ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นโยบายประชานิยมดูเหมือนจะเป็นแนวทางหลักที่รัฐบาลไทยนำมาใช้ โดยเฉพาะในช่วงหาเสียงการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองต่างแข่งขันกันเสนอนโยบายที่มุ่งตอบสนองต่อ “ปัญหาปากท้อง” ของประชาชนอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน การอุดหนุน หรือการเพิ่มรายได้ในระยะสั้น ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชนในวงกว้าง อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งกลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายเหล่านี้เป็นการมอมเมาประชาชน เนื่องจากเป็นนโยบายที่ให้ผลตอบแทนได้ทันที ทำให้ประชาชนเคยชินต่อการพึ่งพารัฐมากขึ้นแทนการที่รัฐส่งเสริมประชาชนให้พึ่งตนเองผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ นโยบายประชานิยมยังเป็นสาเหตุไปสู่วัฒนธรรมการเมืองแบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์
คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า นโยบายประชานิยมเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานรากจริงหรือไม่ ?
หากมองในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาของการเมืองไทย นับตั้งแต่ขั้นตอนการหาเสียงเลือกตั้ง แม้ว่าพรรคการเมืองจะมีนโยบายที่พร้อมเสนออยู่มากมายหลายมิติ แต่จากข้อมูลของนิด้าโพลได้เปิดเผยว่าในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 นโยบายประชานิยมคือนโยบายหลักที่มักถูกนำมาใช้หาเสียง และเป็นที่สนใจจากสาธารณะเสมอมักจะเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากถูกใจประชาชน เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตความเป็นอยู่
ในทางวิชาการ ประชานิยม หรือ Populism ไม่ได้เป็นนโยบายใดของพรรคใดพรรคหนึ่ง หากแต่เป็นแนวคิดทางการเมืองที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการต่อสู้ทางการเมือง นับแต่อดีตของคนสามัญชนชนชั้นรากหญ้าเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยมองว่ารัฐบาลจะต้องมองประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดมากกว่าจะให้ชนชั้นนำหรือชนชั้นนายทุนเป็นผู้ควบคุมบงการ ดังที่นักวิชาการอย่าง Cas Mudde และ Cristóbal Rovira Kaltwasser ได้ให้คำนิยามว่า ประชานิยมคือ แนวคิดที่มองว่าสังคมถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มที่เป็นเนื้อเดียวกันและเป็นปฏิปักษ์กัน ได้แก่ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ กับชนชั้นนำที่ฉ้อฉล และการเมืองควรเป็นเจตจำนงร่วมของประชาชน ทำให้เป้าหมายและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชานิยมจึงมีนโยบายเป็นการมุ่งสร้างประโยชน์สนองความต้องการของประชาชนเป็นหลัก
หากให้ความเป็นธรรมต่อนโยบายประชานิยม นโยบายนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผิด หากเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศ ซึ่งหลาย ๆ ประเทศก็ใช้นโยบายนี้ แม้จะไม่ได้เรียกประชานิยมโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการบริหารจัดการการคลังที่แข็งแกร่งและนโยบายที่เน้นความยั่งยืน แต่ก็มีการนำมาตรการที่คล้ายคลึงกับประชานิยมมาใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเผชิญกับความผันผวนหรือภาวะวิกฤต ดังเช่นนโยบาย “Assurance Package” ที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้ริเริ่มขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและอัตราภาษีสินค้าและบริการที่ปรับเพิ่มขึ้น มาตรการนี้รวมถึงการ แจกเงินสด (Cash Payouts) ให้กับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ตามเกณฑ์รายได้และมูลค่าทรัพย์สิน ควบคู่ไปกับบัตรกำนัลสำหรับการจับจ่ายใช้สอย (Community Development Council (CDC) Vouchers)
นโยบายประชานิยมเหล่านี้ สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการ ลดความเหลื่อมล้ำ หรืออย่างน้อยก็ช่วย บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ได้อย่างทันท่วงที เช่น การอุดหนุนค่าครองชีพ การให้เงินช่วยเหลือ หรือการขยายโอกาสให้ประชาชนสามารถ เข้าถึงบริการภาครัฐที่จำเป็นได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุขหรือการศึกษา ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเปราะบางได้อย่างเป็นรูปธรรมในระยะแรกเริ่ม
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบและความท้าทายระยะยาว จากนโยบายประชานิยมก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง ประการแรกคือ ภาระงบประมาณและหนี้สาธารณะ การใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อดำเนินนโยบายเหล่านี้อย่างต่อเนื่องโดยขาดการพิจารณาถึงแหล่งรายได้ที่ยั่งยืน อาจนำไปสู่ปัญหาหนี้ของประเทศที่พอกพูน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว ประการที่สองคือการ บิดเบือนกลไกตลาด โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจที่มีการแทรกแซงราคาหรือการอุดหนุนแบบเจาะจง ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร และสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในตลาด ประการต่อมาคือการลดศักยภาพการแข่งขันของประเทศ หากมุ่งเน้นแต่การแจกจ่ายหรือการใช้จ่ายที่เน้นผลระยะสั้น ก็อาจละเลยการลงทุนที่จำเป็นในโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนา หรือการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว
ที่สำคัญที่สุดคือการทำลายวัฒนธรรมประชาธิปไตย ประชานิยมมักสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในลักษณะที่ผู้ปกครองเป็น “ผู้ให้” และประชาชนเป็น “ผู้รับ” ทำให้ประชาชนเป็นเพียงผู้รอรับผลประโยชน์ ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศ
ขณะเดียวกัน ก็ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะต้องรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเพียงเหยื่อของนโยบายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อซื้อคะแนนเสียง และตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นเจ้าของสิทธิในการกำหนดเส้นทางของประเทศ ควรพิจารณาเลือกผู้นำจากวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีนโยบายเชิงโครงสร้างที่ยั่งยืน และความโปร่งใสในการบริหาร เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดโดยยังคงมีเศรษฐกิจที่มั่นคง