การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็วของประเทศไทย ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต การผลักดันนโยบาย Digital Government และการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานออนไลน์อย่างมหาศาล ในปี 2568 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 65.4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 91.2 ของประชากรทั้งหมด ได้นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ด้านความมั่นคงไซเบอร์ ระบบข้อมูลที่สำคัญจำนวนมากของภาครัฐและเอกชนถูกจัดเก็บและบริหารในรูปแบบดิจิทัล ทำให้กลายเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางไซเบอร์มากขึ้น
ข้อมูลจาก Kaspersky ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลกด้านความมั่นคงไซเบอร์ที่พัฒนาและจำหน่ายซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส, การจัดการรหัสผ่าน, ระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์ปลายทาง และโซลูชันเชิงองค์กรอื่น ๆ ครอบคลุมตั้งแต่ผู้ใช้ทั่วไปจนถึงภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่มีความเสี่ยงสูง ระบุว่า ไทยมีอัตราการโจมตีทางไซเบอร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงร้อยละ70 และพบภัยคุกคามบนเว็บมากกว่า 10 ล้านรายการในหนึ่งปี สะท้อนให้เห็นถึงระดับความรุนแรงที่โลกไซเบอร์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมรภูมิความมั่นคงอย่างแท้จริง
ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สำคัญมีหลากหลายรูปแบบ เช่น มัลแวร์ (Malware) เป็นหนึ่งในภัยหลักที่ออกแบบมาเพื่อขโมยหรือทำลายข้อมูล ประกอบด้วยไวรัส เวิร์ม โทรจัน และสปายแวร์ ซึ่งสามารถแพร่กระจายและเข้าควบคุมระบบโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว แรนซัมแวร์ (Ransomware) เป็นภัยคุกคามที่รุนแรง โดยมักใช้การโจมตีผ่านอีเมลหรือไฟล์แนบเพื่อเข้ารหัสข้อมูลเหยื่อและเรียกค่าไถ่ เช่นเดียวกับฟิชชิ่ง (Phishing) ซึ่งใช้การหลอกลวงผ่านเว็บไซต์หรืออีเมลปลอมเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การพัฒนาของภัยเหล่านี้ทำให้ผู้ใช้ทั่วไปและองค์กรต่าง ๆ ต้องตื่นตัวและวางมาตรการป้องกันอยู่เสมอ
การโจมตีทางไซเบอร์ไม่เพียงเกิดจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ยังมีมนุษย์เป็นช่องโหว่หลัก โดยเฉพาะการขาดความรู้และทักษะที่จำเป็น จากการทดลองการโจมตีแบบฟิชชิ่งในกลุ่มพนักงานหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานในไทย พบว่าร้อยละ 10.9 หลงเชื่ออีเมลปลอม และแม้มีการปรับกลยุทธ์ก็ยังสามารถหลอกผู้ใช้ได้ต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าการพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่เพียงพอ หากไม่เสริมสร้างความรู้ ความตระหนักรู้ และการฝึกอบรมแก่บุคลากรอย่างทั่วถึง
ตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญ เช่น การโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ในโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เมื่อกันยายน 2564 ส่งผลให้ข้อมูลผู้ป่วยกว่า 10,000 รายการรั่วไหล เป็นกรณีที่สะท้อนถึงความเปราะบางของระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในหน่วยงานสาธารณสุข ซึ่งมักพัฒนาแอปพลิเคชันด้วยตนเองและขาดการอัปเดตระบบ อย่างสม่ำเสมอ แม้เหตุการณ์นี้ไม่กระทบต่อการรักษาโดยตรง แต่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการบูรณาการมาตรการรักษาความมั่นคงไซเบอร์ในทุกระดับ โดยเฉพาะองค์กรที่ถือข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก
การรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์จำเป็นต้องดำเนินการในหลายระดับ เริ่มจากระดับบุคคลที่ควรส่งเสริม Digital Literacy และความรู้การรักษาความปลอดภัย เช่น การตั้งรหัสผ่านที่เข้มแข็ง การหลีกเลี่ยงลิงก์ต้องสงสัย และการอัปเดตระบบอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ภาครัฐควรดำเนินการอย่างรอบด้าน ทั้งการออกกฎหมาย การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย และการจัดตั้ง ศูนย์แจ้งเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์(Computer Emergency Response Team-CERT) ซึ่งในไทยมีทั้ง ThaiCERT ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติ (National Cyber Security Agency-NCSA) และ หน่วยงานเฉพาะด้านความมั่นคงไซเบอร์ (Digital Government Computer Emergency Response Team-DG‑CERT) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (Digital Government Development Agency-DGA) ที่พร้อมเฝ้าระวัง วิเคราะห์ และตอบสนองภัยไซเบอร์ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) เพื่อวิเคราะห์ภัยล่วงหน้าและเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรไทยให้สามารถตอบสนองภัยคุกคามได้อย่างทันท่วงที
ประเทศไทยได้ดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในด้านการแบ่งปันข้อมูลภัยไซเบอร์ การประสานงานด้านการสืบสวน และการจัดทำกรอบความร่วมมือระดับสากล เช่น การร่วมมือกับองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Police Organization-INTERPOL) ผ่านสำนักงานศูนย์กลางประสานงานระดับชาติ (National Central Bureau–NCB) ของไทยที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายสากลเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอาชญากรรมไซเบอร์ข้ามพรมแดน รวมถึงการที่ NCSA เข้าร่วมการพูดคุยใน International Expert Group on Cybercrime ของ INTERPOL เมื่อมิถุนายน 2568 เพื่อพัฒนาแนวทางกฎหมายสากลและกลยุทธ์ AI อย่างเข้มข้น นอกจากนี้ ThaiCERT ได้สร้างความร่วมมือกับเครือข่าย CERT ระดับภูมิภาคอย่าง Forum of Incident Response and Security Teams-FIRST และ Asia‑Pacific Computer Emergency Response Team-APCERT อย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดประชุมร่วม Sectoral CERT ในการปรับ roadmap และยกระดับการตอบสนองภัยไซเบอร์ให้เป็นมาตรฐานสากล
ภัยไซเบอร์ยังพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น AI, Deepfake และ Quantum Computing ที่มีศักยภาพในการปลอมแปลงภาพ เสียง หรือข้อความได้อย่างแนบเนียน กลายเป็นภัยที่โจมตีผ่านการหลอกลวงทางอีเมล การปลอมเสียงผู้บริหารเพื่อสั่งโอนเงิน หรือการสร้างข้อมูลปลอมที่บิดเบือนความจริงในระดับสังคมและการเมือง โดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้งหรือวิกฤตการณ์ระดับชาติ การวางแผนรับมือกับภัยจากเทคโนโลยีเหล่านี้จึงควรเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความมั่นคงดิจิทัลแห่งชาติ
อีกมิติที่มักถูกมองข้ามคือความเหลื่อมล้ำทางไซเบอร์ (Cybersecurity for All) ซึ่งมักถูกมองข้าม กลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ ผู้พิการ และประชาชนในชนบท มักขาดทักษะและโอกาสในการเข้าถึงความรู้ด้านไซเบอร์ ทำให้เป็นเป้าหมายง่ายของอาชญากรออนไลน์ เช่น งานวิจัยในภาคใต้ระบุว่า ผู้สูงอายุมากกว่า ร้อยละ 75 เคยตกเป็นเหยื่อฟิชชิ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มีผู้มีทักษะด้านไซเบอร์ไม่เพียงพอ ขณะที่ในภาพรวมมากกว่าครึ่งหนึ่งของคนไทย ยังขาดความรู้พื้นฐานด้านความมั่นคงไซเบอร์ เพื่อแก้ปัญหานี้ รัฐควรรวบรวมแนวทาง Cybersecurity for All ผ่านการพัฒนาคอนเทนต์ง่ายต่อการเข้าใจ จัดอบรมเชิงพื้นที่ในท้องถิ่น และทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม เช่น องค์กรผู้สูงอายุ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ องค์กรพัฒนาเอกชน (Non-Governmental Organization-NGO) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์ที่เข้มแข็งและครอบคลุมทุกกลุ่มประชาชน เช่น การตั้งเป้าหมายให้ใน 5 ปีก้าวหน้า ลดอัตราการตกเป็นเหยื่อไซเบอร์ในกลุ่มผู้สูงอายุลง ร้อยละ 50 ผ่านโครงการอบรมเบื้องต้นใน 1,000 ชุมชนชนบท และการใช้ศูนย์ดิจิทัลเคลื่อนที่เข้าไปในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น แนวทางเหล่านี้จะช่วยให้การรับมือภัยไซเบอร์ขยายออกจากแค่เมืองใหญ่
ในอนาคต ภัยคุกคามไซเบอร์ในไทยจะยิ่งซับซ้อนและมุ่งเป้าไปยังระบบสำคัญของรัฐ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน คมนาคม และสาธารณสุข ขณะเดียวกันปัญญาประดิษฐ์จะถูกนำมาใช้ทั้งในการโจมตีและป้องกัน ทำให้การพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์เชิงคาดการณ์มีความจำเป็นมากขึ้น พร้อมทั้งต้องเร่งสร้างกรอบกฎหมายที่ยืดหยุ่น ทันต่อเทคโนโลยี และกลไกการประสานงานในระดับสากล การสร้างระบบภูมิคุ้มกันดิจิทัลที่ครอบคลุมทั้งเทคโนโลยี นโยบาย และสังคม จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการเสริมสร้างความมั่นคงไซเบอร์ของประเทศไทยในระยะยาว