Food Weaponization หรือการใช้อาหารเป็นอาวุธ คือการควบคุมหรือปฏิเสธการเข้าถึงอาหาร เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ เพราะอาหารคือหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานหลักที่สำคัญที่สุดของชีวิต หรือคือความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) นั่นเอง ดังนั้น นอกจากความสามารถในการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว การเข้าถึงอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อมนุษยชาติ ในประวัติศาสตร์โลก มีหลายประเทศที่ใช้วิธีจำกัดการเข้าถึงอาหารเป็นเครื่องมือในการเอาชนะศัตรู สร้างความได้เปรียบในการทำสงคราม รวมทั้งสร้างอำนาจเหนือกว่าในช่วงจักรวรรดินิยม มีงานวิจัยจำนวนมากระบุว่าประเทศเจ้าอาณานิคมหลายประเทศใช้ความอดอยากขาดแคลนเป็นเครื่องมือเอาชนะและทำลายความมั่นคงแข็งแรงของคนท้องถิ่น โดยใช้วิธีการทำลายแหล่งเกษตรกรรม เข้าไปควบคุมและจัดสรรทรัพยากร
Food Weaponization อาจเป็นผลจากความตั้งใจ หรือการดำเนินนโยบายผิดพลาด เช่น กรณีวิกฤตเบงกอลปี 2486 ที่อังกฤษดำเนินนโยบายผิดพลาดในการให้ความช่วยเหลือหลังภัยพิบัติ จนทำให้ชาวอินเดียจำนวนมากต้องประสบปัญหาอดอยากและขาดแคลนอาหาร มีผู้คนเสียชีวิตมากกว่า 3 ล้านคน หรือแม้กระทั่งในกรณีของรัสเซียและยูเครนที่มีการปิดกั้นการส่งออกข้าวสาลี และปุ๋ยเข้าสู่ตลาดโลกเมื่อปี 2566 สร้างผลกระทบต่อราคาอาหารและปุ๋ยในประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าจากเส้นทางทะเลดำ
Food Weaponization ยังเป็นปัจจัยหนึ่งของความพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะการจำกัดการเข้าถึงอาหารในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจนำไปสู่สภาวะอดอยากหรือสภาวะขาดสารอาหารแก่ประชากรในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้เป็นระยะเวลานาน จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีการใช้อาหารเป็นอาวุธในการทำสงครามหรือเพิ่มความได้เปรียบในความขัดแย้ง โดยเฉพาะในกรณีฉนวนกาซา รัฐบาลอิสราเอลถูกวิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่ายทั้งสหประชาชาติ (United Nations-UN) โครงการอาหารโลก (World Food Programme-WFP) และฮิวแมนไรท์วอชท์ (Human Rights Watch-HRW) อย่างหนักว่า กำลังใช้อาหารเป็นเครื่องมือกดดันกลุ่มฮามาสให้ยอมทิ้งอาวุธและยอมแพ้ต่อกองทัพอิสราเอล
วิธีการที่อิสราเอลใช้ คือ การปิดล้อมชายแดนหลักในหลายจุด รวมถึงท่าเรือหลัก เช่น Karen Shalom, Rafah และจุดผ่านแดนอื่น ๆ ทั้งทางบกและทางเรือ ตั้งแต่ 2 มีนาคม 2568 เป็นต้นมา และมีการจำกัดการเข้าถึงเสบียงอาหาร น้ำ ยารักษาโรค และเชื้อเพลิงทุกระเภท ซึ่งส่งผลให้ประชาชนกว่า 2 ล้านคนในฉนวนกาซาเข้าสู่สภาวะที่ถูกทำให้อดอยากโดยเจตนา (Deliberate Starvation) คือ การใช้อาหารเป็นเครื่องมือกดขี่ โดยเจตนาในการเผชิญหน้ากับประชาชนหรือกลุ่มในพื้นที่ความขัดแย้ง ด้วยการควบคุมเสบียงอาหาร น้ำ หรือพลังงานอย่างมีระบบ จนก่อให้เกิดภาวะอดอยากอย่างรุนแรง
ตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ การพยายามจำกัดเสบียงและปิดกั้นเส้นทางขนส่งอาหารเข้าสู่ฉนวนกาซาอาจถือเป็นอาชญากรรมสงครามหรือาชญากรรมต่อมนุษยชาติองค์กรระดับโลกอย่าง โครงการWFP ได้ออกมาเตือนในช่วงปลายมีนาคม 2568 ว่า ฉนวนกาซาเสี่ยงเข้าสู่ภาวะขาดอาหารขั้นรุนแรง เพราะมีเสบียงเหลือเพียงไม่กี่สัปดาห์ และเรียกร้องให้มีการจัดส่งอาหารอย่างเร่งด่วน รวมถึงหัวหน้าหน่วยด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติที่ได้กล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อ 13 พฤษภาคม 2568 ว่า อิสราเอลตั้งใจปิดกั้นความช่วยเหลือมนุษยธรรม จนก่อวิกฤตเสบียงอาหารในฉนวนกาซา และเตือนถึงความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) และบ่งชี้ให้เห็นได้ว่า สถานการณ์นี้เข้าข่ายละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมสากล (International Human Rights–IHL) หรือที่รู้จักในชื่อกฎหมายสงคราม ซึ่งมีสาระสำคัญคือการปกป้องสิทธิและความคุ้มครองของผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม และห้ามรูปแบบการสู้รบที่อาจทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่จำเป็น เช่น การทรมานพลเรือนหรือประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาวุธ การโจมตีทำลายโรงเรียนและโรงพยาบาล ซึ่งควรได้รับการปกป้องให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแม้ในสภาวะสงคราม
สิ่งที่เราอาจจะต้องติดตามกันต่อไป คือ องค์กรระดับโลกเหล่านี้จะดำเนินการอย่างไรกับรัฐบาลอิสราเอล เพื่อให้หยุดใช้ Food Weaponization ต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา เพราะแม้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะตัดสินว่า อิสราเอลละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมสากล หรือก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ หรือทำลายล้างเผ่าพันธุ์ แต่อิสราเอลยังยืนยันความจำเป็นต้องปราบปรามกลุ่มฮามาสและภัยคุกคามต่ออิสราเอล องค์กรระหว่างประเทศและนานาชาติอาจจะต้องพิจารณาและยกระดับความร่วมมือเรื่องนี้อย่างจริงจัง กำหนดให้ Food Weaponization เป็นเรื่องต้องห้าม ด้วยการตั้งกลไกเฝ้าระวังและกำหนดมาตรการลงโทษที่เข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลใดใช้เรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นเครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบในการดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะในสภาวะสงคราม
การหยุดยั้งอิสราเอลเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะ Food Weaponization ที่อิสราเอลเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2566 ส่งผลกระทบต่อชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ยาวนานหลายปี สิ่งสำคัญต่อจากนี้ คือการเพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งประเด็นนี้ก็ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดเช่นกัน เพราะเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่า อิสราเอลกำลังใช้ยุทธวิธีกดดันชาวปาเลสไตน์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการ Food Weaponization และ Aid Weaponization ซึ่งหมายถึงการจำกัดการเข้าถึงความช่วยเหลือจากนานาชาตินั่นเอง เพราะมีรายงานว่าอิสราเอลโจมตี Gaza Humanitarian Foundation หรือ GHF ซึ่งเป็นศูนย์รับและกระจายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาหลายครั้ง จนทำให้องค์กรระหว่างประเทศรู้สึกไม่ปลอดภัย และทำให้การให้ความช่วยเหลือหยุดชะงัก
การเคลื่อนไหวเช่นนี้ของอิสราเอลยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างนอกฉนวนกาซา เช่น การที่ประเทศใกล้เคียง เช่น อียิปต์ต้องเร่งเพิ่มคลังสำรองอาหาร (Strategic Reserve) เพื่อรับมือกับแรงกดดันจากผู้ลี้ภัยและความต้องการภายใน การใช้ความอดอยากเป็นเครื่องมือต่อรองทำให้การเจรจาสันติภาพมีความซับซ้อนขึ้น และลดความน่าเชื่อถือของการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เกิดกระแสประณามในระดับสากล โดยกลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South) เช่น แอฟริกาใต้ แอลจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย และบราซิล เป็นต้น มีความเห็นว่าความเงียบของชาติตะวันตกเป็นการยอมรับโดยปริยายต่อการใช้อาหารเป็นอาวุธ
เรื่องราวทั้งหมดนี้ ตอกย้ำว่า สงครามเป็นสถานการณ์ที่โหดร้ายและความมั่นคงทางอาหารไม่ได้เป็นเพียงประเด็นมนุษยธรรมเพื่อความอยู่รอด แต่ความมั่นคงทางอาหารกลายเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศ เป็นอาวุธที่ใช้ควบคุม รวมทั้งกำหนดชะตากลุ่มคนได้อย่างน่าวิตกกังวล ดังนั้น การติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งหรือสงครามสมัยใหม่่ เราอาจต้องคำนึงถึงการใช้เครื่องมือยุทธศาสตร์ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะศักยภาพของกองทัพและยุทโธปกรณ์เพียงอย่างเดียว