ทุกวันนี้ภาพจำของถนนทรงวาดในสายตาคนรุ่นใหม่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเหมาะสำหรับคนมีรสนิยมและต้องการประสบการณ์เฉพาะตัวที่แตกต่าง ด้วยย่านดังกล่าว มีคาเฟ ดีไซน์ที่โดดเด่น แกลเลอรีแสดงผลงานของศิลปิน ร้านอาหารหลากหลาย และร้านขายสินค้างานคราฟต์สวย ๆ ร้านค้าเหล่านี้ใช้สถานที่ซึ่งเคยเป็นโกดังเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยานำมาปรับปรุงและรีโนเวท สร้างจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เข้ามาใช้บริการ
อย่างไรก็ดี หากเราถามนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น หลายคนบอกว่าสินค้าแถวถนนทรงวาดที่อยู่บริเวณใกล้ถนนเยาวราช “ของมีราคาแพงขึ้นมาก” ก่อให้เกิดความสงสัยว่า ปัจจัยใดทำให้ราคาสินค้าและบริการในย่านนี้แพงกว่าพื้นที่รอบข้างถึงหลายเท่าตัว…..
ย่านค้าส่งเก่าแก่ สู่ย่านไลฟ์สไตล์ชิค ๆ ของคนรุ่นใหม่
ถนนทรงวาดเป็นหนึ่งในย่านเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ โดยมีจุดกำเนิดจากการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนโพ้นทะเลที่โล้สำเภามายังสยามอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวจีนกลุ่มนี้ได้เข้ามาเป็นแรงงานและประกอบอาชีพด้านการค้า โดยรัฐได้จัดสรรพื้นที่ให้ตั้งถิ่นฐานในย่านสำเพ็งและเยาวราชเป็นหลัก ต่อมาได้ขยายตัวจนกลายเป็นชุมชนหนาแน่น
ในช่วงเวลานั้น เกิดเหตุเพลิงไหม้ในย่านเหล่านี้บ่อยครั้ง ด้วยสภาพความแออัดและโครงสร้างที่พักอาศัยไม่เอื้อต่อการควบคุมอัคคีภัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงมีพระราชดำริให้สร้างถนนสายใหม่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยถนนสายนี้มีความยาวประมาณ 1.2 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับท่าเรือ ทำให้สะดวกต่อการลำเลียงสินค้าจากเรือขึ้นฝั่งได้โดยตรง
นอกจากจะเป็นศูนย์กลางทางการค้าของชาวจีนแล้ว ถนนทรงวาดยังกลายเป็นพื้นที่ที่รวมความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เนื่องจากมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งเอื้อให้ผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมเข้ามาประกอบกิจการและตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดังกล่าว เช่น ชาวอินเดีย ชาวมุสลิม ชาวตะวันตก ฯลฯ ความหลากหลายนี้ ได้ส่งผลให้ถนนทรงวาดไม่เพียงแต่มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังสะท้อนให้เห็นถึงพหุวัฒนธรรมและพลวัตของสังคมเมืองในช่วงเวลาสำคัญของการพัฒนาประเทศอีกด้วย
เมื่อกาลเวลาผ่าน บริบทสังคมก็แปรเปลี่ยน ทรงวาดจากถนนที่เคยเป็นแหล่งขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลงเหลือไว้เพียงความทรงจำ สู่ย่านที่รู้จักในฐานะแหล่งค้าขายพืชผลทางเกษตรเป็นหลัก เช่น สินค้าเบ็ดเตล็ด สมุนไพร ของแห้ง ยาจีน และเครื่องเทศ ถึงกับมีคำกล่าวขานว่าหากเดินผ่านถนนทรงวาดจะได้กลิ่นเครื่องเทศตลบอบอวลไปตลอดทั้งทาง
แต่เมื่อกลุ่ม “Made in Song Wat” ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เข้ามาช่วยพัฒนาและฟื้นฟูย่านนี้ให้มีความร่วมสมัยโดยไม่ละทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ด้วยความงดงามและความเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผสานกับกลุ่มโกดังสินค้าและอาคารเก่าแบบชิโน–โปรตุกีสอันโดดเด่น ส่งผลให้ “ถนนทรงวาด” ค่อย ๆ ตื่นจากความเงียบงันในอดีต กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
นอกจากการมีส่วนร่วมของชุมชนแล้ว ปัจจัยที่สำคัญยังรวมถึงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาทิ ระบบคมนาคมที่สะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ การเข้ามาของรถไฟฟ้า และการชำระเงินผ่านระบบสแกนจ่าย ในการเดินทางไปย่านทรงวาดได้อย่างดี ทั้งนี้ คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว และกลายเป็น “จุดหมายปลายทางในเมือง” ที่ไม่ต้องเดินทางไกลถึงต่างจังหวัดก็สามารถสัมผัสบรรยากาศแปลกใหม่ได้ นอกจากนี้ กระแสบนโลกสังคมออนไลน์ผ่านการประชาสัมพันธ์ที่หลากหลายช่องทาง และคอนเทนต์ที่ถูกสร้างโดยอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง การรีวิวในรูปแบบต่าง ๆ ยิ่งสร้างแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวสนใจและอยากมาเยือน เพื่อตอบโจทย์รสนิยมของคนในปัจจุบัน
ทำไมค่าครองชีพในทรงวาดถึงแพงกว่าที่อื่น
จากพลวัตการเปลี่ยนผ่านของถนนทรงวาด ทำให้ถนนเส้นนี้กำลังเป็นเทรนด์ในกระแสสังคม เหมือนอย่างเช่นถนนบรรทัดทอง ส่งผลให้นายทุนต่างถิ่นเล็งเห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ จึงเข้ามาทำกิจการ แน่นอนว่าเมื่อสถานที่ดังกล่าวกำลังเป็นกระแส ค่าเช่าที่ก็พุ่งสูงขึ้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจนักว่าราคาทั้งภาคสินค้าและบริการจะแพงตามไปด้วย นอกจากนี้การสร้าง (Branding) ที่ผูกโยงกับวิถีชีวิต (Lifestyle) ของคนในชุมชน ซึ่งคนไทยในปัจจุบันให้ความสำคัญ การตกแต่งสถานที่ด้วยศิลปะ บวกกับรสนิยมที่คนหมู่มากมองว่าเป็นค่านิยมที่ทำแล้วจะได้รับการยอมรับในสังคม ผู้มาเยือนจึงยอมจ่ายเพื่อแลกกับ “ประสบการณ์” ตามอุดมคติ รวมถึงมองข้ามปัญหาด้านราคาที่สูงเกินมาตรฐานเพราะมองเพียงแค่ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่ซึ่งถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหลากหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค นักท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการท้องถิ่นเอง
เมื่อ “ความชิค” กลายเป็นภาระของคนทั่วไป
ตราบใดที่ค่าครองชีพในพื้นที่มีราคาสูงขึ้น คนในท้องถิ่นเริ่มรู้สึกว่า “กินไม่ได้” หรือ “ซื้อไม่ไหว” อันมีผลมาจากสินค้าและบริการที่ราคาไกลเกินจะเอื้อมถึง นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะคนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ค้าขายสินค้าเกษตร หากไม่ปรับตัวยากที่จะประกอบธุรกิจต่อไปได้ มากไปกว่านั้น ลูกค้ารูปแบบเดิมซึ่งเคยมาซื้อสินค้าประเภทเก่า ๆ อย่างเช่นสินค้าจากจีน ยารักษาโรค สมุนไพร และเครื่องเทศเพื่อนำไปบริโภคก็ลดลง และถูกแทนที่ด้วยลูกค้ารูปแบบใหม่ที่ต้องการเสพประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นการชมตึกอาคารเก่า งานศิลปะตามแกลเลอรี ดื่มกาแฟจากคาเฟเก๋ ๆ และทานอาหารหลากรสในถนนทรงวาด
แนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันกับถนนบรรทัดทอง
ถนนทรงวาดในปัจจุบันเริ่มแสดงสัญญาณบางอย่างคล้ายคลึงกับถนนบรรทัดทอง โดยเฉพาะเรื่อง “ราคาที่สูงกว่ามาตรฐาน” ไม่ว่าจะเป็นอาหาร คาเฟ หรือกิจกรรมในพื้นที่ แม้จะดึงดูดลูกค้ากลุ่มหนึ่งได้ดีในช่วงต้น แต่หากไม่มีการวางแผนรองรับฐานลูกค้าที่หลากหลายและยั่งยืน ก็อาจทำให้ย่านนี้เผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับบรรทัดทองในไม่ช้าที่เมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏการณ์ “กระแสซา” ก็ค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นในถนนบรรทัดทอง ร้านค้าเดิมบางแห่งปิดตัวลง เพราะฐานลูกค้าจริงอาจไม่มากเท่าที่หวังไว้ ราคาอาหารที่สูงเกินไปทำให้ลูกค้าขาจรไม่กลับมาใช้บริการซ้ำ สุดท้ายแล้ว เมื่อราคาสูงไม่สัมพันธ์กับความคุ้มค่า พื้นที่ก็เริ่มเงียบลง และกลายเป็นเพียง “กระแส” ที่ความนิยมลดลง
ในกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ว่า “ถนนทรงวาด” จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตหรือพื้นที่ธุรกิจที่น่าจับตามอง สิ่งสำคัญคือ การรักษาแก่นแท้ของย่านไว้ พร้อมกับออกแบบการเติบโตให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพราะสุดท้ายแล้ว พื้นที่ที่ดีควรเปิดกว้างสำหรับทุกคน ทั้งผู้มาเยือนและผู้ที่เรียกที่นี่ว่า “บ้าน” ซึ่งเป็นความพยายาม หรือเป้าหมายที่คนในชุมชนที่มีรายได้น้อย ผู้ค้าดั้งเดิม หรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ที่หวังจะเปิดร้านเล็ก ๆ ต้องร่วมมือกันผลักดันในการรักษาอัตลักษณ์ของย่านที่ควรเปิดกว้างสำหรับทุกคน ไม่ใช่เพียงคนบางกลุ่ม
การทำให้ย่านเก่าอย่างถนนทรงวาดอยู่รอดได้ในระยะยาว ยังจำเป็นต้องมองข้ามเพียงแค่กระแสชั่วคราว หรือพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือการตั้งราคาตามความนิยม ผู้ประกอบการในพื้นที่ควรคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความครีเอทีฟกับความเข้าถึงได้ การออกแบบบริการหรือสินค้าให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าหลายระดับ โดยเฉพาะในเรื่องของรายได้เป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการรักษาเอกลักษณ์และความมีชีวิตชีวาของชุมชนดั้งเดิม นอกจากนี้ภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่นเองควรมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลไม่ให้การพัฒนาย่านกลายเป็นการผลักผู้คนในพื้นที่ออกไปอย่างเงียบ ๆ มาตรการดูแลค่าเช่า การส่งเสริมธุรกิจรายย่อย และการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม คือเครื่องมือที่ควรได้รับการหยิบยกมาใช้ในบริบทนี้