การโจมตีเรือพาณิชย์ของกลุ่มกบฏฮูษีในทะเลแดงต่อเนื่องหลายสัปดาห์ตั้งแต่พฤศจิกายน 2566 และมีรายงานว่ามากกว่า 60 ครั้งแล้ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากทะเลแดงเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญระหว่างทวีปยุโรป แอฟริกาและเอเชีย ด้านเหนือติดต่อกับคลองสุเอซเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมีด้านใต้ติดมหาสมุทรอินเดียเชื่อมต่อสู่เอเชีย จึงเป็นเส้นทางยอดนิยมในการหลีกเลี่ยงเส้นทางแอฟริกาที่มีระยะทางไกลกว่า
…….สินค้าที่เดินทางผ่านเส้นทางนี้ มีทั้งน้ำมันและพลังงาน รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนเครื่องจักรและชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิต เช่น ผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ส่วนประกอบรถยนต์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า โดยเป็นสินค้ากว่า 12% ของการค้าโลกทั้งหมด และกว่า 30% ของตู้คอนเทนเนอร์ทั้งโลกต่างใช้เส้นทางนี้ในการขนส่ง
…….ซึ่งปรากฏว่าหลังเกิดการโจมตีทำให้การขนส่งสินค้าเส้นทางนี้ลดลงถึง 40%
กลุ่มกบฏฮูษีที่กระทำการในครั้งนี้อ้างว่าเป็นการตอบโต้การกระทำของอิสราเอลและสหรัฐฯต่อการโจมตีกลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซา โดยอ้างว่าโจมตีเรือที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอลเท่านั้น อย่างไรก็ดีบริษัทของเรือที่ถูกโจมตีหลายเจ้าออกมายืนยันว่าพวกเขาไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆกับอิสราเอล ทั้งนี้เรือที่ถูกโจมตีมีสัญชาติที่แตกต่างกันไป เช่น เรือสวอนแอตแลนติกของนอร์เวย์ เรือเอ็มเอสซีคลาราที่ติดธงปานามา เรือฮาแพค-ลอยด์ ของบริษัทขนส่งเยอรมนี เรือบรรทุกสินค้าลูอันดาและเรือบรรทุกน้ำมันมาร์ลินที่ติดธงไลบีเรีย เรือยิบรอลตาร์อีเกิลติดธงหมู่เกาะมาร์แชล เรือมอร์นิงไทด์ติดธงบาร์เบโดส เรือสตาร์นาเซียติดธงหมู่เกาะมาร์แชลล์ เรือสตาร์นาเซียของกรีซ เรือ Saibaba สัญชาติอินเดีย และยังมีเรืออีกมากที่กลุ่มฮูษีอ้างว่าเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรที่ถูกโจมตีในช่วงที่ผ่านมา
การโจมตีในทะเลแดงทำให้ในการขนส่งต้องเพิ่มค่าประกันความเสี่ยงเป็นจำนวนมาก จนบางบริษัทไม่สามารถรับได้ไหว จึงเป็นแรงกดดันให้การขนส่งบางส่วนต้องเปลี่ยนไปเป็นขนส่งโดยการเดินทางอ้อมแหลมกู้ดโฮป ซึ่งใช้เวลาและระยะทางมากกว่าถึง 75% ทำให้ต้องเพิ่มทั้งค่าใช้จ่ายของบริษัทขนส่ง เช่น ค่าน้ำมัน ค่าประกัน และยังเพิ่มระยะเวลาในการขนส่งนานกว่าเดิมมาก การโจมตีในครั้งนี้จึงส่งผลกระทบต่อการเดินเรือทั่วโลกอย่างมาก
หลังจากเกิดการโจมตีในบริเวณนี้ขึ้น สหรัฐฯได้ออกมาประกาศหาแนวร่วมนานาชาติที่เน้นด้านความมั่นคงในทะเลแดง ในภารกิจที่เรียกว่า ปฏิบัติการผู้พิทักษ์ความเจริญรุ่งเรือง หรือ Operation Prosperity Guardian มีเป้าหมายเพื่อปกป้องเส้นทางเดินเรือบริเวณพื้นที่ทะเลแดง ซึ่งเมื่อ 3 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มี 14 ชาติออกมาแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อเตือนให้กลุ่มฮูษีหยุดการโจมตีในทะเลแดง ได้แก่ ออสเตรเลีย บาห์เรน เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งในปัจจุบันได้มีการตอบโต้ ภายใต้การนำของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรโดยการโจมตีฐานทัพของฮูษีในเยเมนที่เป็นคลังอาวุธ รวมถึงการโจมตีโดรนหลายลำในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
….มีการประเมินว่าผลกระทบจากการโจมตีทำให้การนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในเส้นทางเอเชีย-ยุโรปได้รับความเสียหายไปแล้วเกือบ 7 หมื่นล้านยูโร จึงวิตกกันมากขึ้นว่าหากยังมีการโจมตีในทะเลแดงต่อไป นอกจากจะส่งผลให้สงครามในกาซายืดเยื้อและขยายวงออกไปแล้ว ยังทำให้บริษัทด้านการขนส่งอีกหลายบริษัทต้องตัดสินใจถอนเส้นทางการเดินเรือในทะเลแดง ทำให้เราอาจได้เห็นต้นทุนที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกราว 10 ถึง 15% ในระยะเวลาไม่กี่เดือน และผลกระทบดังกล่าวจะไม่ได้เกิดแค่กับบริษัทขนส่ง หรือบริษัทที่ใช้การขนส่งทางเรือขนสินค้าและวัตถุดิบซึ่งจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่บรรดาห้างร้างต่าง ๆ ก็จะได้รับผลกระทบจากการที่สินค้าใช้เวลานานขึ้นในการขนส่งหรือเกิดความล่าช้า รวมถึงผู้บริโภคก็จะต้องเจอกับราคาสินค้าที่แพงขึ้น หรือการลดขนาดของผลิตภัณฑ์ลง แต่ราคายังคงเท่าเดิมในภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งคงจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างแน่นอน