การเสวนาความมั่นคง เรื่อง “Political War & Trade War: Implication for Thailand” จัดโดยสถาบันการข่าวกรอง ผู้บรรยายที่ให้เกียรติแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้แก่ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยนเรศวร และ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผอ.โครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก (Economic Intelligence Service) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
เริ่มต้นการเสวนา เป็นประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ที่มุ่งรักษาการเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก และสกัดกั้นจีนในทุกมิติ ทั้งสงครามการเมือง การค้า การเงิน เทคโนโลยี ข่าวสาร และการสะสมอาวุธ โดยยึดโยงกับแนวคิดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (The Trump Doctrine) ที่จะพิจารณาตามผลประโยชน์ของสหรัฐฯ โดยไม่ยึดระบบพันธมิตรดั้งเดิมและพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น การมองว่ารัสเซียเป็นมิตรที่สามารถเจรจาได้ การกดดันให้กลุ่มเนโตเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศ หรือซื้อยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าทั่วโลก ซึ่งกระทบต่อระเบียบระหว่างประเทศแบบเสรีนิยมที่สหรัฐฯ เป็นเสาหลัก ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหา 3D คือ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) การแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน (decoupling) และการเปลี่ยนแปลงที่กระทบทุกภาคส่วนของโลกอย่างรวดเร็ว (disruption) ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะสงครามเย็นครั้งใหม่
สิ่งที่ปรากฏชัดในปัจจุบันคือ การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือด้านความมั่นคง ด้วยการขยายขอบเขตทำสงครามการค้าทั่วโลก เพื่อสานต่อนโยบายสกัดกั้นจีน ควบคู่กับกดดันให้ประเทศต่าง ๆ เจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มรายได้เข้าประเทศ ทั้งมาตรการภาษีสินค้านำเข้าขั้นต่ำจากทุกประเทศที่ร้อยละ 10 (Universal Tariffs) มาตรการภาษีตอบโต้ต่อประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ เสียเปรียบ (Reciprocal Tariffs) และมาตรการภาษีเฉพาะรายการ (Specific Tariffs) เช่น เหล็ก ซึ่งจะช่วยลดการขาดดุลการค้า และอัตราหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ได้มากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่มาตรการภาษีดังกล่าวอาจส่งผลให้อัตราค่าครองชีพและเงินเฟ้อในสหรัฐฯ สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาว
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาการส่งออกมากที่สุดในโลก และส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ร้อยละ 24 (ส่งออกโดยตรงร้อยละ 18 และผ่านผู้ผลิตประเทศอื่นร้อยละ 6) จึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ จะปรับขึ้นเป็นร้อยละ 36 เฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วนโทรศัพท์ ที่มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 78 และร้อยละ 67 ตามลำดับ ส่วนผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการภาษีเฉพาะรายการ โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ผู้ประกอบการไทยจะส่งออกได้น้อยลง อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้ เพราะปัจจุบันสามารถเจรจาได้เพียง 18 ประเทศ แต่จะไม่ปรับลดอัตราภาษีเหลือร้อยละ 0 ขณะเดียวกัน ไทยยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากกรณีสินค้าจากจีนถูกระบายเข้าไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ประกอบการในประเทศ
การต่อรองให้สหรัฐฯ ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยให้ต่ำกว่าตลาดคู่แข่ง จะเป็นโอกาสต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ควบคู่กับเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ รวมถึงการลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มโควตาสินค้า ลดมาตรการกีดกันสินค้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และเปิดรับการลงทุนภาคบริการของสหรัฐฯ เช่น ธุรกิจประกันภัย และธนาคาร นอกจากนี้ ไทยควรแสวงหาและจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับคู่ค้าที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อรับมือการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่จะทวีความรุนแรง ที่สำคัญคือ ขั้วสหรัฐฯ ขั้วจีนและพันธมิตร เช่น รัสเซีย และประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ขั้วต่อมาคือ สหภาพยุโรปและพันธมิตร เช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย แคนาดา และสุดท้ายขั้วเป็นกลาง อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย รวมทั้งไทย
ไทยมีข้อได้เปรียบจากที่ตั้งภูมิรัฐศาสตร์และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะธุรกิจแผงวงจรไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Center) และเทคโนโลยีชีวภาพ ที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากทั้งขั้วสหรัฐฯ ขั้วจีนและขั้วสหภาพยุโรป ซึ่งจะช่วยต่อยอดศักยภาพผู้ประกอบการและผลิตภาพของไทย รวมทั้งทดแทนรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่จะไม่ฟื้นตัวเท่าห้วงก่อนการแพร่ระบาด COVID-19 เพื่อให้ไทยช่วงชิงโอกาสจากระบบเศรษฐกิจโลกที่กำลังผันผวน
การเตรียมแนวทางรับมือความขัดแย้งที่อาจพัฒนาเป็น hot war หรือสงครามทางการทหารระหว่างประเทศมหาอำนาจ จะช่วยบรรเทาผลกระทบ และเสริมสร้างบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็น hot issues ในภูมิภาคต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อไทย ได้แก่ ข้อพิพาทเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาไทยควรเพิ่มความเข้มงวดการตรวจแดนมากกว่าการปิดจุดผ่านแดน เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกน้ำมันที่ไทยส่งออกไปกัมพูชาประมาณร้อยละ 15 ภาคการผลิตจากการส่งแรงงานกัมพูชากลับประเทศ และการสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศด้านการลงทุนให้นักลงทุนต่างชาติทั่วโลกที่กำลังหาตลาดใหม่ อีกทั้งยังลดความตึงเครียดของสถานการณ์ เพื่อโน้มน้าวให้กัมพูชาเจรจาแก้ไขข้อพิพาทในรูปแบบทวิภาคี และป้องกันไม่ให้กัมพูชาใช้กรอบพหุภาคีเป็นกลไกกดดันไทยเช่น ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ สถานการณ์ช่องแคบไต้หวันจีนอาจบุกไต้หวันก่อนปี 2570 โดยอ้างกรณีสหรัฐฯ โจมตีอิหร่าน อีกทั้งกระแสนิยมของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ลดลง หลังห้วง COVID-19 มีการประท้วงขับไล่ผู้นำที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งไม่เคยปรากฏเหตุการณ์ดังกล่าวในจีนมาก่อน จีนอาจเบี่ยงความสนใจปัญหาภายในประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศ และความเสี่ยงที่อาจกระตุ้นให้ข้อพิพาททะเลจีนใต้รุนแรงมากขึ้น
ส่วนปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ยังคงเปราะบาง แม้สหรัฐฯ จะสามารถผลักดันข้อตกลงหยุดยิงอิสราเอลและอิหร่าน เนื่องจากทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะโจมตีตอบโต้กัน อีกทั้งมีความเสี่ยงที่อิหร่านจะใช้แนวทางอื่น ๆ เพื่อกดดันอิสราเอลและสหรัฐฯ เช่น ปิดช่องแคบฮอร์มุซ และสนับสนุนให้กลุ่มฮูษีโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง หลังกำลังรบของอิหร่านอ่อนแอลง และไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจนจากกลุ่มพันธมิตรต่อต้านตะวันตก ขณะที่อิสราเอลใช้จุดอ่อนของประธานาธิบดีทรัมป์ ทั้งความสัมพันธ์ส่วนตัว โน้มน้าวให้สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายตามความต้องการของอิสราเอล เช่น ผลักดันการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของอิหร่าน ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะชาวอิหร่านส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มศาสนานิยมเข้มข้น ความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกและค่าระวางเรือยังคงผันผวน
ประการสุดท้าย ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ปัจจุบัน ประธานาธิบดีทรัมป์ ให้กลุ่มเนโตและประเทศในยุโรปมีบทบาทหลักในการปกป้องยูเครน ขณะที่ยูเครนไม่ยอมรับข้อเสนอที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะคืนดินแดนทางตะวันออกของยูเครนให้รัสเซีย เพื่อปูทางสู่การเจรจาสันติภาพ เพราะจะทำให้ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร สินค้าโภคภัณฑ์ และราคาพลังงานโลก
สำหรับการเมืองภายในสหรัฐฯ ประธานาธิบดีทรัมป์ครองอำนาจเบ็ดเสร็จในพรรครีพับลิกัน และประสบความสำเร็จในการปลุกกระแสอนุรักษ์นิยมแบบชาตินิยม และแบบโดดเดี่ยวตนเองในสหรัฐฯ สามารถดึงดูดใจชาวอเมริกันให้รู้สึกว่าสหรัฐฯ แบกรับภาระและถูกเอาเปรียบ ทำให้มีแนวโน้มที่พรรครีพับลิกันจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2571 โดยประธานาธิบดีทรัมป์น่าจะเสนอชื่อ นาย เจ.ดี.แวนซ์ รองประธานาธิบดี หรือนายมาร์โค รูบิโอ รมว.กต. ให้ชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคเพื่อแข่งกับผู้แทนของพรรคเดโมแครต ซึ่งอาจทำให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ แข็งกร้าวมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งต่อจีน รวมทั้งไทย