ห้วง 10-20 ปีที่ผ่านมา รัสเซีย จีน และยุโรปต่างแข่งขันอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียกลาง เพื่อชิงความได้เปรียบในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุสำคัญ รวมถึงครอบครองพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างเอเชียและยุโรป เนื่องจากเอเชียกลางอยู่กึ่งกลางภูมิภาคยูเรเชีย จึงสามารถเชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างภูมิภาคที่สำคัญ อาทิ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง รวมถึงทะเลดำ และคาบสมุทรบอลข่าน
รัสเซียได้เปรียบประเทศยุโรปในการแข่งขันอิทธิพลในประเทศเอเชียกลาง เพราะมีความใกล้ชิดทางประวัติศาสตร์และการเมืองจากการที่ประเทศเอเชียกลางเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ทำให้ระบอบการปกครองคล้ายคลึงกันในแง่อำนาจนิยม อีกทั้งผู้นำรัสเซียกับผู้นำประเทศเอเชียกลางทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน ต่างอยู่ในอำนาจยาวนานกว่า 10-20 ปี ทำให้มีความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์พิเศษส่วนตัวต่อกัน แตกต่างจากประเทศยุโรปที่ส่วนใหญ่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม และมักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในภูมิภาคเอเชียกลางในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ
รัสเซียและจีนยังมีข้อได้เปรียบด้านภูมิรัฐศาสตร์จากการมีที่ตั้งใกล้กับประเทศเอเชียกลางมากกว่าประเทศยุโรป อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมดั้งเดิมของประเทศเอเชียกลางก่อสร้างในยุคสหภาพโซเวียตทำให้เส้นทางทั้งถนนและรถไฟเชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกับรัสเซีย และเป็นเส้นทางที่ประเทศเอเชียกลางใช้ส่งออกสินค้าหลักสู่ตลาดโลกมายาวนาน
ส่วนจีนมีโครงการสร้างเส้นทางรถไฟจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์เชื่อมต่อคีร์กีซสถาน-อุซเบกิสถาน-จีน ภายใต้กรอบ Silk Road Economic Belt (SREB) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่เริ่มเปิดใช้งานบางส่วนตั้งแต่ปี 2567 ขณะที่ประเทศในยุโรปพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างเส้นทางระเบียงขนส่ง (Transport Corridor) ในภูมิภาคเอเชียกลาง แต่อยู่ในขั้นตอนวางแผน ทำให้ประเทศยุโรปยังต้องพึ่งพาอาเซอร์ไบจานและตุรกีเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าผ่านทะเลแคสเปียนและทะเลดำไปยังภูมิภาคเอเชียกลางซึ่งไกลและต้นทุนสูงกว่าเมื่อเทียบกับรัสเซียและจีน
รัสเซียยังเป็นผู้ลงทุนหลักในแหล่งผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งอุตสาหกรรมพลังงานเป็นรายได้สำคัญของประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง รัฐวิสาหกิจรัสเซีย Gazprom มีส่วนในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่สำคัญในเอเชียกลาง อาทิ การสร้างท่อส่งก๊าซ Central Asia-Center (CAC) Pipeline ซึ่งเปิดให้คาซัคสถานและอุซเบกิสถานใช้ประโยชน์ร่วมกับรัสเซียได้ ส่วนจีนเป็นผู้ลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในสัดส่วนที่สูงในอุซเบกิสถานและเติร์กเมนิสถาน นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติรายใหญ่จากเอเชียกลางผ่านท่อก๊าซจีน-เอเชียกลาง (Central Asia–China Gas Pipeline) ขณะที่ยุโรปนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเอเชียกลางน้อยกว่าร้อยละ 5 ของการนำเข้าทั้งหมด สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการที่ยุโรปยังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเอเชียกลาง แม้จะมีโครงการสร้างเครือข่ายท่อก๊าซแคสเปียน-อาร์เซอร์ไบจาน-ตุรกี เพื่อการนำเข้าพลังงานจากภูมิภาคเอเชียกลางไปยังยุโรป แต่ยังไม่แล้วเสร็จ
อย่างไรก็ดี ประเทศเอเชียกลางมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ ภาครัฐและภาคเอกชนไทยสามารถขยายการลงทุน ตลอดจนเพิ่มพูนความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคเอเชียกลาง เพื่อลดอุปสรรคเรื่องเส้นทางขนส่งระหว่างไทย-เอเชียกลาง รวมถึงอาจใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟจากนครหนานหนิง-เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง-ด่านอาลาซานโขว่ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์- เมืองอัลมาตี คาซัคสถาน- กรุงทาชเคนต์ อุซเบกิสถาน ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2564 (ระยะเวลาตลอดเส้นทางประมาณ 13 วัน) เป็นเส้นทางหนึ่งที่มีศักยภาพด้านการขนส่งและกระจายสินค้าต่อไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง