การใช้ความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญทั้งในมิติความมั่นคงแรงงาน จิตวิญญาณ และท้าทายระดับการรับรู้ถึงสุนทรียศาสตร์ของมนุษย์!! การถกแถลงกันระหว่างผู้ที่นิยมใช้ผลงานจากเทคโนโลยี AI เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตกับผู้ที่ยืนยันการให้คุณค่ากับผลงานที่มาจากการสร้างสรรค์ด้วยน้ำมือของมนุษย์มากกว่ายังเป็นประเด็นให้พูดคุยกันได้ไม่รู้จบ ..
บทความเรื่องนี้ขอหยิบยกส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (new-movement) ที่เกิดจากชุมชนคนใช้ AI เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีมูลค่าและเป็นที่ต้องการในตลาด จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ Art in Flux หรือความลื่นไหลทางศิลปะนั่นเอง มาลองไล่เรียงดูว่าเกิดอะไรขึ้นในวงการศิลปะที่เปลี่ยนแปลงจากน้ำมือมนุษย์ไปสู่ยุคดิจิทัล
ย้อนกลับไปเมื่อ 54,000 ปีก่อน… มนุษย์เริ่มสร้างสรรค์สิ่งที่พบเห็นลงบนฝาผนังถ้ำ เพื่อที่จะถ่ายทอดจินตนาการของตนเองไปสู่บุคคลอื่น กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงานโดยอาศัยความสร้างสรรค์นี้ เรียกว่า “ศิลปะ” จนถึงปัจจุบัน “ศิลปะ” ยังคงทำหน้าที่ในการสะท้อนความคิด อารมณ์ ที่สื่อสารออกมาจากศิลปินที่มีเป้าหมายต้องการสร้างการรับรู้หรือรู้สึก และคุณค่าให้กับผู้ชมผ่านหลายแบบ ไม่ว่าจะใช้หินสีจากธรรมชาติระบายผนังถ้ำหรือโบสถ์ การระบายสีน้ำด้วยพู่กันลงบนผืนผ้าใบ การใช้สีน้ำมันหรือสีอะคริลิกกับพื้นผิวต่าง ๆ การพ่นสีสเปรย์ลงบนผนัง …วิธีการเหล่านี้ต่างก็ต้องอาศัยการใช้ทักษะ วัสดุอุปกรณ์ และการฝึกฝนจนชำนาญ ศิลปินต้องฝึกฝนเพื่อให้ผู้ชมได้รับชมผลงานพร้อมมีอรรถรสอย่างเต็มเปี่ยม
แต่เมื่อยุคสมัย“เทคโนโลยีสารสนเทศ” คนส่วนใหญ่ใช้เวลาชื่นชมชิ้นงานบนผนังน้อยลง และก้มหน้าสู่จอโทรศัพท์มากขึ้น ทำให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะบางส่วนมองว่าพวกเขาต้องเปลี่ยนการนำเสนอผลงานแบบ “ดิจิทัล”..นั่นคือการเกิดขึ้นของ “ศิลปะดิจิทัล” หรือ Digital Art ที่ใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเลต และซอฟต์แวร์…ที่จริงแล้ว ศิลปะดิจิทัลก่อเกิดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 แต่เพิ่งได้รับความนิยมในช่วงเวลานี้ เพราะสร้างรายได้มหาศาล รวมทั้งเป็น “อาชีพ” และทักษะใหม่ที่ตลาดต้องการสูงมากขึ้นด้วย
….ในอดีตผลงานศิลปะที่สร้างรายได้นั้นจะต้องจับต้องได้ (Tangible Artistic Creation-TAC) การซื้อขายผลงานศิลปะมีมาตั้งแต่ยุคกรีก โรมัน จนถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา และพัฒนาจนเกิดเป็นหอศิลป์และตลาดศิลปะทั่วโลก …งานแสดงผลงานศิลปะที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล เช่น ของศิลปินชาวอิตาเลียน Leonardo da Vinci อย่าง Salvator Mundi ถูกประมูลไปในปี 2560 ด้วยมูลค่ากว่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประติมากรรมเรียบหรูที่ทันสมัยสไตล์ป๊อปอาร์ต Rabbit ของ Jeff Koons 91.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ..ถือว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่แพงที่สุดของศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ในตอนนี้
เทคโนโลยียังเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซื้อ-ขายให้เป็นตลาดออนไลน์ และการซื้อขายโดยใช้ตลาด NFT (Non-Fungible Token) ในช่วงปี 2563 ได้ปฏิวัติการเป็นเจ้าของผลงานศิลปะดิจิทัลอย่างสิ้นเชิง เพราะมีการใช้เทคโนโลยี blockchain ในด้านของการงดการทำซ้ำ (Copy) ซึ่งเท่ากับเป็นการปกป้องอัตลักษณ์ในผลงานศิลปะของโลกข้อมูลดิจิทัล NFT เข้าได้ไปช่วยให้ศิลปินและผู้เสพศิลปะสามารถซื้อขายและโอนสิทธิความเป็นเจ้าของได้จริงอย่างเป็นธรรมต่อเจ้าของผลงานด้วย!! เช่น ผลงานของ Beeple ชื่อ “Everydays: The First 5000 Days” ถูกขายผ่าน Christie’s ผู้ให้บริการการซื้อขายสินค้าหรูหราและผลงานศิลปะในปี 2564 ด้วยมูลค่ากว่า 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับว่า ตลาด NFT เปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่ทั่วโลกเข้าถึงตลาดได้ แม้ปัจจุบันความนิยมอาจลดลง เนื่องจากมีความผันผวนสูง แต่ก็นับว่าเป็นการสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ในวงการศิลปะและผู้เป็นศิลปิน
จากปรากฏการณ์การสร้างรายได้โดยการซื้อขายผลงานศิลปะในตลาดออนไลน์ ในตอนนี้และอนาคต เรามุ่งหน้าเข้าสู่ยุคที่การสร้างภาพศิลปะ โดยศิลปินออนไลน์ที่มี AI เป็นเครื่องมือ …และเป็นประเด็นถกเถียงอย่างลึกซึ้งว่า ศิลปะที่ได้จาก AI นับว่าเป็นศิลปะหรือไม่? และการยอมรับผลงานที่สร้างจาก AI เท่ากับทำลายหรือสร้างบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องสุนทรียศาสตร์หรือเปล่า?! แล้วปัญหาจริง ๆ คืออะไรกันแน่?!! ในเมื่อมนุษย์ก็ยังคงเป็นผู้กำหนดและสั่งการให้ AI สร้างผลงานออกมาด้วยชุดคำสั่ง หรือ prompt ที่ชัดเจน
ผู้ใช้งานทั่วไปยอมรับว่างานศิลปะทำลังเผชิญความท้าทายจากผลงานที่มาจากการใช้ AI ที่สร้างความรับรู้และสื่ออารมณ์ได้ดีเหมือนกับลายเส้นของมนุษย์ AI อย่าง DALL·E หรือ Midjourney ทำให้ผู้ใช้งานสามารถพิมพ์คำสั่ง (prompt) และสร้างภาพขึ้นมาได้ในไม่กี่วินาที ดังนั้น ศิลปินดิจิทัลอาจจะไม่จำเป็นต้องมีทักษะการวาดภาพ เพราะ AI จะช่วยสร้างภาพจินตนาการเพียงแค่เราเล่าคำสั่งเพียงเท่านั้น
ปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ กำลังจะกลายเป็นประเด็น AI แย่งงานศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอีกหรือไม่!?
ผู้ที่เชื่อมั่นในปรัชญามนุษยนิยม (Humanism) ที่มองว่ามนุษย์เราคือสุดยอดของสายพันธุ์ที่มีคุณค่า มีปัญญาและมีจิตวิญญาณ อาจต้องยืนยันว่า ไม่ว่า AI จะสร้างผลงานศิลปะได้ถูกใจคนมากแค่ไหน ขายได้ในราคาสูงเพียงใด ก็เทียบไม่ได้กับผลงานของมนุษย์ที่มีจิตวิญญาณและมีชีวิตชีวามากกว่า..แต่ปรัชญาแบบต่อต้านมนุษยนิยม (antihumanism) ก็อาจจะบอกว่าเทคโนโลยีต่างหากที่กำลังสร้างความนิยม ชักจูงและเลือกเสิร์ฟ content ให้มนุษย์ว่าควรจะชอบอะไรหรือมีชีวิตอยู่อย่างไร!! ดังนั้น มูลค่าและคุณค่าของศิลปะแต่ละชิ้นจะขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้สร้างสรรค์นั้นก็ดูเหมือนว่าจะย้อนแย้งกับความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบอาจต้องการให้ AI มาช่วยเติมเต็มมุมมองต่อสุนทรียภาพในชีวิตก็ได้
ไม่ว่าท้ายที่สุดแล้ว วงการศิลปะจะยอมรับผลงานที่สร้างสรรค์จาก AI หรือศิลปินดิจิทัลแบบใด แต่การเกิดขึ้นของ AI ก็ได้ส่งผลกระทบต่อวงการศิลปะ ภาพลักษณ์ของศิลปินที่อาตดูไม่ชัดเจนเหมือนแต่ก่อน ในกรณีที่มีการนำภาพตัวไป และป้อนคำสั่งง่ายๆ ให้ AI เปลี่ยนภาพนั้นเป็นการ์ตูนสไตล์จิบลิ สตูดิโอ (Studio Ghibli) ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ก็ตามมาด้วยการถกเถียงเรื่องลิขสิทธิ์และความชอบธรรมของการใช้สไตล์ศิลปินจริงที่ตั้งใจใช้ลายเส้นสร้างผลงานมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนได้เป็นที่ยอมรับ
การใช้งาน AI กำลังเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของมนุษย์ในหลาย ๆ เรื่อง บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อยากสะท้อนว่า วงการศิลปะเองก็อยู่ในคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ศิลปินยุคใหม่จึงต้องปรับตัว บางคนเรียนรู้การใช้ AI เพื่อสร้างสรรค์งาน บางคนยังยึดมั่นในฝีมือแบบดั้งเดิม คำถามสำคัญ คือ …หากในอนาคต AI มีคลังข้อมูลและความสามารถมากพอที่จะตัดสินใจได้ว่าจะสร้างสรรค์ผลงานเพื่อจรรโลงใจและมีมูลค่าได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องการคำสั่งของมนุษย์ แล้วก็ยังสามารถสร้างผลงานศิลปะตอบสนองความต้องการของตลาดได้ จนสามารถสร้างภาพมายาให้มนุษย์ได้เพลิดเพลิน เมื่อถึงตอนนั้น…การถกเถียงกันว่าใครควรจะคู่ควรกับคำว่า “ศิลปิน” อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป