เมื่อตกลงกันไม่ได้ ก็คงต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันแล้ว !!! เชื่อว่าคงเป็นวลีที่ใครหลายคนคงคุ้นหูที่มักจะได้ยินเมื่อการเจรจาหรือการตกลงกันระหว่างบุคคลในเรื่องต่าง ๆ ไม่สามารถหาข้อยุติระหว่างกันได้ จำเป็นต้องพึ่งพากลไกทางกฎหมายเพื่อตัดสินชี้ขาด เช่นเดียวกันกับบริบททางภูมิรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ที่อ่อนไหวและซับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องเขตแดนก็มีกลไกระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้พิทักษ์หลักนิติธรรม รวมถึงหาข้อยุติระหว่างรัฐ นั่นก็คือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice – ICJ) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “ศาลโลก”
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก (ICJ) คืออะไร?
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลกที่ว่านี่คืออะไรกันแน่
“ศาลโลก” ป็นองค์กรตุลาการหลักขององค์การสหประชาชาติ (UN) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ศาลโลกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) เพื่อสืบทอดภารกิจจากศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศ (Permanent Court of International Justice-PCIJ) ที่จัดตั้งขึ้นโดยสันนิบาตชาติ ศาล ICJ มีโครงสร้างภายในประกอบด้วย ผู้พิพากษา 15 คน ได้รับการเลือกตั้งจากสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีวาระการดำรงตำแหน่งคือ 9 ปี และสามารถได้รับเลือกตั้งซ้ำได้ ผู้พิพากษาจะมาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อสะท้อนถึงระบบกฎหมายหลัก และอารยธรรมของโลก
ศาลโลกมีอำนาจหน้าที่อะไร ?
ICJ มีอำนาจหน้าที่หลัก ๆ 2 ข้อ คือ 1. การตัดสินคดีข้อพิพาท (Contentious cases) พูดง่าย ๆ ก็คือ พิจารณาตัดสินข้อขัดแย้งทางกฎหมายระหว่างรัฐต่าง ๆ ที่ “สมัครใจยอมรับ” เขตอำนาจศาล คู่ความในคดีจะต้องเป็นรัฐเท่านั้น ก็คือ เป็นคู่ขัดแบบรัฐ-รัฐ ไม่ใช่บุคคลหรือองค์กรระหว่างประเทศ ประเด็นที่ศาลโลกจะพิจารณาครอบคลุมหลากหลายด้าน เช่น เขตแดน การอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนหรือทรัพยากร การตีความสนธิสัญญา
การกระทำที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ หรือการใช้กำลัง และเมื่อศาลมีคำตัดสินไปแล้วจะผูกพันคู่กรณี และถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ 2. ICJ ยังมีอีกหนึ่งหน้าที่คือ ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย (Advisory opinions) ก็คือการให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในกฎหมายระหว่างประเทศตามคำร้องขอขององค์กรต่าง ๆ ของ UN หรือหน่วยงานพิเศษของ UN ที่ได้รับอนุญาต คำปรึกษาของศาลโลกแม้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายโดยตรงเหมือนคำตัดสินคดี แต่ก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตีความและการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ
ศาลโลกเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันโดย
ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงหรือเข้าสู่สงคราม แต่ว่าหลักการสำคัญที่ต้องยึดถือ ก็คือ ความยินยอมของรัฐ ถือเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของ ICJ คือ ศาลจะสามารถพิจารณาคดีได้ก็ต่อเมื่อรัฐคู่กรณีให้ความยินยอม ที่จะอยู่ภายใต้อำนาจศาลเท่านั้น ความยินยอมนี้อาจแสดงออกได้หลายรูปแบบ เช่น การทำข้อตกลงพิเศษ (Special Agreement) การรวมข้อกำหนดการระงับข้อพิพาทไว้ในสนธิสัญญา (Compromissory Clause) หรือการประกาศยอมรับอำนาจศาลแบบทั่วไป (Optional Clause) รวมถึงหลักการ ความเป็นกลางและยุติธรรม ICJ ดำเนินการบนหลักการของความเป็นกลางและความยุติธรรม เพื่อให้มั่นใจว่าการพิจารณาคดีและคำตัดสินเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างแท้จริง
แล้วทำไมกัมพูชาจึงต้องการยื่นฟ้องร้องต่อศาล ICJ ในประเด็นพิพาทเขตแดน?
ล่าสุดเมื่อ 15 มิถุนายน 2568 กัมพูชายื่นหนังสือ (ฝ่ายเดียว) ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เกี่ยวกับพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาควาย เพื่อเข้าสู่
การพิจารณาคดี แล้วทำไมกัมพูชาถึงเลือกใช้กลไก ICJ ในการแก้ไขปัญหา อาจเป็นเพราะกัมพูชามีประวัติศาสตร์
อันยาวนานและประสบความสำเร็จในการนำคดีพิพาทเขตแดนขึ้นสู่ศาลโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีปราสาท
พระวิหารกับไทย และกัมพูชามองว่าการนำคดีขึ้นศาลโลกเป็นหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การยุติข้อพิพาทอย่างถาวรและเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงพยายามหาความชอบธรรมโดยคิดว่าการตัดสินของศาลโลกจะช่วยสร้างความชอบธรรมและให้ความชัดเจนทางกฎหมายในประเด็นเขตแดนที่พิพาท ซึ่งจะช่วยลดความตึงเครียดและป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต
ในกรณีนี้ ทางการของไทยนำโดยกระทรวงการต่างประเทศแถลงเมื่อ 16 มิถุนายน 2568 ย้ำว่า
ไทยไม่ยอมรับเขตอำนาจของศาล ICJ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 และไทยยืนยันความยึดมั่นอย่างแน่วแน่ต่อการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติตามกฎบัตรสหประชาชาติและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ ไทยมีความเห็นว่า การนำเรื่องไปสู่ฝ่ายที่สาม อาจมิใช่หนทางที่ดีที่สุดที่จะรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างรัฐไว้ได้เสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นละเอียดอ่อน
ไทยจึงสนับสนุนแนวทางแก้ไขความเห็นที่แตกต่างระหว่างรัฐที่มีความยืดหยุ่น เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะเปิดโอกาสให้แต่ละรัฐสามารถหารือกันอย่างสร้างสรรค์โดยเป็นไปตามสภาวการณ์ในเรื่องนั้น ๆ และผลประโยชน์ร่วมกัน ไทยขอยืนยันท่าทีที่ว่า ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเขตแดนในปัจจุบัน ควรที่จะได้รับการแก้ไขตามกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ ทั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission -JBC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee-GBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee – RBC)
สุดท้ายแล้วศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลก คืออีกหนึ่งกลไกที่ช่วยแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยสันติวิธีและกลไกทางกฎหมาย ทำให้ประเทศต่าง ๆ สามารถหาข้อยุติในความขัดแย้งโดยไม่ต้องพึ่งพาความรุนแรง อันเป็นการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงของโลกอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี การพึ่งพา ICJ ต้องคำนึงถึงบริบทของสถานการณ์ รวมถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันด้วย