14.03 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูลปี 2567) และมีจํานวนเด็กที่เกิดใหม่น้อยกว่าจํานวนผู้เสียชีวิต ทําให้ประชากรลดลง จึงมีการคาดการณ์ว่าในอีกประมาณ 60 ปี ข้างหน้าจํานวนประชากรอาจเหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 33 ล้านคน
อัตราการเจริญพันธ์ุรวม (Total fertility Rate -TFR) ที่วัดจากสตรีเจริญพันธ์ุคนหนึ่งจะมีเด็กเกิดได้เพียง 1.16 คน โดยในปี 2567 ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในระดับที่ 2 ตามการแบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขององค์การสหประชาชาติ (UN) 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 ก้าวสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) มีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 10 ระดับที่ 2 สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) มีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ระดับที่ 3 สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super Aged Society) มีประชากรอายุ 65 ปี ขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ
สาเหตุที่สําคัญที่ทําให้อัตราการเกิดลดลงและมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเกิดจากค่านิยมการมีบุตรที่ลดลงโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเมื่อปี 2566 ได้แบ่งปัจจัยออกเป็น ดังนี้ 1) โสด หรือไม่ต้องการมีบุตร 2) ภาวะเศรษฐกิจหรือกำลังซื้อ 3) ปัญหาการมีบุตรยากขึ้นจากการแต่งงานช้าลง 4) ภาวะความเครียด 5) การเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เช่น โรคมะเร็ง หลอดเลือดสมองและหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง) 6)สภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อสุขภาพ (โรคอุบัติใหม่ เช่น Covid- 19 ปัญหาฝุ่น PM2.5 และสภาพอากาศร้อนจัด)
ในปี 2568 ไทยเป็นหนึ่งในสองประเทศอาเซียนที่เข้าสู่ระดับที่ 2 กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) โดยสมบูรณ์ ส่วนอีกประเทศ คือ สิงคโปร์ แต่ประเทศไทย มีคํากล่าวว่าเป็นประเทศที่ “แก่ก่อนรวย” เพราะไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ในระดับปานกลาง จึงประสบปัญหามากกว่าประเทศอื่นที่มีรายได้สูงไปก่อนแล้ว โดยปัญหาของสังคมผู้สูงอายุมิได้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมเท่านั้น แต่ยังกระทบในด้านอื่น ๆ อีกด้วย แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ
1) ด้านเศรษฐกิจ ประชากรวัยทํางานที่ลดลง เพราะมีแต่คนวัยเกษียณ ส่งผลให้มูลค่าเศรษฐกิจลดลงทําให้รัฐบาลต้องขาดรายได้จากภาษีรวมไปถึงเงินออมโดยรวมของประชาชนลดลง เช่น กองทุนประกันสังคมที่หากไม่มีการปฏิรูปในอีก 30 ปี เงินสํารองของกองทุนก็จะหมดลงนําไปสู่การล้มละลาย ส่วนประชาชนที่เหลือในอาชีพอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีระบบเครือข่ายทางสังคม (Social Safety Net) ในการรองรับเพื่อออมเงินไว้ก็จะประสบกับปัญหาทางการเงินเมื่อแก่ตัวลง ซํ้าเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีมากอยู่แล้วในปัจจุบัน ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้นโยบายในการอุดหนุนกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นทําให้การคลังของภาครัฐขาดดุลและเพิ่มหนี้สาธารณะของประเทศ
2) ด้านสังคม การที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทําให้คนในวัยทํางานต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุ และหากผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแลก็อาจมีปัญหาด้านสภาพจิตใจ ทําให้รู้สึกถูกเหงาหรือถูกทอดทิ้งรวมถึงต้องมีิอุปกรณ์ในการดูแลอย่างรอบด้าน เช่น รถเข็น เตียงผู้สูงอายุ และหมอนช่วยพลิกตัว เป็นต้น อีกทั้งทางเลือกบ้านพักผู้สูงอายุในปัจจุบันยังไม่เพียงพอและมีราคาที่สูง
3) ด้านสาธารณสุข เมื่อมีผู้สูงอายุย่อมตามมาด้วยปัญหาสุขภาพ และหากผู้สูงอายุไม่มีกําลังทรัพย์เพียงพอในการรักษาตนเองหรือมีปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิการในการรักษาพยาบาลก็ส่งผลร้ายต่อตัวของผู้สูงอายุ และส่งผลถึงการที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับภาระของในการรักษาคนไข้ต่อคนเพิ่มมากขึ้น เกิดปัญหาสมองไหลที่บุคลากรทางการแพทย์ย้ายไปภาคเอกชนหรือออกจากระบบ ซึ่งยิ่งซํ้าเติมปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศ
แนวทางการแก้ไขปัญหาควรมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและแก้ไขที่ต้นเหตุแบบรอบด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อดูแลผู้ปกครองและสนับสนุนเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี (ปัจจุบันของประกันสังคม ม.33/39 ที่ 800 และ ม.40 ที่ 200/เดือน และของ พม.ที่ 600 บาท/เดือน) การปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีดอกผลเพิ่มขึ้นและการบริหารเงินให้มีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกันตน หรือการรับสมัครประชาชนที่มีรายได้ในลักษณะภาคบังคับให้เข้าอยู่ในประกันสังคมตามมาตรา 40 และกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้มีเครือข่ายทางสังคมในการรองรับประชาชน รวมถึงการปฏิรูปด้านการจัดเก็บภาษีและการเงินการคลังของภาครัฐ
ด้านสังคมควรมีการจัดสวัสดิการ โดยให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดพื้นที่ เช่น ส่วนกลางทํากิจกรรม บ้านพักผู้สูงอายุ และห้องสมุดสาธารณะ เป็นต้น เพื่อจะให้ผู้สูงอายุไม่มีปัญหาด้านสภาพจิตใจ และอาจสร้างงาน เช่น งานขายสินค้า และงานบริการลูกค้า เป็นต้น รวมถึงนโยบายการเพิ่มอายุการเกษียณทั้งในระบบราชการกับเอกชนจาก 60 ปี เป็น 62 ปี โดยนําร่่องในลักษณะงานที่ขาดแคลน ส่วนด้านสาธารณสุขควรขยายสิทธิสวัสดิการให้กับผู้ประกันตน และเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของสถานบริการทางการแพทย์ทั้งในระดับ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ อาทิ โรงพยาบาลประจําอําเภอ โรงพยาบาลประจําจังหวัด และโรงพยาบาลศูนย์ พร้อมกับสร้างแรงจูงใจไม่ให้เกิดปัญหาสมองไหลในวงการสาธารณสุข ทั้งหมดนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขเพื่อให้สังคมไทยพร้อมรับกับปัญหาผู้สูงอายุในอนาคตอย่างเป็นระบบ