เมื่อกล่าวถึงผลไม้ที่มีเอกลักษณ์ทั้งกลิ่นและเนื้อสีทองที่ซ่อนอยู่ในเปลือกหนาม คงหนีไม่พ้น “ทุเรียน” ที่เป็นที่ชื่นชอบของคนไทยมายาวนานกว่า 300 ปี และได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องด้วยเนื้อและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ จนได้รับฉายาว่าเป็น“ราชาแห่งผลไม้” แม้จะผ่านมานานความนิยมของทุเรียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากย้อนไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ราคาทุเรียนอยู่ที่ 45 บาทต่อกิโลกรัม แต่ ณ ปัจจุบัน ในตลาดประเทศไทย ทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์มีราคาตั้งแต่ 160 – 250 บาทต่อกิโลกรัม และยังมีทุเรียนที่สามารถสร้างมูลค่าได้ถึงลูกละ 1,000 บาท เมื่อนั่นคือทุเรียนไทย พันธุ์พวงมณที่ถูกขายอยู่ในตลาดจีน ตลาดใหม่ของทุเรียนที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก 70%
ทุเรียนเป็นที่นิยมของชาวจีนเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี แต่ความนิยมนี้ถูกชะลอไว้ด้วยปัญหาด้านการขนส่ง การส่งทุเรียนเข้าจีนนั้นต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้ผู้ขายและเกษตรกรต้องเก็บลูกทุเรียนที่ยังไม่สุกเต็มที่ บ่มไปตลอดระยะเวลาในการขนส่งเพื่อให้สุกเมื่อถึงผู้ซื้อพอดี แต่การขนส่งนั้นต้องเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาการขนส่งที่ล่าช้าซึ่งทำให้ทุเรียนเน่าได้ จนได้เกิดการพัฒนาการส่งทุเรียนออกในรูปแบบของเนื้อทุเรียนแช่แข็ง แม้จะลดความเสี่ยงในการขนส่งและเก็บได้อย่างยาวยานขึ้น แต่เนื้อสัมผัสของทุเรียนที่ละลายจากการแช่แข็งนั้นขาดความอร่อย แตกต่างจากทุเรียนสดอย่างชัดเจน จึงถือว่าชาวจีนนั้นยังไม่สามารถสัมผัสกับความอร่อยของทุเรียนได้อย่างแท้จริง
ถึงอย่างไรก็ตาม ตลาดทุเรียนของชาวจีนยังคงเปิดรับทุเรียนจากประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2569 ราคาทุเรียนส่งออกได้จะถึงกิโลกรัมละ 400 บาท เพิ่มขึ้น 4 เท่าในปัจจุบัน ความต้องการทุเรียนจากไทยจะมีมากถึง 2.5 ล้านตัน และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 300,000 ล้านบาทต่อปี
แต่ในเมื่ออุปสรรคของการขนส่งยังไม่คลี่คลาย ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเป้าหมายในการบุกตลาดทุเรียนจีนไม่ต่างกัน จะทำให้ทุเรียนไทยครองตำแหน่งราชาแห่งผลไม้ส่งออกได้ตามเป้าที่คาดการณ์ไว้หรือไม่!?….. โดยในปัจจุบันทุเรียนไทยครองส่วนแบ่งทางการตลาดของทุเรียนอยู่ที่ 65% เป็นอันดับ 1 ตามด้วยเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ ตามลำดับ ไม่เพียงเท่านี้ยังมีทุเรียนในสวนของจีนที่จะเริ่มผลิดอกออกผลในปี 2567 แต่ไทยยังคงมีจุดแข็งในเรื่องรสชาติที่โดดเด่น ดังนั้น การควบคุมคุณภาพควบคู่ไปกับการเพิ่มปริมาณการผลิต จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการรักษาบัลลังก์ผลไม้ต่อไป
ท่ามกลางสงครามการช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ส่งผลให้ชาวสวนตัดสวนปาล์ม โค่นป่ายางหันมาปลูกทุเรียนกันอย่างแพร่หลาย โดยมีความคาดหวังว่าในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้า พวกเขาจะสามารถร่ำรวยจากการขายทุเรียนได้ และเพื่อการันตีว่า เกษตรกรจะสามารถสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล จึงต้องกำจัดความเสี่ยงจากโรคและแมลง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นกล้าทุเรียน 2-3 ต้นต่อ 1 หลุม เผื่อมีต้นใดต้นหนึ่งตายจะยังสามารถมีต้นทุเรียนอีกต้นที่ยังเจริญเติบโตต่อไปได้ รวมถึงการบำรุงรักษา ฆ่าหญ้า เร่งปุ๋ย ป้องกันแมลงด้วยสารเคมีต่างๆ ทำให้ผลผลิตทุเรียนมีสารเคมีเจือปน อีกทั้งในกระบวนการขนส่งทุเรียนยังต้องมีการป้ายยาและชุบสารเคมีเพื่อคงสภาพทุเรียนให้ไม่เน่า ไม่โดนแมลงเจาะบริเวณขั้ว และยังคงสีเขียวสดอยู่เสมอจนถึงมือผู้บริโภค
………วิธีการเหล่านี้จะทำให้มีสารเคมีตกค้างในทุเรียนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การกีดกันทางการค้า การเสียชื่อเสียงของทุเรียนสดจากไทย กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการส่งออกทุเรียนของไทย…จนอาจจะทำให้ทุเรียนไทยตกบัลลังก์ราชาผลไม้ก็ได้ในอนาคต!!
….แต่น่าจะยังไม่สายเกินไปที่จะเปลี่ยนรูปแบบการปลูกทุเรียนของไทย มาเป็นการปลูกโดยปราศจากสารพิษและสารเคมี สร้างมาตรฐานสวนทุเรียนอินทรีย์ให้กลายเป็นจุดแข็งของตลาด พัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะช่วยทำให้ผลไม้ชนิดนี้มีความทนต่อสภาพอากาศและแมลงศัตรูพืช ส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในสวนทุเรียน ไม่มีสารเคมีตกค้างอยู่ในดิน อากาศและแหล่งน้ำ มิฉะนั้น พื้นที่ปลูกทุเรียนที่สำคัญอย่าง จังหวัดจันทบุรี ชุมพร ระยอง ตราด จะกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสารเคมีอันตราย เสื่อมโทรม และไม่สามารถปลูกพืชชนิดใดได้อีก