ปัญหาจากอาชญากรออนไลน์ (scammers) จากต่างชาติ โดยเฉพาะในบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา สร้างความท้าทายด้านความมั่นคงทั้งในมิติเศรษฐกิจ ไซเบอร์ และความมั่นคงมนุษย์ ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ความเสียหายจากอาชญากรรมข้ามชาตินี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยมีผู้ถูกยักยอกทรัพย์สินด้วยการหลอกผ่านโทรศัพท์ หรือช่องทางออนไลน์ เป็นจำนวนมากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ Global Anti-Scam Alliance-GASA รายงานเมื่อปี 2567 ว่า ความเสียหายของการคุกคามของอาชญากรออนไลน์ หรือ scammers นั้นมีมูลค่าสูงถึง 1.03 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเรียงลำดับจากความเสียหายมากที่สุดคือ สหรัฐฯ 3,520 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว เดนมาร์ก 3,067 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว และสวิตเซอร์แลนด์ 2,980 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว และยังพบว่าการหลอกลวงด้วยโทรศัพท์นั้นมีมากที่สุดในไทย รัสเซีย และฮ่องกง
บทความนี้อยากจะชวนทำความเข้าใจและตีแผ่ภัยคุกคามจากจากอาชญากรออนไลน์ หรือ scammers ที่ส่งผลกระทบไม่ใช่เฉพาะแค่ไทย แต่ทั่วโลก กลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ หมายถึงกลุ่มอาชญากรข้ามชาติที่ปฏิบัติการการหลอกลวงผ่านช่องทางไซเบอร์ และโทรศัพท์ อยู่ในบริเวณชายแดนของประเทศไทย โดยเฉพาะกับประเทศเมียนมาและกัมพูชา
ที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินการการปราบปรามการปฏิบัติการของกลุ่มอาชญากรออนไลน์ หรือ scammers เช่น กลุ่ม บริษัท Yatai International Holding Group ที่ก่อตั้งโดยนาย She Zhijiang ส่งผลให้เกิดการปล่อยตัวเหยื่อกว่า 7,000 คน ในบริเวณชายแดน ไทย-เมียนมา ที่ถูกหลอกลวงมาทำงานให้กับอาชญากรออนไลน์ หรือ scammers โดยเหยื่อเหล่านี้เป็นพลเมืองของหลายประเทศกว่า 20 สัญชาติ จากหลากหลายภูมิภาค เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และแอฟริกา โดยกลุ่มชาวแอฟริกันนั้นตกเป็นกลุ่มเหยื่อที่ใหญ่ที่สุด
รายงานของสหประชาชาติเมื่อสิงหาคม ปี 2566 คาดการณ์ตัวเลขผู้ถูกหลอกลวงไปทำงานให้กับอาชญากรออนไลน์ หรือ scammers นั้น มีอยู่กว่าหลักแสนราย และ สถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Institute of Peace-USIP) รายงานเมื่อพฤษภาคม ปี 2567 มีพลเมืองกว่า 40 สัญชาติ หากรวมกับเหยื่อที่อยู่ในชายแดนไทย – กัมพูชา ด้วย
เหยื่อที่ถูกหลอกลวงมาทำงานให้กับอาชญากรออนไลน์ หรือ scammers นั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีการศึกษาดี จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ที่ดี เนื่องจากทักษะภาษาอังกฤษ เป็นประโยชน์ในการหลอกลวงกับเหยื่อในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เช่น สหรัฐฯ เป็นต้น กลุ่มที่ถูกหลอกไปทำงานให้กับอาชญากรออนไลน์ หรือ scammers จะถูกหลอกว่าจ้างเพื่อมาทำงานในไทย เช่น งานบริการลูกค้า หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น เนื่องจากได้รายได้ดี และเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยจะถูกลักพาตัวเพื่อส่งไปยังชายแดนไทย–เมียนมา เพื่อบังคับทำงานให้แก่กลุ่มอาชญากร ต่ออีกทอดหนึ่ง เพื่อถูกใช้เป็นคนยักยอกเงินผ่านช่องทางออนไลน์และโทรศัพท์
กลยุทธ์ที่อาชญากรออนไลน์ หรือ scammers ใช้ในการหลอกลวงมีหลายวิธี เช่น การใช้ Pig butchering scams คือ วิธีการหลอกลวงด้วยความรักและสร้างความสนิทสนมผ่านช่องทางออนไลน์ และหลอกให้ร่วมลงทุนหรือโอนทรัพย์สินให้ นอกจากนี้ ยังมีการออกอุบายผ่านการโทรศัพท์โดยการอ้างว่ามีพัสดุตกค้างหรือ หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ที่ถูกโทรหานั้นกระทำผิดกฎหมายและต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อโอนทรัพย์สินให้ หากผู้ที่ถูกหลอกลวงมาทำงานนั้นทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายหรือขัดขืน พวกเขาก็อาจถูกลงโทษและทรมานอย่างรุนแรง
อาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากอาชญากรออนไลน์ หรือ scammers นั้นกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศของไทย ที่ทำให้มีความเชื่อถือต่อความปลอดภัยน้อยลง ภายหลังการเกิดขึ้น กรณีนาย Wang Xing นักแสดงชาวจีน ที่ถูกหลอกลักพาตัวในไทย เมื่อมกราคม 2568 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 ลดลงร้อยละ 2.70 จาก 14.76 ล้านคน เหลือ 14.36 ล้านคน หากเทียบกับห้วงเดียวกันกับปี 2567
ความท้าทายจากอาชญากรออนไลน์ หรือ scammers มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะการขยายตัวของเทคโนโลยีเป็นโอกาสให้กลุ่มผู้ใช้งานเทคโนโลยีเติบโตมากขึ้น รวมทั้งมีเทคนิคและวิธีการในการหลอกลวงที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น การใช้ภาพปัญญาประดิษฐ์ในระหว่างโทรด้วยภาพและเสียงเพื่อหลอกลวงว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือการใช้โปรแกรมในการดัดแปลงเสียง หากไม่ดูให้ละเอียดถี่ถ้วนหรือเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีความเท่าทันด้านเทคโนโลยีก็อาจจะตกเป็นเหยื่อกับการหลอกลวงในรูปแบบนี้ได้
สถานการณ์ในเมียนมาก็เป็นปัจจัยให้อาชญากรออนไลน์ หรือ scammers ขยายตัว เช่น จากสภาวะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ส่งผลให้พื้นที่อำนาจรัฐและการบังคับใช้กฎหมายนั้นเข้าไม่ถึง พื้นที่ชายแดนจึงกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของกลุ่มอาชญากรในการสร้างเมืองเพื่อการหลอกลวงและค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ผู้เสียหายต่อการถูกหลอกยังไม่มีความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยีหรือรู้เท่าทันกลลวงของกลุ่มอาชญากรระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน
ไทยได้รับผลกระทบความมั่นคงจากกลุ่มอาชญากรออนไลน์ หรือ scammers โดยประเทศไทยถูกใช้เป็นพื้นที่ล่อลวงในการส่งคนไปทำงานผิดกฎหมายยังพื้นที่ชายแดนไทย–เมียนมา จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งในการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายการตรวจคนเข้าเมืองและนโยบายชายแดนเพื่อคัดกรองกลุ่มเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เหยื่อถูกส่งไปยังมือของอาชญากรได้ รวมไปถึงมาตราการการรองรับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้แก่เหยื่อ จากรายงานที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทยเรื่องการบริหารจัดการด้านความมั่นคงชายแดน (การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์) กรณีศึกษา จังหวัดตาก ระบุว่าสามารถรองรับการช่วยเหลือเหยื่อได้เพียงแค่หลักสิบถึงหลักร้อยคนเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากหากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้เสียหายกว่าหลักแสนรายที่ถูกส่งไปยังเมียนมาตามที่สหประชาชาติประเมินไว้
อีกทั้ง รายงานของ GASA เมื่อปี 2567 ระบุว่าวิธีการส่งเงินสู่อาชญากรออนไลน์ หรือ scammers ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตามลำดับคือ การโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร กระเป๋าเงินอิเลกทรอนิกส์ และบัตรเครดิต ดังนั้นการปราบปรามเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติและการช่วยเหลือเหยื่อเพื่อไม่ให้กลับไปเป็นเหยื่อซ้ำ อาจต้องเพิ่มกลไกกฎหมายเพื่อควบคุมการโอนทรัพย์สินไปสู่อาชญากรได้ เช่น ประเทศสิงคโปร์มีการบังคับใช้มาตราการที่เข้มข้นในการควบคุมด้วยการใช้กฎหมายในการอายัดบัญชีธนาคารที่อาจเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ได้ 30 วัน และสามารถขยายระยะเวลาได้ 5 ครั้ง เพื่อป้องกันความปลอดภัยและไม่ให้มิจฉาชีพหลอกลวง อย่างไรก็ดี คำสั่งอายัดบัญชีอาจยกเลิกได้หากตรวจสอบแล้วว่าบัญชีนั้นปลอดภัย นอกจากนี้ เจ้าของบัญชียังสามารถขออนุญาตเข้าถึงบัญชีของตนได้หากมีกรณีจำเป็นเร่งด่วน เช่น การชำระค่าบริการทั่วไป โดยจะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกครั้ง
สุดท้ายนี้ หากจะนำมาตรการกฎหมายที่เข้มข้นเช่นนี้มาบังคับใช้ในไทย จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักการเคารพสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิมนุษยชนให้สมดุล ตลอดจนเพิ่มความร่วมมือในระดับภูมิภาค และ NGOs ในการส่งเสริมความตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์และการใช้เทคโนโลยี โดยทำให้จริงจัง บรรจุลงเป็นหลักสูตรในสถานศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเป็นต้นไป ควบคู่กับการสร้างช่องทางเพิ่มองค์ความรู้ให้กับประชาชนเพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เพราะความรู้เหล่านี้ต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยตามเทคโนโลยี เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้มีการณรงค์แคมเปญ #ThaisAware เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการหลอกลวงทางออนไลน์ให้มากขึ้น