สปป.ลาว เสน่ห์ของการท่องเที่ยวที่น่าดึงดูดใจ คำคำนี้คงไม่ผิดนัก เพราะ สปป.ลาวมีธรรมชาติที่ร่ำรวย ยังไม่ถูกคุกคามจากโลกภายนอกมากนัก วัฒนธรรมที่เรียบง่าย รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้สูงลิบลิ่ว ทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปเที่ยว สปป.ลาวกันอย่างไม่หยุดยั้ง รายได้จากการท่องเที่ยวจึงเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลัก (key driver) ที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศซี่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้เข้าประเทศ ซึ่งเมื่อปี 2567
ปีแห่งการท่องเที่ยว (Visit Laos Year 2024) ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติใน สปป.ลาว เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 21 เป็นมากกว่า 4.1 ล้านคน และจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 102 เป็นมากกว่า 3 ล้านคน
ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank-ADB) เผยแพร่การประเมินเศรษฐกิจของ สปป.ลาวปี 2568 เมื่อต้นเมษายน 2568 ว่า จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.9 ส่วนการเติบโตภาคบริการ เฉพาะอย่างยิ่งการขนส่ง และการท่องเที่ยวจะขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟระหว่าง สปป.ลาวกับจีน รวมทั้งที่เชื่อมโยงลาวกับประเทศเพื่อนบ้านจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเช่นกัน ADB คาดการณ์ด้วยว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปี 2568 จะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.1 อยู่ในระดับใกล้ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
เว็บไซต์ Travel and Tour World (TTW) ได้จัดอันดับให้ สปป.ลาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ค่าใช้จ่ายสร้างความสบายใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอันดับ 1 ของโลก จากทั้งหมด 131 ประเทศทั่วโลก โดยค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว รวมที่พักใน สปป.ลาว ประมาณ 12.30 ปอนด์ต่อวัน อันดับ 2 คือ คาซัคสถาน ประมาณ 15.10 ปอนด์ต่อวัน และรวันดาอยู่อันดับ 3 ประมาณ 16.60 ปอนด์ต่อวัน
สปป.ลาวยังให้ความสำคัญในการใช้เวทีในอนุภูมิภาค เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวด้วย โดยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Mekong Tourism Forum (MTF) 2025 ที่เมืองหลวงพระบาง ระหว่าง 25-27 มิถุนายน 2568 โดยประเทศ 7 ประเทศในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ได้แก่ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และจีน (กว่างสี และยูนนาน) จะมาประชุมร่วมกันภายใต้หัวข้อ“United Journey – Stronger Together” เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน และสร้างความยั่งยืนของรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ที่ประชุมจะผลักดันให้มีการประกาศ GMS Tourism Strategy 2030 เพื่อนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ GMS
สปป.ลาวให้ความสำคัญกับการเดินทางแบบเชื่อมโยงด้วย โดยเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ระหว่างเมืองคุนหมิง-เวียงจันทน์ หรือ China-Laos Railway ที่มีระยะทาง 1,035 กิโลเมตร และเปิดวิ่งอย่างเป็นทางการเมื่อเมษายน 2566 ได้เพิ่มจำนวนเที่ยว เพื่อรองรับที่เพิ่มมากขึ้น และเมื่อเมษายน 2567 เส้นทางรถไฟจีน-ลาวได้เปิดบริการเส้นทางอีก 1 คู่ ระยะทาง 94 กิโลเมตร คือ จังหวัดปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา-หลวงพระบาง ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้ รถไฟเส้นทางรถไฟจีน-ลาวมีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก ประมาณ 1.6 ล้านคน/เดือน จากเปิดใหม่ ๆ ประมาณ 600,000 คน/เดือน ซึ่งก็รวมนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเที่ยวที่ สปป.ลาวเช่นกัน
นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มจะเดินทางไปเที่ยว สปป.ลาว มากขึ้น จากปัจจัยข้างต้น ตัวเลขที่น่าดีใจในห้วง 3 เดือนแรก ของปี 2568 ก็คือ เมืองหลวงพระบางที่เป็นมรดกโลกที่สวยงามและทรงคุณค่าด้านวัฒนธรรม สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากห้วงเดียวกันของปี 2567 ถึงร้อยละ 162 เลยทีเดียว หรือจำนวนนักท่องเที่ยวมีถึง 1,167,581 คน สร้างรายได้ 584 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่ม ร้อยละ 232 และนักท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 183 สปป.ลาวคาดว่าทั้งปี 2568 เมืองหลวงพระบางจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ถึง 2.3 ล้านคน และรายได้คาดว่าจะถึง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ